xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รัฐประหารครั้งที่ 13 ชี้อนาคตประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทหารเข้าเคลียร์พื้นที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ถนนอักษะ ภายหลังการยึดอำนาจ เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา นับเป็นการกระทำ “รัฐประหาร”ครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ นับแต่หลังการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์”มาเป็น “ประชาธิปไตย” เมื่อ 25 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา

เรียกได้ว่า การรัฐประหารทั้ง 12 ครั้งที่ผ่านมา ล้วนมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในกลุ่มผู้กุมอำนาจระดับบนของประเทศเป็นหลัก โดยในช่วง 10 ปีแรก หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น แรงผลักดันมาจากความขัดแย้งระหว่างตัวแทนของอำนาจในระบอบเก่า กับกลุ่ม“คณะราษฎร”ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เป็นอำนาจใหม่

รัฐประหารครั้งแรกในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ตัวแทนอำนาจเก่าที่ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตามข้อตกลงประนีประนอมในขณะนั้น ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อลดทอนอำนาจของกลุ่มคณะราษฎร

นั่นก็นำไปสู่การรัฐประหารครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร ทำการยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพลเอกพระยาพหลฯ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

หลังจากนั้นอำนาจเก่าค่อยๆ วางมือไปจากการเมือง และบางส่วนแปลงสภาพไปเป็นกลุ่มนักการเมืองอาชีพ อาทิ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช,นายควง อภัยวงศ์ ที่ตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นพรรคการเมืองแรกๆ ของประเทศไทย และต่อมาได้หันไปจับมือกับแกนำสายทหารในคณะราษฎร ที่นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีความขัดแย้งอย่างหนักกับแกนนำคณะราษฎรสายพลเรือนที่ทำโดยนายปรีดี พนมยงค์ จนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารครั้ง 3 เมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีที่มาจากคณะราษฎรสายนายปรีดี พนมยงค์ แล้วให้นายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่หลังจากนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังรัฐบาลนายควง เกิดความกลัวว่าจะมีการยึดอำนาจซ้อน จึงได้ทำการรัฐประหารครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2491 โดยคณะนายทหารกลุ่มที่ทำการยึดอำนาจเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 นั่นเอง โดยการจี้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ทำการรัฐประหารครั้งที่ 5 ของประเทศไทย ทั้งที่ตนเองยังเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นรัฐประหารครั้งแรกที่เรียกได้ว่า “รัฐประหารตัวเอง” ทั้งนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อ้างว่าไม่ได้รับความสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดิน เหตุสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ 2492 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น ไม่เอื้อให้เกิดอำนาจ คือให้ผู้ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นข้าราชการประจำไม่ได้ และอ้างถึงภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ โดยใช้กำลังทหารชุดเดียวกับการยึดอำนาจในปี 2490 ลงมือกระทำการยึดอำนาจ แล้วให้จอมพล ป.เป็นนายกฯ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้นำทหารได้นำไปสู่การรัฐประหารครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยอ้างสาเหตุว่ามีการทุจริตอย่างมโหฬารในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 เป็นเหตุให้ประชาชนไม่ยอมรับและมีการประท้วงเกิดขึ้นทั่วประเทศ หลังการยึดอำนาจจากจอมพล ป.แล้ว จอมพลสฤษดิ์ได้ให้จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้น 1 ปีเศษ คือวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ตามที่ตกลงกันไว้ เป็นการรัฐประหารครั้งที่ 7 แล้วจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง

ประเทศไทยว่างเว้นจากการรัฐประหารไป 10 กว่าปี จนวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 ก็เกิดการรัฐประหารครั้งที่ 8 ขึ้น จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง หลังจากการเลือกตั้งปี 2512 ผ่านไป และลูกพรรคจำนวนหนึ่งเรียกร้องตำแหน่งตอบแทน จนเกิดความวุ่นวายในสภาและคนเป็นนายกรัฐมนตรีไม่สามารถควบคุมได้

การรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม ทำให้การเมืองไทยพัฒนาการถอยหลัง จนนำไปสู่การลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และปูทางไปสู่การรัฐประหารครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”ที่ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ภายหลังจากเกิดการสังหารโหดนักศึกษาประชาชนบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี

นายธานินทร์เป็นนายกฯ ได้ 1 ปีเศษ ก็เกิดการรัฐประหารครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ คนเดิม ยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ให้พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่า รัฐบาลนายธานินทร์ได้วางแผนปฏิรูปประเทศไว้ 12 ปี ซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเห็นว่ายาวนานเกินไป ประกอบกับยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นทั่วประเทศ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ จึงต้องยึดอำนาจอีกครั้ง

อีก 14 ปี ต่อมาในยุคที่ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาประเทศเพื่อเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ภายใต้การนำของรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เกิดการทุจริตขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้ง ขณะที่ข้าราชการประจำถูกนักการเมืองครอบงำ ทำให้เกิดการรัฐประหารครั้งที่ 11 ขึ้น เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แล้วให้นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้น 15 ปี เมื่อกลุ่มประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนัดหมายชุมนุมขั้นแตกหักในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2549 คณะรัฐประหารที่ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ คปค.นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ทำการยึดอำนาจ ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 12 ของประเทศไทย โดย คปค.ได้ยกเหตุผลในการยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อาทิ การทุจริตคอร์รัปชั่น การสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน การดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง อย่างไรก็ตาม เหตุผลเบื้องหลังส่วนหนึ่งมาจากความกลัวของพล.อ.สนธิว่า ตนเองจะถูกปลดจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. และเป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการยึดอำนาจแล้ว คปค.ไม่ได้ดำเนินการเพื่อขจัด “ระบอบทักษิณ” อันเป็นต้นตอของปัญหาบ้านเมืองอย่างจริงจัง มิหนำซ้ำ หลังจากเกษียณอายุราชการ พล.อ.สนธิได้ตั้งพรรคการเมือง และลงสมัคร ส.ส.เข้าร่วมงานทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย นอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างไม่เคอะเขิน

เมื่อระบอบทักษิณอันเป็นต้อตอปัญหาของบ้านเมืองยังไม่ถุกขจัด จึงนำไปสู่การชุมนุมของประชาชนที่ต่อมาตั้งชืี่อเป็น “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ กปปส.โดยมีการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอยของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นตัวจุดชนวน

การชุมนุมยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 7 รัฐบาลหุ่0นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ยอมถอยจากอำนาจ แม้จะถูกศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระวินิจฉัยชี้มูลความผิดหลายเรื่อง และยังให้กลุ่มคนเสื้อแดงระดมมวลชนออกมาเผชิญหน้ากับ กปปส.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายมาเจรจากันเพื่อหาทางออกให้ประเทศ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้

ในที่สุด การรัฐประหารครั้งที่ 13 ก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ด้วยเหตุผลการยึดอำนาจว่า เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ให้ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย

หาก คสช.ทำได้ตามที่ประกาศ การรัฐประหารครั้งนี้ ก็น่าจะนำอนาคตใหม่มาสู่ประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น