• กรมศิลป์ฯ เปิดสักการะ 9 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้นำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นโบราณวัตถุอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จำนวน 9 องค์ มาจัดแสดงนิทรรศการ “พุทธประติมา : สัญลักษณ์แห่งความเชื่อ ความศรัทธา ในสังคมกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลไท” โดยจะเปิดให้ประชาชนสักการะ ที่บริเวณโถงกลาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก อ.คลองห้า จ.ปทุมธานี วันที่ 11 มี.ค.-15 เม.ย. นี้ เวลา 09.00-16.00 น.
ส่วนความเชื่อในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 9 องค์นี้ มีความหลากหลายทั้งทางด้านโชคลาภ ช่วยขจัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยให้พ้นทุกข์พ้นภัย ที่สำคัญเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้สักการะ สำหรับพระพุทธรูปที่นำมาจัดแสดง ประกอบด้วย 1. พระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืน ไม้ ลงรักปิดทอง ศิลปะพื้นถิ่นไทลาว พุทธศตวรรษที่ 23 ความสูงรวมฐาน 159 ซม. 2. พระพุทธรูปประทับยืน ปางห้ามสมุทร ไม้ ปิดทอง ศิลปะพื้นถิ่น พุทธศตวรรษที่ 25 สูง 90 ซม. 3. พระพุทธรูปประทับยืน ปางห้ามสมุทร ไม้ ปิดทอง ศิลปะพื้นถิ่น พุทธศตวรรษที่ 24-25 สูง 89 ซม. 4. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ไม้ ปิดทอง ศิลปะพื้นถิ่นภาคเหนือ พุทธศตวรรษที่ 25 หน้าตักกว้าง 33 ซม. ความสูงรวมฐาน 80.5 ซม.
5. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ไม้ ปิดทอง ศิลปะพื้นถิ่นภาคเหนือ พุทธศตวรรษที่ 24-25 หน้าตักกว้าง 26 ซม. ความสูงรวมฐาน 91 ซม. 6. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ไม้ ปิดทอง ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 25-26 หน้าตักกว้าง 25.5 ซม. ความสูงรวมฐาน 74.4 ซม. 7. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ไม้ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24-25 ความสูงรวมฐาน 89 ซม. 8. พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ไม้ ปิดทอง ประดับกระจก หินอ่อน ศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 23 สูง 38 ซม. หน้าตักกว้าง 31 ซม. 9. พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ไม้ ปิดทอง ประดับกระจก หินอ่อน ศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 23 หน้าตักกว้าง 51 ซม. ความสูงรวมฐาน 78.3 ซม.
• วธ.ทุ่ม 55 ล้าน จัดงานครบรอบสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 232 ปี
นายปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการจัดงานครบรอบวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 232 ปี ในวันที่ 21 เมษายน 2557 ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน เตรียมพร้อมจัดงานระหว่างวันที่ 19 - 21 เมษายน 2557 ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยใช้งบประมาณกว่า 55 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมรำลึกถึงวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีฝังเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร และทรงสถาปนาเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย
สำหรับการจัดงานในปีนี้เน้นให้เยาวชน รวมถึงประชาชน ได้เรียนรู้ความเป็นมาของประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย การบวงสรวงสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และศาลหลักเมือง การจัดสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ 9 รัชกาล การจัดเส้นทางท่องเที่ยว วัด-เวียง-วัง ไหว้พระ 9 วัดประจำรัชกาล จัดเทศนามหาชาติทางเรือ ที่สำคัญยังมีการประกวดสาวงามรัตนโกสินทร์ ผู้ที่พร้อมด้วยคุณธรรม วัฒนธรรม มารยาท ซึ่งจัดเป็นปีแรก
• มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จัดงานวัดลอยฟ้า ญาณสังวร 101
มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ วัดบวรนิเวศวิหาร และองค์กรภาคีต่างๆ ร่วมจัดงาน "งานวัดลอยฟ้า ญาณสังวร 101” ในชื่อ “จิตตนคร The Hidden Capital" ระหว่างวันที่ 3-7 เมษายน 57 ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ กล่าวถึงที่มาของการจัดงานว่า เพื่อน้อมสักการะสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ด้วยการจำลองจิตตนคร พระนิพนธ์ในสมเด็จพระสังฆราช ออกมาในรูปแบบมหกรรมและนิทรรศการทางธรรมครั้งสำคัญ เพื่อการเรียนรู้ เข้าใจและน้อมนำไปใช้กับการพัฒนาชีวิตตัวเองให้เป็นผู้มีความสุข สงบ เย็น
โดยภานในงานจะจัดนิทรรศการที่เน้นการขับเคลื่อนทั้งทางธรรมและสังคม ซึ่งเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงพระธรรมได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสนุกกับการเรียนรู้ธรรมะ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงหุ่นสาย ละครเวที และการแสดงดนตรีด้วย
ภายใน “งานวัดลอยฟ้า ญาณสังวร 101 จิตตนคร” มีนิทรรศการ 2 ชุด สำคัญคือ ญาณสังวรเถรธรรม คือเถรธรรม 10 ซึ่งหมายถึงคุณธรรมของพระเถระที่ควรแก่การรับรู้ และจิตตนคร ที่นำพระนิพนธ์มาจำลองเป็น 5 ฉากสำคัญ คือ ไตรภูมิโลก จิตตนิทัศน์ กองทัพมรรค โรงแสดงธรรม และห้องบริหารจิต รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และบริหารจิตหลายรูปแบบทั้ง การบรรยาย เสวนา อภิปราย สวดมนต์ จิตตภาวนา ดนตรี ละคร คอนเสิร์ต และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย
ขณะที่ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) วัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวถึงความน่าสนใจของจิตตนครว่า เป็นการอธิบายธรรมชาติของจิต ซึ่งใช้จิตตนครเป็นตัวสื่อออกมาให้รู้ว่า เรื่องธรรมะไม่ใช่อยู่แค่ในวัดหรือหนังสือ คัมภีร์ หรือพระที่ห้อยคอ แต่ต้องอยู่ในจิตใจของทุกคน
ผลงานของสมเด็จพระสังฆราชมีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปริยัติ ปฏิบัติ การถ่ายทอด การสงเคราะห์ ดังนั้น การจะรำลึกถึงพระองค์คงไม่มีอะไรดีกว่าการระลึกถึงคำสอนที่ทรงฝากไว้
• ไฮไลต์สงกรานต์ขอนแก่น สินไซตบประทายโลก ประติมากรรมทรายนิยายพื้นบ้าน
นายธวัชชัย รื่นรมย์สิริ รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า การจัดงานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสาน ประจำปี 2557 ที่จังหวัดขอนแก่นในปีนี้ ได้นำประติมากรรมสินไซตบประทาย(ก่อพระทราย ก่อเจดีย์ทราย) โลก ซึ่งนำเอาฉากในวรรณกรรมสินไซ วรรณกรรมพื้นบ้านขอนแก่น ที่บอกเล่าถึงความกล้าหาญ และสามัคคีของพี่น้องทั้งสาม มานำเสนอในรูปแบบประติมากรรมขนาดยักษ์ที่ใช้ทรายเป็นสื่อ เป็นการต่อยอดจากประเพณีขนทรายเข้าวัด และการก่อเจดีย์ทรายแบบโบราณ
โดยมีตัวละครจากวรรณกรรมสินไซ ได้แก่ สินไซ สีโห หอยสังข์ ยักษ์กุมภัณฑ์ กินรี และงูซวง ซึ่งเป็นการประยุกต์จากวัฒนธรรมเก่าแก่อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีการแสดง แสง สี เสียง ศิลปะพื้นบ้านสื่อผสม โดยมีฉากหลังเป็นประติมากรรมทรายขนาดยักษ์ ซึ่งจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายนนี้ ณ ศาลหลักเมืองขอนแก่น ถือเป็นไฮไลต์ของการจัดงานประเพณีสุดยอดสงกรานต์ที่จังหวัดขอนแก่นในปีนี้
• กรมศิลป์ฯจัด “เสพงานศิลป์ ถิ่นพระนคร” ชมจิตรกรรมบนแผ่นไม้ศาลาการเปรียญ สมัย ร.3
นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดกิจกรรมบ้านศิลปากร “เสพงานศิลป์ ถิ่นพระนคร” และนิทรรศการ “ภาพจิตรกรรมบนแผ่นไม้ศาลาการเปรียญ วัดรวกบางบำหรุ” และ “เฟื้อ หริพิทักษ์ ชีวิต ผลงานคัดลอกจิตรกรรมไทยประเพณี” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า ตามโครงการพัฒนาภัณฑสถานแห่งชาติ 42 แห่งทั่วประเทศ เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทุกวัย ยกระดับพิพิธภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและทันสมัย
การจัดนิทรรศการครั้งนี้ ได้นำภาพจิตรกรรมไทยสีฝุ่นบนแผ่นไม้ศาลาการเปรียญ วัดรวกบางบำหรุ เขตบางพลัด ซึ่งเก็บรักษาไว้ในคลังศิลปวัตถุตั้งแต่ปี 2521 จำนวน 34 บาน เป็นศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3–4 บอกเล่าเรื่องราวของพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และยังไม่เคยจัดแสดงที่ใด นับจากมีการรื้อถอนมากว่า 30 ปี
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการพิเศษ “เฟื้อ หริพิทักษ์ ชีวิต และผลงานคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง” จัดแสดงชีวิตและผลงานของศิลปินที่มีความเป็นเลิศ ทั้งในแง่ของการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย รวมทั้งเปิดห้องเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีจิตรกรรมภาพฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9 ห้องจัดแสดงจิตรกรรมไทยประเพณี ซึ่งมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับพุทธศาสนาสอดแทรกด้วยเรื่องราวในวรรณคดี วิถีชีวิต ภาพพระบฎที่เก่าที่สุดในไทย จากกรุพระเจดีย์ วัดดอกเงิน จังหวัดเชียงใหม่ และภาพชุดพงศาวดารประกอบโคลงงานพระเมรุ ปี 2430 โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 27 เมษายน 2557
• แพทย์แผนไทยจัดมหกรรม การแพทย์แผนไทยแห่งชาติ
นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวโครงการมหกรรมการแพทย์แผนไทยแห่งชาติปี 2557 ว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายส่วนกลางและภูมิภาค จะจัดโครงการมหกรรมการแพทย์แผนไทยแห่งชาติปี 2557
โดยแต่ละภูมิภาคจะเวียนกันจัดงาน เริ่มที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สกลนคร วันที่ 17-21 มีนาคม ณ ม.ราชภัฎสกลนคร ภาคเหนือวันที่ 3-7 เมษายน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลำปาง ภาคใต้วันที่ 23-27 เมษายน ณ ศูนย์การค้า Jungceylon หาดป่าตอง ภูเก็ต และปิดท้ายที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่ปทุมธานี วันที่ 5-8 มิ.ย. ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทั้งนี้ แต่ละภาคจะมีการโชว์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่น่าสนใจ เพื่อให้ประชาชนรู้จักการแพทย์แผนไทยมากขึ้น เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำศาสตร์แพทย์แผนไทยที่ผ่านวิจัยแล้ว 20 จังหวัดในพื้นที่มาแสดง อาทิ การนวดหน้าเด้ง ภาคใต้มีสาธิตการนวดเท้าด้วยหอยเบี้ย การนวดด้วยผึ้ง และการนวดกะลา
ส่วนภาคเหนือมีการสาธิตแม่ก่ำเดือน หรือการเสริมสุขภาพหญิงหลังคลอด และแสดงตำรับยาเฉพาะถิ่น อาทิ สมุนไพร 7 พลัง ยาลมกินข้าวรำ และยาหอมฟ้าอรุณ ส่วนภาคกลางและตะวันออก เปิดตำรายาโบราณหายาก อาทิ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตำรายาของหลวงปู่ศุข ให้ประชาชนสามารถมาคัดลอก จัดสวนสมุนไพรจำลอง แนะนำต้นไข่เน่า ผลไม้หายากบำรุงสมอง พร้อมสาธิตการทำน้ำยาอุทัยบำรุงหัวใจ ที่มีเฉพาะประเทศไทยแห่งเดียวในโลก
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 160 เมษายน 2557 โดย กองบรรณาธิการ)