ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีความขัดแย้งเกิดขึ้นหลายครั้ง ลักษณะของความขัดแย้งและแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งก็มีหลายรูปแบบ แต่แนวทางการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่เกิดขึ้นตอนเช้าตรู่วันที่ 20 พ.ค. 2557 เพื่อแสวงหาทางออกในการยุติความขัดแย้งต้องถือว่าเป็นครั้งแรก และเป็นนวัตกรรมทางการเมืองในสังคมไทย
ในอดีตความขัดแย้งทางการเมืองมักจะจำกัดแวดวงอยู่ภายในกลุ่มชนชั้นนำทางอำนาจ จากนั้นพัฒนามาสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นทหาร แลความขัดแย้งในยุคปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นนายทุนนักการเมือง
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง 2514 โดยอาจจำแนกเป็นสองช่วงเวลา ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง 2489 กลุ่มที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักคือกลุ่มขุนนางกับกลุ่มข้าราชการยุคใหม่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นมีความรุนแรงมาก และแก้ปัญหาโดยการใช้กำลังอาวุธตัดสินผลแพ้ชนะกัน กรณีที่มีการสู้รบอย่างรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเห็นจะเป็น กบฏบวรเดช ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476
ต่อมาใน พ.ศ. 2478 เกิด กบฏนายสิบ ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการวางแผนสังหารบุคคลสำคัญของฝ่ายรัฐบาลหลายคน แต่ฝ่ายรัฐบาลทราบข่าวเสียก่อน กลุ่มกบฏจึงถูกจับกุมและหัวหน้าฝ่ายขบถ ส.อ.สวัสดิ์ มหะมัด ถูกตัดสินประหารชีวิต จากนั้นใน พ.ศ. 2481 เกิด กบฏพระยาทรงสุรเดช มีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิต 21 คน แต่ได้รับการลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต 3 คน ส่วนอีก 18 คนถูกประหารจริง นักโทษประหารชีวิต ถูกทยอยนำตัวออกมาประหารด้วยการยิงเป้าวันละ 4 คน ในเวลาเช้ามืด ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม พ.ศ. 2482 จนครบจำนวน 18 คน
สำหรับความขัดแย้งในช่วงที่สอง เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฝักฝ่ายในกองทัพและตำรวจ โดยเริ่มจากการรัฐประหารที่นำโดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ ใน พ.ศ. 2490 ซึ่งฝ่ายทหารได้ก่อการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หลังจากนั้นความขัดแย้งก็เกิดขึ้นภายในกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นฝักฝ่ายภายในกองทัพและตำรวจ โดยมีสองกลุ่มหลักที่ขัดแย้งคือ กลุ่มทหารเรือซึ่งให้การสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ กับฝ่ายทหารบกกับตำรวจที่สนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม
เหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความขัดแย้งอย่างแตกหักคือ กรณี กบฏวังหลวง และ กบฏแมนฮัตตัน ซึ่งเกิดการสู้รบอย่างดุเดือดด้วยอาวุธสงครามนานาชนิดระหว่างฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล กับฝ่ายรัฐบาล ผลปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลอาศัยกำลังทหารและอาวุธที่เหนือกว่าเอาชนะผู้ก่อการได้ทั้งสองกรณีผลการต่อสู้ทำให้มีผู้สูญเสียชีวิต บาด เจ็บ และถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก ทั้งระหว่างมีเหตุการณ์ของการปะทะกัน และภายหลังเหตุการณ์ก็มีการตามล่าสังหารบุคคลที่ถูกสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการกบฏด้วย เช่น พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลและ พ.ต.โผน อินทรทัต ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบและอดีตเสรีไทย รวมทั้งการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 11 คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งเป็นนักการเมืองในสายของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
รัฐบาลในยุค 2490 ถึง 2500 เป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การบริหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีฝ่ายกองทัพบกที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ ฝ่ายตำรวจที่นำโดย พล ต. อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นกองกำลังหลักในการค้ำยันอำนาจของระบอบพิบูลสงครามเอาไว้ เมื่อฝ่ายระบอบพิบูลสงครามสามารถจำกัดปรปักษ์ทางการเมือง อันได้แก่ฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์และกองทัพเรือได้แล้ว ก็เกิดการชิงดีชิงเด่น และช่วงชิงอำนาจกันเอง และในที่สุดฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ ก็ประสบชัยชนะ โดยอาศัยการรัฐประหารยึดอำนาจจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พล. ต. อ. เผ่า ศรียานนท์ ใน พ.ศ. 2500 และให้บุคคลทั้งสองออกจากประเทศไทยจวบจนสิ้นอายุขัย
จอมพลสฤษดิ์ ได้สถาปนาระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ บริหารประเทศโดยใช้อำนาจเด็ดขาดที่เรียกกันว่า ระบอบสฤษดิ์ ขึ้นมา ภายใต้ระบอบนี้ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพของกลุ่มชนชั้นนำ ไม่มีกลุ่มฝักฝ่ายใดในกองทัพหรือตำรวจที่กล้าท้าทายอำนาจของระบอบสฤษดิ์ หลังจากจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้เป็นทายาททางอำนาจก็ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำของระบอบนี้ต่อไป ระบอบนี้ครองอำนาจในสังคมไทยยาวนานถึง 15 ปี
เมื่อความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายในกลุ่มชนชั้นนำสงบลงไป ความขัดแย้งทางการเมืองไทยก็เคลื่อนตัวไปอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มชนชั้นนำที่มีทหารเป็นผู้ปกครอง ฝ่ายที่เป็นปรปักษ์หลักกับฝ่ายรัฐมีสองกลุ่ม คือ กลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับกลุ่มนักศึกษาประชาชนชนชั้นกลางที่มีแนวคิดเสรีนิยม
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเลือกใช้แนวทางการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในการยึดอำนาจรัฐ มีมวลชนในชนบทเป็นฐานสำคัญ สงครามระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ดำเนินต่อเนื่องหลายปี หากนับอย่างสังเขปคือตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ถึง ประมาณ พ.ศ. 2525 เป็นการต่อสู้ที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของ พคท.
สำหรับนักศึกษาประชาชนก็ได้ดำเนินการต่อสู้กับระบอบสฤษดิ์ในยุคที่มีจอมพลถนอม เป็นผู้บริหารประเทศ โดยใช้การชุมนุมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสถาปนาระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งขึ้นมา การต่อสู้ได้พัฒนาการมาจนถึงขั้นแตกหักในช่วง ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐบาลถนอมดำเนินการปราบปรามนักศึกษาประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต พิการ และบากเจ็บจำนวนมาก แต่ในที่สุดความขัดแย้งก็จบลงด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รัฐบาลจอมพลถนอมได้ลาออก และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศ และเอื้ออำนวยให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาจนเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2517 รวมทั้งมีความพยายามในการปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยมีการจัดตั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมา
หลังชัยชนะของประชาชนต่อรัฐบาลถนอม การเลือกตั้งเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. 2518 ต่อมามีการยุบสภาและเลือกตั้งอีกครั้ง ในพ.ศ. 2519 ในช่วงนี้อำนาจทางการเมืองในสังคมไทยแตกกระจัดกระจายไม่มีความเป็นเอกภาพ และไม่มีกลุ่มใดสามารถสถาปนาขึ้นมาเป็นกลุ่มอำนาจนำในสังคมได้ และเป็นช่วงที่มีตัวละครใหม่ทางการเมืองเกิดขึ้นนั่นคือ กลุ่มทุน ทั้งทุนระดับชาติและอิทธิพลท้องถิ่น โดยกลุ่มทุนได้อาศัยกลไกการเลือกตั้งแทรกตัวเข้าไปอยู่ในวงจรอำนาจตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเริ่มสะสมและขยายอิทธิพลทางการเมืองอย่างช้าๆ
อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะที่มีความขัดแย้งเชิงอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆภายในสังคมมีสูง รวมทั้งมีการยกระดับการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทยจึงขับเคลื่อนให้มีการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สำหรับเหตุการณ์ก่อนการยึดอำนาจ ได้มีการปลุกระดมจนทำให้ผู้คนในสังคมไทยเกิดการเข่นฆ่ากันกลางเมือง กลุ่มที่เป็นเหยื่อของเหตุการณ์ในครั้งนั้นคือนักศึกษา ซึ่งถูกกระทำการฆาตกรรมเป็นจำนวนมากโดยกลุ่มมวลชนที่ถูกชนชั้นนำปลุกระดมออกมา
ฝ่ายทหารที่นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้เข้ายึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา แต่รัฐบาลก็อยู่ได้ไม่นานเพราะว่ามีนโยบายปราบปรามฝ่ายต่อต้านโดยเฉพาะผู้มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรงจนอาจนำไปสู่การกระทบต่อความมั่นคงของรัฐได้ ระหว่างนี้ภายในกองทัพเองก็ไม่มีความเป็นเอกภาพมีกลุ่มฝักฝ่ายเกิดขึ้น ในช่วงเดือนมีนาคม 2520 มีกลุ่มทหารที่นำโดย พลเอกฉลาด หิรัญศิริ พยายามยึดอำนาจจากรัฐบาล ระหว่างการยึดอำนาจมีการยิง พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 เสียชีวิต
อย่างไรก็ตามการยึดอำนาจประสบความล้มเหลว และพลเอกฉลาด ถูกตัดสินประหารชีวิตในเวลาต่อมา จากนั้นในเดือนตุลาคมทหารอีกกลุ่มที่นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ก็กระทำการรัฐประหาร และประสบความสำเร็จ กองทัพจึงส่งคนของตนเองเข้าบริหารประเทศ แต่กลับมีนโยบายบริหารประเทศแบบยืดหยุ่น แตกต่างจากรัฐบาลพลเรือนก่อนหน้านี้ จึงทำให้ความขัดแย้งทางสังคมเริ่มจะลดระดับความรุนแรงลงไปบ้าง
แต่ทว่าภายในกลุ่มทหารด้วยกันเองกลับมีการแตกเป็นฝักฝ่าย และฝ่ายที่ควบคุมกำลังพลมากที่สุดคือ กลุ่มยังเติร์ก ซึ่งมีแกนหลักคือ นายทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 7 (จปร. 7) กลุ่มนี้พยายามยึดอำนาจในวันที่ 1 เมษายน 2524 ช่วงแรกประสบความสำเร็จ แต่ยึดอำนาจได้เพียงสามวัน ก็ถูกตอบโต้จากกลุ่มทหารที่สนับสนุนรัฐบาลซึ่งมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลก็ประสบชัยชนะ ระหว่างการต่อสู้ของสองฝ่ายเป็นสงครามทางจิตวิทยาตอบโต้กันทางวิทยุและโทรทัศน์ มากกว่าการปะทะกันอย่างจริงจังด้วยกำลังอาวุธ จึงทำให้ไม่เกิดการสูญเสียชีวิตเหมือนกับการยึดอำนาจในอดีต
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฝักฝ่ายในกองทัพเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง รวมทั้งมีความพยายามในการยึดอำนาจ และการลอบสังหารหลายครั้ง แต่ฝ่ายก่อการก็ประสบความล้มเหลว รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกเปรม สามารถรักษาอำนาจไว้ได้อย่างยาวนานเป็นเวลา 8 ปี และในช่วงนี้ก็ได้มีการเลือกตั้งต่อเนื่องกันหลายครั้ง จนทำให้นักการเมืองประเภทนายทุนท้องถิ่นเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองออกไปเรื่อยๆ
และในที่สุดเมื่อพลเอกเปรม ประกาศวางมือทางการเมืองใน พ.ศ. 2531 กลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นและทุนระดับชาติก็ได้ครอบครองพื้นที่แห่งอำนาจทางการเมืองเกือบสมบูรณ์ ขณะที่ฝ่ายกองทัพก็เริ่มลดบทบาททางการเมืองลงไประดับหนึ่ง และเริ่มที่จะสร้างความเป็นเอกภาพภายในขึ้นมา โดยมีนายทหารกลุ่มจปร. รุ่น 5 ที่นำโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นแกนกลางแห่งอำนาจ
ทางด้านฝ่ายประชาชนก็ได้มีการพัฒนาแนวทางต่อสู้ทางการเมือง โดยในช่วงปี 2524 ถึง 2531 มีการถกเถียงกันในแวดวงปัญญาชนกันมากว่าจะสนับสนุนฝ่ายใดระหว่าง “ทุน” กับ “ปืน” แต่แนวโน้มทางความคิดในช่วงนั้นโน้มเอียงไปทางสนับสนุนฝ่าย “ทุน” โดยมีความเชื่อว่าฝ่ายทุนจะเป็นฝ่ายที่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมากกว่าฝ่ายปืน ดังนั้นเมื่อ พลเอกเปรม วางมือทางการเมือง ฝ่ายประชาชนก็เกิดความยินดีและด่วนสรุปว่า ชัยชนะของประชาธิปไตยกำลังจะเกิดขึ้น โดยหารู้ไม่ว่าฝ่าย “ทุน” ที่ตนเองสนับสนุนและเชื่อว่าจะเป็นผู้สร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น แท้จริงแล้วกลับกลายเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตยในภายหลัง
(ติดตามอ่านต่อฉบับหน้า)
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีความขัดแย้งเกิดขึ้นหลายครั้ง ลักษณะของความขัดแย้งและแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งก็มีหลายรูปแบบ แต่แนวทางการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่เกิดขึ้นตอนเช้าตรู่วันที่ 20 พ.ค. 2557 เพื่อแสวงหาทางออกในการยุติความขัดแย้งต้องถือว่าเป็นครั้งแรก และเป็นนวัตกรรมทางการเมืองในสังคมไทย
ในอดีตความขัดแย้งทางการเมืองมักจะจำกัดแวดวงอยู่ภายในกลุ่มชนชั้นนำทางอำนาจ จากนั้นพัฒนามาสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นทหาร แลความขัดแย้งในยุคปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นนายทุนนักการเมือง
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง 2514 โดยอาจจำแนกเป็นสองช่วงเวลา ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง 2489 กลุ่มที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักคือกลุ่มขุนนางกับกลุ่มข้าราชการยุคใหม่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นมีความรุนแรงมาก และแก้ปัญหาโดยการใช้กำลังอาวุธตัดสินผลแพ้ชนะกัน กรณีที่มีการสู้รบอย่างรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเห็นจะเป็น กบฏบวรเดช ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476
ต่อมาใน พ.ศ. 2478 เกิด กบฏนายสิบ ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการวางแผนสังหารบุคคลสำคัญของฝ่ายรัฐบาลหลายคน แต่ฝ่ายรัฐบาลทราบข่าวเสียก่อน กลุ่มกบฏจึงถูกจับกุมและหัวหน้าฝ่ายขบถ ส.อ.สวัสดิ์ มหะมัด ถูกตัดสินประหารชีวิต จากนั้นใน พ.ศ. 2481 เกิด กบฏพระยาทรงสุรเดช มีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิต 21 คน แต่ได้รับการลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต 3 คน ส่วนอีก 18 คนถูกประหารจริง นักโทษประหารชีวิต ถูกทยอยนำตัวออกมาประหารด้วยการยิงเป้าวันละ 4 คน ในเวลาเช้ามืด ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม พ.ศ. 2482 จนครบจำนวน 18 คน
สำหรับความขัดแย้งในช่วงที่สอง เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฝักฝ่ายในกองทัพและตำรวจ โดยเริ่มจากการรัฐประหารที่นำโดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ ใน พ.ศ. 2490 ซึ่งฝ่ายทหารได้ก่อการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หลังจากนั้นความขัดแย้งก็เกิดขึ้นภายในกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นฝักฝ่ายภายในกองทัพและตำรวจ โดยมีสองกลุ่มหลักที่ขัดแย้งคือ กลุ่มทหารเรือซึ่งให้การสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ กับฝ่ายทหารบกกับตำรวจที่สนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม
เหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความขัดแย้งอย่างแตกหักคือ กรณี กบฏวังหลวง และ กบฏแมนฮัตตัน ซึ่งเกิดการสู้รบอย่างดุเดือดด้วยอาวุธสงครามนานาชนิดระหว่างฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล กับฝ่ายรัฐบาล ผลปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลอาศัยกำลังทหารและอาวุธที่เหนือกว่าเอาชนะผู้ก่อการได้ทั้งสองกรณีผลการต่อสู้ทำให้มีผู้สูญเสียชีวิต บาด เจ็บ และถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก ทั้งระหว่างมีเหตุการณ์ของการปะทะกัน และภายหลังเหตุการณ์ก็มีการตามล่าสังหารบุคคลที่ถูกสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการกบฏด้วย เช่น พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลและ พ.ต.โผน อินทรทัต ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบและอดีตเสรีไทย รวมทั้งการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 11 คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งเป็นนักการเมืองในสายของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
รัฐบาลในยุค 2490 ถึง 2500 เป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การบริหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีฝ่ายกองทัพบกที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ ฝ่ายตำรวจที่นำโดย พล ต. อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นกองกำลังหลักในการค้ำยันอำนาจของระบอบพิบูลสงครามเอาไว้ เมื่อฝ่ายระบอบพิบูลสงครามสามารถจำกัดปรปักษ์ทางการเมือง อันได้แก่ฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์และกองทัพเรือได้แล้ว ก็เกิดการชิงดีชิงเด่น และช่วงชิงอำนาจกันเอง และในที่สุดฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ ก็ประสบชัยชนะ โดยอาศัยการรัฐประหารยึดอำนาจจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พล. ต. อ. เผ่า ศรียานนท์ ใน พ.ศ. 2500 และให้บุคคลทั้งสองออกจากประเทศไทยจวบจนสิ้นอายุขัย
จอมพลสฤษดิ์ ได้สถาปนาระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ บริหารประเทศโดยใช้อำนาจเด็ดขาดที่เรียกกันว่า ระบอบสฤษดิ์ ขึ้นมา ภายใต้ระบอบนี้ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพของกลุ่มชนชั้นนำ ไม่มีกลุ่มฝักฝ่ายใดในกองทัพหรือตำรวจที่กล้าท้าทายอำนาจของระบอบสฤษดิ์ หลังจากจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้เป็นทายาททางอำนาจก็ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำของระบอบนี้ต่อไป ระบอบนี้ครองอำนาจในสังคมไทยยาวนานถึง 15 ปี
เมื่อความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายในกลุ่มชนชั้นนำสงบลงไป ความขัดแย้งทางการเมืองไทยก็เคลื่อนตัวไปอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มชนชั้นนำที่มีทหารเป็นผู้ปกครอง ฝ่ายที่เป็นปรปักษ์หลักกับฝ่ายรัฐมีสองกลุ่ม คือ กลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับกลุ่มนักศึกษาประชาชนชนชั้นกลางที่มีแนวคิดเสรีนิยม
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเลือกใช้แนวทางการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในการยึดอำนาจรัฐ มีมวลชนในชนบทเป็นฐานสำคัญ สงครามระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ดำเนินต่อเนื่องหลายปี หากนับอย่างสังเขปคือตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ถึง ประมาณ พ.ศ. 2525 เป็นการต่อสู้ที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของ พคท.
สำหรับนักศึกษาประชาชนก็ได้ดำเนินการต่อสู้กับระบอบสฤษดิ์ในยุคที่มีจอมพลถนอม เป็นผู้บริหารประเทศ โดยใช้การชุมนุมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสถาปนาระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งขึ้นมา การต่อสู้ได้พัฒนาการมาจนถึงขั้นแตกหักในช่วง ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐบาลถนอมดำเนินการปราบปรามนักศึกษาประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต พิการ และบากเจ็บจำนวนมาก แต่ในที่สุดความขัดแย้งก็จบลงด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รัฐบาลจอมพลถนอมได้ลาออก และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศ และเอื้ออำนวยให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาจนเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2517 รวมทั้งมีความพยายามในการปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยมีการจัดตั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมา
หลังชัยชนะของประชาชนต่อรัฐบาลถนอม การเลือกตั้งเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. 2518 ต่อมามีการยุบสภาและเลือกตั้งอีกครั้ง ในพ.ศ. 2519 ในช่วงนี้อำนาจทางการเมืองในสังคมไทยแตกกระจัดกระจายไม่มีความเป็นเอกภาพ และไม่มีกลุ่มใดสามารถสถาปนาขึ้นมาเป็นกลุ่มอำนาจนำในสังคมได้ และเป็นช่วงที่มีตัวละครใหม่ทางการเมืองเกิดขึ้นนั่นคือ กลุ่มทุน ทั้งทุนระดับชาติและอิทธิพลท้องถิ่น โดยกลุ่มทุนได้อาศัยกลไกการเลือกตั้งแทรกตัวเข้าไปอยู่ในวงจรอำนาจตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเริ่มสะสมและขยายอิทธิพลทางการเมืองอย่างช้าๆ
อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะที่มีความขัดแย้งเชิงอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆภายในสังคมมีสูง รวมทั้งมีการยกระดับการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทยจึงขับเคลื่อนให้มีการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สำหรับเหตุการณ์ก่อนการยึดอำนาจ ได้มีการปลุกระดมจนทำให้ผู้คนในสังคมไทยเกิดการเข่นฆ่ากันกลางเมือง กลุ่มที่เป็นเหยื่อของเหตุการณ์ในครั้งนั้นคือนักศึกษา ซึ่งถูกกระทำการฆาตกรรมเป็นจำนวนมากโดยกลุ่มมวลชนที่ถูกชนชั้นนำปลุกระดมออกมา
ฝ่ายทหารที่นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้เข้ายึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา แต่รัฐบาลก็อยู่ได้ไม่นานเพราะว่ามีนโยบายปราบปรามฝ่ายต่อต้านโดยเฉพาะผู้มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรงจนอาจนำไปสู่การกระทบต่อความมั่นคงของรัฐได้ ระหว่างนี้ภายในกองทัพเองก็ไม่มีความเป็นเอกภาพมีกลุ่มฝักฝ่ายเกิดขึ้น ในช่วงเดือนมีนาคม 2520 มีกลุ่มทหารที่นำโดย พลเอกฉลาด หิรัญศิริ พยายามยึดอำนาจจากรัฐบาล ระหว่างการยึดอำนาจมีการยิง พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 เสียชีวิต
อย่างไรก็ตามการยึดอำนาจประสบความล้มเหลว และพลเอกฉลาด ถูกตัดสินประหารชีวิตในเวลาต่อมา จากนั้นในเดือนตุลาคมทหารอีกกลุ่มที่นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ก็กระทำการรัฐประหาร และประสบความสำเร็จ กองทัพจึงส่งคนของตนเองเข้าบริหารประเทศ แต่กลับมีนโยบายบริหารประเทศแบบยืดหยุ่น แตกต่างจากรัฐบาลพลเรือนก่อนหน้านี้ จึงทำให้ความขัดแย้งทางสังคมเริ่มจะลดระดับความรุนแรงลงไปบ้าง
แต่ทว่าภายในกลุ่มทหารด้วยกันเองกลับมีการแตกเป็นฝักฝ่าย และฝ่ายที่ควบคุมกำลังพลมากที่สุดคือ กลุ่มยังเติร์ก ซึ่งมีแกนหลักคือ นายทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 7 (จปร. 7) กลุ่มนี้พยายามยึดอำนาจในวันที่ 1 เมษายน 2524 ช่วงแรกประสบความสำเร็จ แต่ยึดอำนาจได้เพียงสามวัน ก็ถูกตอบโต้จากกลุ่มทหารที่สนับสนุนรัฐบาลซึ่งมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลก็ประสบชัยชนะ ระหว่างการต่อสู้ของสองฝ่ายเป็นสงครามทางจิตวิทยาตอบโต้กันทางวิทยุและโทรทัศน์ มากกว่าการปะทะกันอย่างจริงจังด้วยกำลังอาวุธ จึงทำให้ไม่เกิดการสูญเสียชีวิตเหมือนกับการยึดอำนาจในอดีต
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฝักฝ่ายในกองทัพเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง รวมทั้งมีความพยายามในการยึดอำนาจ และการลอบสังหารหลายครั้ง แต่ฝ่ายก่อการก็ประสบความล้มเหลว รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกเปรม สามารถรักษาอำนาจไว้ได้อย่างยาวนานเป็นเวลา 8 ปี และในช่วงนี้ก็ได้มีการเลือกตั้งต่อเนื่องกันหลายครั้ง จนทำให้นักการเมืองประเภทนายทุนท้องถิ่นเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองออกไปเรื่อยๆ
และในที่สุดเมื่อพลเอกเปรม ประกาศวางมือทางการเมืองใน พ.ศ. 2531 กลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นและทุนระดับชาติก็ได้ครอบครองพื้นที่แห่งอำนาจทางการเมืองเกือบสมบูรณ์ ขณะที่ฝ่ายกองทัพก็เริ่มลดบทบาททางการเมืองลงไประดับหนึ่ง และเริ่มที่จะสร้างความเป็นเอกภาพภายในขึ้นมา โดยมีนายทหารกลุ่มจปร. รุ่น 5 ที่นำโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นแกนกลางแห่งอำนาจ
ทางด้านฝ่ายประชาชนก็ได้มีการพัฒนาแนวทางต่อสู้ทางการเมือง โดยในช่วงปี 2524 ถึง 2531 มีการถกเถียงกันในแวดวงปัญญาชนกันมากว่าจะสนับสนุนฝ่ายใดระหว่าง “ทุน” กับ “ปืน” แต่แนวโน้มทางความคิดในช่วงนั้นโน้มเอียงไปทางสนับสนุนฝ่าย “ทุน” โดยมีความเชื่อว่าฝ่ายทุนจะเป็นฝ่ายที่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยมากกว่าฝ่ายปืน ดังนั้นเมื่อ พลเอกเปรม วางมือทางการเมือง ฝ่ายประชาชนก็เกิดความยินดีและด่วนสรุปว่า ชัยชนะของประชาธิปไตยกำลังจะเกิดขึ้น โดยหารู้ไม่ว่าฝ่าย “ทุน” ที่ตนเองสนับสนุนและเชื่อว่าจะเป็นผู้สร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น แท้จริงแล้วกลับกลายเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตยในภายหลัง
(ติดตามอ่านต่อฉบับหน้า)