xs
xsm
sm
md
lg

ชมว่าว เที่ยวรอบ “สนามหลวง” ร่วมรำลึกวันจักรี ที่ “ปราสาทพระเทพบิดร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรยากาศยามเย็นที่ “ท้องสนามหลวง”
เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน ฉันมักนึกถึงว่าวที่ล่องลอยอยู่บนฟ้า เต็มท้องสนามหลวง แม้ภาพบรรยากาศนั้นจะไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยนักในปัจจุบัน ในครั้งนี้ฉันจึงตัดสินใจจะไปเที่ยวที่สนามหลวง เผื่อมีโอกาสจะได้เห็นภาพบรรยากาศเก่าอีกสักครั้ง และจะไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบอีกด้วย อีกทั้งในวันที่ 6 เมษายนนี้ ยังเป็น “วันจักรี” ฉันก็เลยจะเข้าไปเที่ยวชมภายใน พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว เพื่อชมความงดงามและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

ฉันเริ่มต้นการมาเที่ยวครั้งนี้ที่ “สนามหลวง” เมื่อฉันได้มาถึงที่สนามหลวงแล้ว สิ่งที่ได้เห็นสิ่งแรกคือสนามหญ้าอันกว้างใหญ่มองเเล้วสบายตา เเละฉันก็ได้ศึกษาประวัติที่เเห่งนี้มาด้วยซึ่งกล่าวว่า
นักท่องเที่ยวมักมาเล่นว่าวและนั่งผักผ่อน ในช่วงยามเย็น
สนามหลวงแห่งนี้ ได้มีการสร้างขึ้นมา ตั้งแต่ช่วงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อให้คล้ายกับสนามหน้าจักรวรรดิในพระนครศรีอยุธยา เเละใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยมีชื่อดั้งเดิมว่า “ทุ่งพระเมรุ” ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “ท้องสนามหลวง” ในปี พ.ศ. 2398 และในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการขยายพื้นที่ท้องสนามหลวงและตกแต่งเป็นรูปไข่ อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นมะขามไว้โดยรอบท้องสนามหลวง ซึ่งในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่จะเรียกสั้นๆ กันว่า “สนามหลวง”
ทัศนียภาพอีกด้านของ “ท้องสนามหลวง”
อีกทั้งในปัจจุบัน ก็ได้มีการใช้พื้นที่สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ และกิจกรรมในช่วงวันสำคัญ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ,กิจกรรมวันวิสาขะบูชา เเละกิจกรรมวันสงกรานต์ ที่จะมีการจัดกิจกรรมสรงน้ำพระและทำบุญตักบาตร เป็นต้น อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาสนามหลวง ยังได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ขึ้นใหม่ จึงทำให้เป็นที่นิยมของผู้คนที่มักจะมาใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและเดินเล่น ซึ่งจะคึกคักเป็นอย่างมากในช่วงเย็น

และอีกหนึ่งสีสันในหน้าร้อนของสนามหลวงก็คือ การเล่นว่าวแม้ในปัจจุบันจะมีการออกกฎหมายห้ามเล่นว่าวที่สนามหลวง แต่ผู้คนส่วนมากก็ยังนิยมมาเล่นว่าวตามปกติ ซึ่งฉันเห็นว่าการเล่นว่าวนั้นเป็นกิจกรรมที่สร้างสีสัน ที่ไม่ควรจางหายไปจากท้องสามหลวงเลย
ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ภายใน “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร”
พื้นที่รอบๆ สนามหลวงนั้น เป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่มากมายเมื่อได้มาทั้งที ฉันจึงไม่พลาดที่จะไปเยี่ยมชม และสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งยังไม่ไกลกันมากสามารถที่จะเดินไปได้
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ฉันเริ่มต้นที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร” เป็นที่จัดแสดงนิทรรศบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตให้ได้ชม ซึ่งทำให้ชั้นชั้นได้รับความรู้ในเรื่องราวประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจัดแสดงงานศิลปะ วัตถุโบราณให้ได้ชม ซึ่งบางชิ้นนั้นงดงามและล้ำค่าอย่างมาก
“พระพุทธสิหิงค์” และภาพจิตกรรมฝาผนังภายใน “พระที่นั่งพุทไธสวรรย์”
พื้นที่บริเวณภายในนั้นกว้างใหญ่ จุดเด่นของพิพิภัณฑ์แห่งนี้คือ ส่วนจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ จะตั้งอยู่ในพระที่นั่งต่างๆ ซึ่งเป็นโบราณสภานสำคัญ เพราะเมื่อครั้งอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ "พระราชวังบวรสถานมงคล" อีกทั้งแต่ละพระที่นั่งนั้นยังมีงานสถาปัตยกรรมไทยที่งดงามให้ได้ชมอีกด้วย อาทิ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพระที่นั่งได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ให้ผู้มาเยือนได้สักการะ และมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามอย่างมากให้ได้ชม และยังมีโบราณสถานต่างๆ ให้ได้ชมอีก เช่น พระตำหนักแดง ที่ประทับ ของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี , ศาลาสำราญมุขมาตย์, พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งแต่ละที่นั้น งดงามเกินบรรยายจริงๆ
พระบรมรูปจำลอง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท”
หลังจากเที่ยวที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เสร็จแล้ว จุดหมายต่อไปของฉันคือวัดพระแก้ว แต่ก่อนที่จะเดินไปถึงวัดพระแก้วนั้น ฉันก็แวะสักการะ “พระบรมรูปจำลอง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท” โดยพระองค์ทรงเป็นพระราชภาตาร่วมพระราชชนกชนนี กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งได้อุทิศพระองค์เสด็จไปในการศึกสงครามกอบกู้เอกราช และป้องกันพระราชอาณาจักร ตลอดพระชนมชีพ เราจึงควรสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้ประเทศไทยของเราเป็นปึกแผ่นจนถึงวันนี้
ทัศนียภาพภายใน “วัดพระแก้ว”
ฉันเดินต่อมาสักพักก็จะเห็นแนวกำแพงสีขาว ซึ่งภายในนั้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไปที่จะเข้าไปเยือน ซึ่งภายในนั้นเป็นที่ตั้งของ “วัดพระแก้ว” หรือ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” “พระบรมมหาราชวัง”
“พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต”
สถานที่แรกที่ฉันจะไปชมนั้น คือ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” โดยเป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ รัชกาลที่1 ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 ให้เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา ภายในบริเวณวัดนั้นงดงามเป็นอย่างมาก ศิลปะและสถาปัตยกรรม ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” พุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย และยังมี “ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์” ให้ได้ชม โดยได้วาดไว้บริเวณระเบียงคดรอบพระอุโบสถ ซึ่งนับได้ว่าสวยงามอย่างมาก
“ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์” บริเวณระเบียงคด
อีกทั้งในบริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของอาคารและปราสาทสำคัญ อาทิ พระศรีรัตนเจดีย์, พระมณฑป และปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งที่ “ปราสาทพระเทพบิดร” แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ พระบรมรูปพระบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะในวันจักรีเท่านั้น
“ปราสาทพระเทพบิดร”
ซึ่ง ”วันจักรี” นั้น จะตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี โดยเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของไทย ในปี พ.ศ. 2325 และด้วยด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้คนเนืองแน่น เพื่อสักการะ “พระบรมรูปพระบูรพกษัตริย์”
และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานไว้ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ย้ายพระบรมรูปมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 และได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายน ในปี พ.ศ.2461 และโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนของทุกปีว่า “วันจักรี”
“พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” งดงามตระการตา
หลังจากชมความงามของสถาปัตยกรรมภายในวัดพระแก้วกันแล้ว จุดต่อไปที่ฉันจะไปชมนั้น ก็งดงามไม่แพ้กัน ซึ่งนั้นก็คือ “พระบรมมหาราชวัง” แต่ที่ฉันได้ชมนั้นคือ บริเวณส่วนเขตพระราชฐานชั้นกลาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ หมู่พระมหามณเฑียร , หมู่พระมหาปราสาท , พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยถูกสร้างขึ้นด้วยการผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมยุโรป ซึ่งสวยงามตระการตาเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นไฮไลท์เด่นที่ไม่ว่านักท่องเที่ยวไทยหรือต่างชาติ ก็ต้องมายืนชมและตกตะลึงในความสวยงามของพระที่นั่งแห่งนี้ และไม่ทำให้ฉันผิดหวังจริงๆ เมื่อได้เข้ามาชม
หลักเมืองเดิมและหลักเมืองใหม่ “ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร”
หลังจากเต็มอิ่มกับความงดงามตระการตากันแล้ว ฉันก็ขอปิดท้ายการเที่ยวครั้งนี้ ด้วยการมาสัการะ “ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร” ศาลหลักเมืองแห่งนี้ เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ ซึ่งปัจจุบันภายในอาคารศาลหลักเมือง ได้ประดิษฐานหลักเมืองเดิมและหลักเมืองใหม่
ผูกผ้าสามสี ที่หลักเมืองจำลอง
โดยเสาต้นเดิมนั้น ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นแก่นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่ชำรุด โดยเป็นแกนไม้สักประกับนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ซึ่งสถานที่แห่งนี้ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่คับคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย ที่เดินทางมาสักการะและผูกผ้าสามสีที่หลักเมืองจำลองเพื่อขอความเป็นสิริมงคล

การมาเที่ยวของฉันในครั้งนี้ นับได้ว่าได้อะไรหลายอย่างจริงๆ เพราะฉันได้ทั้งความรู้ในเรื่องราวประวัติศาสตร์ ได้ชมงานศิลปะและสถาปัตยกรรมที่งดงาม อีกทั้งยังได้ร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระราชวงศ์จักรี ซึ่งเป็นความประทับใจอย่างมาก ในการมาลุยเมืองกรุงในครั้งนี้

************************************************************************************************************************

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และ พระบรมมหาราชวัง : เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 - 15.30 ไม่เสียค่าเข้าชม สำหรับชาวไทย นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เสียค่าเข้าชม 200 บาท

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 05.30 – 19.30 น.

**********************************************************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น