ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ความคิดทางการเมืองที่สำคัญอันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535 คือ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับกลุ่มที่มีบทบาทชี้นำความคิดทางการเมืองคือนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชน ส่วนกลุ่มที่มีบทบาทหลักในการบริหารประเทศคือนักการเมืองอาชีพและนักการเมืองที่มีฐานจากผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น สำหรับกลุ่มทหารต้องวางมือจากอำนาจการเมืองลงไปชั่วคราวเพราะความเชื่อถือไว้วางใจจากสังคมลดลงจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535
ประเด็นหลักอันเป็นข้อเรียกร้องของประชาชนในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535คือ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง อาจมีคำถามว่าทำไมประชาชนต้องการแบบนั้น ทั้งที่ประชาชนเองก็ทราบว่าการเลือกตั้งเต็มไปด้วยการทุจริตซื้อขายเสียง แต่กลับต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นว่าประชาชนมีความต้องการที่ขัดแย้งกันในตัวเอง
อันที่จริงภาคประชาชนไม่ได้ไว้วางใจกลุ่มทุนนักการเมืองแต่อย่างใด ในช่วงการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535 ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ภาคประชาชนเรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระเข้าไปตรวจสอบและเฝ้าระวังการเลือกตั้ง รัฐบาลอานันท์ จึงให้การสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรกลางเลือกตั้งขึ้นมา พร้อมกับจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งเป็นค่าดำเนินงาน แต่การทำงานขององค์กรกลางเลือกตั้งกลับไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญนัก การซื้อขายเสียงก็ยังคงทำอย่างอย่างแพร่หลายและนักการเมืองทุนท้องถิ่นก็ยังคงได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นเดิม
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อพลเอกสุจินดา คราประยูรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลุ่มพรรคการเมืองที่เคยสนับสนุนบุคคลผู้นี้เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ได้เตรียมการเสนอชื่อพล อ. อ.สมบุญ ระหงส์ หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทว่า ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นกลับเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
เป็นที่น่าแปลกว่าการได้นายอานันท์ ปันยารชุนซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีกลับได้รับการตอบรับจากชนชั้นกลางอย่างท่วมท้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้สู้กันจนตกตายเป็นจำนวนมากเพื่อเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
ผมคิดว่า เหตุผลอันซับซ้อนที่ประชาชนในยุคนั้นยอมรับนายอานันท์ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มากกว่า พลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และมากกว่า พล อ. อ.สมบุญ ระหงส์ ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเพราะแม้ว่าด้านหนึ่ง ชนชั้นกลางอยากได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง อันเป็นการสะท้อนถึงสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยและเป็นรากฐานความชอบธรรมในการบริหารประเทศ แต่พวกเขาก็มิได้ละเลยต่อภาพลักษณ์ที่สะท้อนถึงท่วงทำนองการใช้อำนาจหรือการบริหารประเทศของผู้มาดำรงตำแหน่งนี้ด้วย
กรณีนายอานันท์ นั้นประชาชนสัมผัสได้กับคุณลักษณะและท่วงทำนองการบริหารประเทศ โดยไม่มีข้อกังขาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ ทั้งยังบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส ประชาชนจึงละเลยหรือมองข้ามที่มาหรือการเข้าสู่อำนาจไป
กรณี พลเอกสุจินดา คราประยูร ประชาชนยังไม่ทราบว่ามีความสามารถในการบริหารประเทศหรือไม่ แต่ประชาชนมีความสงสัยในพฤติกรรม และไม่ไว้วางใจในความซื่อสัตย์ เพราะว่าเครือข่ายที่ห้อมล้อมสนับสนุนพลเอกสุจินดานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นนักการเมืองที่มีความอื้อฉาวเชิงการทุจริตเกือบทั้งสิ้น ประกอบกับพลเอกสุจินดา เป็นเสมือนตัวแทนของกลุ่มทหาร ซึ่งในช่วงนั้นถูกมองว่าเป็นกลุ่มอำนาจนิยม
และสำหรับพล อ. อ. สมบุญ ระหงส์ แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่ก็เคยสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งมีความอื้อฉาวในเรื่องการทุจริต
กล่าวได้ว่า การให้น้ำหนักต่อคุณสมบัติส่วนบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีของชนชั้นกลางในช่วงนั้น เน้นไปในเรื่องคุณธรรมความซื่อสัตย์และความสามารถในการบริหารประเทศ มากกว่าที่มาของการดำรงตำแหน่ง กล่าวง่ายๆก็คือ หากต้องเลือกระหว่างมิติความชอบธรรมในเรื่องที่มาของอำนาจ กับ มิติความชอบธรรมในเรื่องการใช้และบริหารอำนาจ ชนชั้นกลางส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเลือกมิติหลังมากกว่ามิติแรก
ในระหว่างการเลือกตั้งเดือนกันยายน 2535 การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเกิดวาทกรรมที่สะท้อนชุดความคิดทางการเมืองในยุคนั้นขึ้นมาคือ “พรรคเทพ” และ “พรรคมาร” พรรคเทพมีความหมายเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ร่วมชุมนุมคัดค้านพลเอกสุจินดา คราประยูรในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งประกอบด้วย พรรคพลังธรรม พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคความหวังใหม่ ส่วนพรรคมารเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองที่เคยสนับสนุนพลเอกสุจินดา ซึ่งประกอบด้วยพรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา และพรรคกิจสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตามทั้งกลุ่มพรรคเทพและพรรคมารต่างก็มีผู้บริหารพรรคและ ส.ส.เป็นกลุ่มทุนอิทธิพลการเมืองเกือบทั้งสิ้น การเกิดขึ้นของวาทกรรมชุดนี้เป็นรากฐานทางความคิดให้กับชุดวาทกรรมเหลืองแดง และฟ้าในภายหลัง
ระหว่าง พ.ศ. 2535 – 2540 เป็นช่วงที่กระแสความคิดปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุที่ว่านักวิชาการและชนชั้นกลางจำนวนมากมีบทบาทเสนอความคิดทางการเมืองในเวทีต่างๆมากขึ้น อีกทั้งข้อเท็จจริงทางการเมืองยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้ว่าได้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งคือนาย ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี นักการเมืองส่วนใหญ่ที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็น ส.ส. ก็ยังคงใช้การซื้อขายเสียงเป็นหลักในการเข้าสู่อำนาจ แม้ว่านายชวน หลีกภัยมีจุดเด่นเรื่องภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์ แต่รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลชวนไม่น้อยที่มีเรื่องอื้อฉาวของการทุจริตปรากฏขึ้นอยู่เนืองๆ และประชาชนก็ยังมีข้อกังขาเรื่องประสิทธิภาพและความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาลอีกด้วย ความรู้สึกผิดหวังต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงแพร่กระจายออกไปในกลุ่มชนชั้นกลางโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำทางความคิดของชนชั้นกลาง
สิ่งที่เป็นสาเหตุของความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ นอกจากจะเป็นเรื่องคุณสมบัติส่วนตัวของผู้นำประเทศแล้ว ก็ยังมีสาเหตุเชิงโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งทำให้รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาในยุคนี้เป็นรัฐบาลผสม ส่งผลให้รัฐบาลมีความไร้เสถียรภาพสูง และไม่สามารถผลักดันหรือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงการปฏิรูปขึ้นมาได้เลย
ในที่สุดเมื่อรัฐบาลชวนพบจุดจบจากการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนต้องยุบสภาไปในเดือนพฤษภาคม 2538 และเลือกตั้งใหม่ช่วงเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน การเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใต้กระแสการปฏิรูปการเมือง ปรากฏว่านักการเมืองที่เป็นผู้นำกลุ่มทุนอิทธิพลจับกระแสความรู้สึกของสังคมได้และเสนอการปฏิรูปการเมืองเป็นนโยบายหาเสียง ในที่สุดพรรคชาติไทยที่มีนายบรรหาร ศิลปะอาชาก็ประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง และทำให้เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กล่าวได้ว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายบรรหาร ผู้ทรงอิทธิพลในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นการเถลิงอำนาจของกลุ่มทุนอิทธิพลอย่างแท้จริง แต่ความย้อนแย้งก็มักเกิดขึ้นเสมอในการเมืองไทย กล่าวคือ นายบรรหาร ศิลปอาชา กลับรักษาสัญญาประชาคมและจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง(คปก.) ขึ้นมา ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 118/2538 เมื่อ 8 สิงหาคม พ.ศ.2538 โดยมี นายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน คณะกรรมการชุดทำงานจนได้เนื้อหาสาระสำคัญของการปฏิรูปและเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540
เมื่อกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นได้ครองอำนาจทางการเมืองระดับชาติอย่างเบ็ดเสร็จ ภายในเวลาไม่นานนักความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจภายในกลุ่มก็เกิดขึ้น จนทำให้นายบรรหาร ต้องยุบสภาในเดือนกันยายน 2539 และเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2539 ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งคือสภาผู้แทนราษฎรไทยยังคงมีองค์ประกอบของกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นหนาแน่นเช่นเดิม และได้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ซึ่งสามารถรวบรวม ส.ส.ได้มากที่สุดขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยความไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ จึงทำให้เขาต้องลดค่าเงินบาทในปี 2540 และเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่เรียกว่า “โรคต้มยำกุ้ง”ขึ้นมา ชนชั้นกลางที่เป็นนักธุรกิจย่านสีลมจึงออกมาชุมนุมประท้วงและขับไล่รัฐบาลออกไป และในที่สุดพลเอกชวลิต ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างไม่เต็มใจ
กล่าวโดยสรุป ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษนี้ (2531-2540)คือ การซื้อขายเสียงในการเลือกตั้ง การทุจริตฉ้อฉลในการบริหารประเทศ ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ และการสืบทอดอำนาจเผด็จการ กลุ่มที่มีบทบาทหลักในความขัดแย้งคือ กลุ่มทหาร (รสช.) นักการเมืองกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่น นักการเมืองอาชีพ และกลุ่มชนชั้นกลาง
อารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางในยุคนั้นคือ ไม่ชอบการสืบทอดอำนาจของ รสช. รังเกียจพฤติกรรมทุจริตของนักการเมืองกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่น และเบื่อหน่ายฝีมือการบริหารของนักการเมืองอาชีพ ส่วนความต้องการคือ ต้องการการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรมต้องการประชาธิปไตยแบบตัวแทน ต้องการนักการเมืองที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์และมีความสามารถในการบริหารประเทศ ต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และต้องการปฏิรูปการเมือง
ความไม่ชอบและความต้องการของชนชั้นกลาง ผนวกกับปัญหาที่รุมเร้าและความสามารถอันต่ำต้อยในการแก้ปัญหาและบริหารประเทศของนักการเมืองกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นและนักการเมืองอาชีพ เป็นแรงผลักดันให้กระแสของการปฏิรูปการเมืองมีมากขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ขึ้นมา
กลุ่มที่มีบทบาทในการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2540 คือ กลุ่มนักวิชาการที่เป็นชนชั้นนำและกลุ่มชนชั้นกลางที่มาจากภูมิภาคต่างๆ เนื้อหาหลักของรัฐธรรมนูญคือ การสร้างกลไกเพื่อป้องกันการทุจริตเลือกตั้งให้เข้มข้นขึ้น การให้อำนาจพรรคการเมืองควบคุมสมาชิกได้มากขึ้น การทำให้ฝ่ายบริหารมีเสถียรภาพและเข้มแข็งมากขึ้น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมีมากขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น และการพยายามกำหนดมาตรการป้องกันการรัฐประหารขึ้นมา
รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้อำนาจทางการเมืองของกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นลดลงไปอย่างมาก แต่ผลสืบเนื่องอันเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ได้คาดคิดมาก่อน คือการเปิดทางให้นายทุนชาติเข้ามาจัดการควบคุมการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จโดยอาศัยกลไกพรรคการเมือง ปีศาจตนใหม่ที่ร้ายแรงกล่าเดิมถูกสร้างขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน และในที่สุดช่วงปลายทศวรรษถัดมา (2540-2550) ได้เกิดเผด็จการรัฐสภาอย่างเต็มรูปแบบ และเกิดระบอบการเมืองที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ซึ่งสร้างความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างประชาชนไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ดังนั้นบทเรียนที่ต้องพึงระวังในการปฏิรูปการเมืองและการแก้ปัญหาสังคมคือ การแก้ปัญหาหนึ่ง โดยอาศัยกลไกหรือเครื่องมือใหม่ที่ขาดการวิเคราะห์ธรรมชาติขององค์ประกอบและสถานการณ์อย่างลึกซึ้ง รวมทั้งขาดการประเมินความเป็นไปได้ของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว อาจนำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ที่ร้ายแรงกว่าเดิม ดังที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงสองทศวรรษนี้ (ยังมีต่อ)