xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “อักษะ” ถนนสวยสุดสยามหลัง 10 พ.ค.จะอุดมไปด้วยกองขยะมหาศาลฝีมือ “คนเสื้อแดง” อีกหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพถนนอุทยาน หรือที่นิยมเรียกในชื่อเดิมว่า ถนนอักษะ ก่อนที่จะมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.คนเสื้อแดงในวันที่ 10 พ.ค.ที่จะถึงนี้
นครปฐม...รายงาน

จับตา “ถนนอักษะ” ถนนสวยสุดสยาม จะสกปรกอุดมไปด้วยกองขยะมหาศาลทั้งขวดเหล้า และขวดเบียร์ฝีมือของกลุ่ม นปช.คนเสื้อแดงซ้ำรอยการชุมนุมเมื่อวันที่ 5 เม.ย.57 หรือไม่? หลังแกนนำนัดม็อบใหญ่อีกครั้ง 10 พ.ค.นี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นจิตสำนึกล้วนๆ ของแกนนำ นปช.ที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบ


“ถนนอุทยาน” หรือ “ถนนอักษะ” เป็นถนนที่จะมองเห็นความสวยงามได้หลายมุม เช่น หากมองออกมาจาก “พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” ในพุทธมณฑล จะเห็นถนนเป็นเส้นตรงชัดเจน โดยจะมองเห็นเสาไฟที่ประดับด้วยหงส์ไล่เรียงขนานไปจนสุดลูกหูลูกตา

หรือหากมาจากถนนพุทธมณฑล สาย 3 เบื้องหน้า ก็จะเห็นพระประธานในพุทธมณฑลได้อย่างสง่างาม โดยมีถนนอักษะเป็นแนวตรงทุ่งสู่พระประธาน หากเป็นยามเย็นจะมีแสงไฟนำสายไปทำให้เกิดความสวยงาม สงบ และอิ่มในศาสนา

เมื่อปี 2554 คราวที่ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ถนนอักษะ ก็ไม่พ้นที่จะต้องโดนมวลน้ำถาโถมเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยเช่นกัน ประชาชนที่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่งต่างก็ต้องรับสภาพไม่ต่างจากพี่น้องประชาชนที่ต้องเข้าสู่สภาวะจำยอมเช่นกัน ความเงียบเหงา และความเสียหายจึงได้มาเยือนถนนแห่งนี้เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกถึงความเจ็บปวดของถนนอักษะ ครั้งหนึ่ง

ต่อมา เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2557 กลุ่ม นปช.คนเสื้อแดง ได้มีการใช้ถนนอักษะ เป็นสถานที่ในการรวมตัวเพื่อแสดงออกถึงแนวคิดแนวปฏิบัติในด้านการเมืองมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งแม้จะเป็นการรวมพลเพียงแต่วันเดียวไม่มีการปักหลักค้างคืนก็ตาม แต่หลังการชุมนุมครั้งนั้นภาพที่ปรากฏในสื่อต่างๆ นั้น กลับเผยให้เห็นถึงความสกปรกอุดมไปด้วยกองขยะที่เกลื่อนกลาด ทั้งขวดเหล้า ขวดเบียร์ และถุงพลาดสติก ฯลฯ

จนทำให้ทัศนียภาพที่สวยงามทั้งสนามหญ้า ต้นไม้ ดอกไม้บนเกาะกลาง และริมทางถูกบดบังและทับถมไปด้วยขยะจำนวนมหาศาลด้วยฝีมือของกลุ่ม นปช.คนเสื้อแดง จนทำให้ความงามของถนนสายนี้หายไปในพริบตา

ในวันที่ 10 พ.ค.นี้กลุ่ม นปช.คนเสื้อแดง ได้นัดรวมตัวชุมนุมใหญ่กันอีกครั้ง ณ ที่ถนนอักษะแห่งนี้เหมือนเดิม จึงทำให้ผู้คนทั้งชาวจังหวัดนครปฐม นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปที่เคยไปเยี่ยมเยียนถนนสายนี้มาแล้ว หรือแม้แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบ้านจัดสรรบนแนวถนนสายดังกล่าวต่างก็ได้แสดงถึงความเป็นห่วงต่อการชุมนุมครั้งใหม่นี้ของกลุ่ม นปช.คนเสื้อแดงว่า ภาพเดิมคือ ความสกปรกจะกลับมาปรากฏให้เห็นอีกหรือไม่

เรื่องนี้จึงเป็นจิตสำนึกล้วนๆ ของแกนนำ นปช.คนเสื้อแดง และทีมงามที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบ และการวางแผนในการรักษาสถานที่อันสวยงาม และเป็นหน้าตาของคนจังหวัดนครปฐม และกรุงเทพมหานคร ให้เกิดความสวยงามดังเดิมได้เพียงใด

จะทำอย่างไรให้การแสดงออกทางการเมืองครั้งนี้ของกลุ่ม นปช.คนเสื้อแดงจะเป็นด้วยความสงบและร่วมกันรักษาความสะอาดสวยงามให้คงดังเดิมไว้มากที่สุด หรือจะสะกดใจสำหรับผู้ร่วมที่ชุมนุมเลือดร้อนว่าจะไม่ทำลายทรัพย์สินของชาติให้คงอยู่ในสภาพไม่เสียหาย หรือสูญหายไปดังที่เคยเห็นความเสียหายหลังจากที่ชุมนุมกันที่แยกราชประสงค์มาแล้ว

แม้แกนนำ นปช.คนเสื้อแดง จะบอกว่าจะมาชุมนุมด้วยความสงบไม่ต้องการปะทะกับฝ่ายตรงข้าม แต่เรื่องของการดูแลสถานที่ให้คงสภาพนั้นก็สำคัญไม่น้อย เรื่องนี้แม่ทัพใหญ่ อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.ว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อป้องกันข้อครหาว่า หาก นปช.คนเสื้อแดง ไปชุมนุมที่ใดมักสร้างความสกปรกเอาไว้เป็นสัญลักษณ์เสมอ นี่เป็นอีกเรื่องที่ผู้คนนั้นก็จับตาดูไม่แพ้วิถีทางทางการเมืองเช่นกัน

ย้อนดู “ถนนอุทยาน” หรือ “ถนนอักษะ”

สำหรับ “ถนนอุทยาน” หรือที่นิยมเรียกในชื่อเดิมว่า “ถนนอักษะ” เป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย 3 ในเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ถึงถนนพุทธมณฑลสาย 4 ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีระยะทาง 3.98 กิโลเมตร ความกว้าง 90 เมตร พร้อมด้วยทัศนียภาพที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ เสาโคมไฟรูปหงส์เรียงราง 2 ข้างทาง ที่มากถึง 979 ต้น และคูน้ำคั่นกลางความกว้าง 30 เมตร ที่มีน้ำพุเล่นระดับ 3 แห่ง จนได้ชื่อว่าเป็นถนนที่สวยที่สุดในประเทศไทย

ถนนอุทยาน หรือเดิมชื่อ ถนนอักษะ เป็นถนนที่สร้างมุ่งไปพุทธมณฑล ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ.2498 สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (พ.ศ.2500) โดยเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินของราษฎรเพื่อสร้างถนนตั้งแต่ พ.ศ.2494 แต่การก่อสร้างพุทธมณฑล และถนนอักษะได้หยุดชะงักไปเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจใน พ.ศ.2500

ต่อมา ในสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เริ่มรื้อฟื้นโครการพุทธมณฑลขึ้นเนื่องจากใกล้การเฉลิมฉลองโอกาสที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปีใน พ.ศ.2525 และเสร็จสมบูรณ์ในสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนถนนอักษะ ได้รับอนุมัติให้ลงมือก่อสร้างในสมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โครงการก่อสร้างถนนอักษะ เป็นโครงการหนึ่งที่กรุงเทพมหานคร ดำเนินการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใน พ.ศ.2539 เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสง่างามแก่พุทธมณฑล ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ และอำนวยความสะดวกในพระราชพิธีที่พุทธมณฑล ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 1,068,987,571 บาท (ถือเป็นถนนที่ใช้งบประมาณในการสร้างสูงที่สุดในประเทศไทยด้วย และเสร็จสมบูรณ์เปิดให้ประชาชนใช้ได้ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542

สำหรับชื่อถนนอักษะ ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า “Axis” แปลว่า “แกนกลาง” นั้นเป็นคำที่ใช้เรียกหมายถึงประเทศฝ่ายอักษะ คือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งทำสงครามกับฝ่ายพันธมิตร คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และรัฐบาลในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ เมื่อสร้างถนนเสร็จแล้ว กรุงเทพมหานคร ได้ประสานงานกับกรมศิลปากรในเรื่องชื่อถนนอักษะ ซึ่งกรมศิลปากรได้แนะนำให้ใช้ชื่อว่า ถนนอักษะ ซึ่งแปลว่าแกนกลาง เนื่องจากเป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย 3 กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 ต่อมา กรุงเทพมหานครได้ประสานงานกับกรมศิลปากรเพื่อขอพระราชทานชื่อถนนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนว่า “ถนนอุทยาน” ซึ่งเป็นชื่อที่สัมพันธ์กับพุทธมณฑล

ในปัจจุบัน ในเทศกาลสงกรานต์ ถนนอุทยานนิยมใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมสงกรานต์ และเล่นสาดน้ำ เช่นเดียวกับถนนข้าวสารในเขตพระนคร

กลุ่ม นปช.คนเสื้อแดงได้มีการเตรียมความพร้อมในการชุมนุมที่จะขึ้นในวันที่ 10 พ.ค.นี้

สภาพถนนอักษะ ภายหลังการชุมนุมของกลุ่ม นปช.คนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 5 เม.ย.57 ที่อุดมไปด้วยกองขยะ ทั้งขวดเหล้า ขวดเบียร์ และถุงพลาดสติก ฯลฯ



กำลังโหลดความคิดเห็น