xs
xsm
sm
md
lg

พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย: ขุนนาง ทหาร นายทุน และประชาชน (6)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ราวกับสังคมไทยตกอยู่ภายใต้การสะกดจิตหมู่ รับรู้มายาคติประดุจความเป็นความจริง เสียงที่แตกต่างถูกสะกดข่มมิให้เปล่งออกมา เสียงที่ท้วงติงถูกทำให้เงียบงัน เสียงวิพากษ์วิจารณ์จักถูกตอบโต้อย่างรุนแรง ผู้ใดรู้ความจริงและมีหลักฐานที่พร้อมออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะถูกทำให้หายตัวไปไม่เหลือร่องรอย บางคนก็สิ้นชีพอย่างน่าอนาถ กระบวนการสร้างความเป็นจริงดำเนินไปอย่างเข้มข้นและถูกตอกย้ำผ่านกลไกนานาชนิด

ระยะแรกของการครองอำนาจ กลุ่มทุนสามานย์กุมสภาพสังคมไทยเอาไว้ได้ทุกด้าน มีการก่ออาชญากรรมและความรุนแรงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้คนจำนวนมากที่ถูกบดบังด้วยภาพลวงตากลับให้การสนับสนุน คนบางส่วนที่พอจะเห็นความไม่ชอบมาพากลอยู่บ้างก็นิ่งเฉยโดยสร้างเหตุผลมาปลอบใจตนเองว่ารัฐบาลทุนสามานย์ได้รับอาณัติจากประชาชนแล้ว ย่อมมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจบริหารประเทศ ขณะที่คนบางส่วนที่รู้เท่าทันและเข้าใจธาตุแท้ของกลุ่มทุนสามานย์ก็ได้เริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่ดูเหมือนว่าเสียงวิพากวิจารณ์ถูกกลบด้วยเสียงโห่ร้องชื่นชมยินดีของบรรดาผู้สนับสนุนกลุ่มทุนสามานย์

สังคมไทยมักจะเป็นอย่างนี้ ยามหลงใหลชมชอบผู้ใดก็ไม่เหลือพื้นที่สำหรับการเปิดรับความคิดและข้อมูลที่แตกต่างแม้แต่น้อย ชื่นชมกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา ความมีเหตุผลและข้อเท็จจริงถูกอารมณ์ความรู้สึกเบียดขับออกไปจากจิตสำนึก คนไทยจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มทำให้ตนเองกลายเป็นสาวกของบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่เสมอ ด้วยแรงแห่งความปรารถนาของการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และเมื่อกลายเป็นสาวกแล้วก็มักออกมาปกป้องศาสดาของตนเองด้วยความมืดบอดและพร้อมที่จะตอบโต้ผู้ที่พวกเขาคิดว่าเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรง

วุฒิภาวะทางอารมณ์ของคนในสังคมไทยจึงจัดอยู่ในระดับต่ำ ดังจะเห็นได้ว่าคนจำนวนมากโกรธเคืองกันอย่างรุนแรงด้วยเรื่องเล็กๆน้อยๆ และมักจะเฉยเมยต่อเรื่องใหญ่ๆ ความแตกต่างขัดแย้งในเรื่องหลักการกลับถูกมองข้ามและไม่ค่อยมีใครเอามาเป็นอารมณ์อย่างจริงจังนัก แต่พอเรื่องเล็กๆกลับทำอย่างจริงจังจะเอาเป็นเอาตายกันให้ได้

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนในสังคมไทยไม่ใส่ใจปล่อยละเลยให้กลุ่มทุนสามานย์ประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ดังปรากฏในนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งมีการใช้วลีอย่าง “การประกาศสงครามกับยาเสพติด” เป็นประโยคหลักของการขับเคลื่อนนโยบาย นัยของการใช้คำว่า “สงคราม” ก็คือ “ความรุนแรง” ภายใต้นโยบายนี้กลุ่มทุนสามานย์ได้ประกาศในเชิงสัญญะต่อสังคมว่าจะใช้ความรุนแรงในการปราบปรามยาเสพติด ปฏิบัติการเชิงวาทกรรมที่ตามมาคือ ให้ตำรวจจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและใช้มาตรการเด็ดขาดในการปราบปราม ดังประกาศิตที่สำทับลงไปว่า “ผู้ที่มีรายชื่อในบัญชีว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หากไม่ติดคุกก็ต้องไปอยู่ที่วัด” ความหมายที่แฝงของการไปอยู่ที่วัดคือ “ความตาย”

ชีวิตของสามัญชนคนธรรมดาจึงถูกปลิดทิ้งคนแล้วคนเล่าร่วมสามพันคน มีบ้างบางคนที่อาจเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่ผู้ถูกสังหารจำนวนมากไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดแม้แต่น้อย ถึงกระนั้นภายใต้หลักการการแบ่งแยกอำนาจของระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจหน้าที่ใดพิพากษาผู้กระทำผิด เพราะนั่นเป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการ แต่ในช่วงที่พรรคไทยรักไทยครองอำนาจและมีทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี อำนาจตุลาการและกระบวนการยุติธรรมถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะว่าฝ่ายบริหารกำหนดแนวทางปฏิบัติโดยมีนัยให้ปฏิบัติการแบบศาลเตี้ยต่อผู้ที่ถูกเข้าใจว่าพัวพันกับยาเสพติด

ยิ่งใช้อำนาจนานวันเข้า กลุ่มทุนสามานย์ก็ยิ่งเสพติดอำนาจ พร้อมกับเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีความยิ่งใหญ่คับผืนฟ้าและแผ่นดิน ความยะโสโอหังถูกแสดงออกมามากขึ้นและมีการใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่แยแสสนใจระเบียบและกฎหมายใดทั้งสิ้น ผลที่ตามมาคือการหลุดลอกของฉากหน้าก็เกิดขึ้น ความสวยงามของหน้ากากที่สร้างในช่วงเริ่มต้นก็จางหายไป ความอัปลักษณ์อันเป็นธาตุแท้ได้ปรากฏตัวให้เห็นถี่ขึ้นบ่อยขึ้น

ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มีสติปัญญาก็เริ่มตั้งคำถามและแสดงความสงสัยต่อพฤติกรรมของกลุ่มทุนสามานย์ แต่ความเป็นจริงอันน่ารันทดก็คือมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกันที่ยังคงลุ่มหลงงมงายกับมายาภาพที่กลุ่มทุนสามานย์สร้างเอาไว้ และกลายเป็นเครื่องมือให้กลุ่มทุนสามานย์ใช้เพื่อรักษาอำนาจของพวกเขา

ตั้งแต่ปี 2547 แม้ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางเริ่มมองเห็นความจริงและตระหนักถึงความเลวร้ายของกลุ่มทุนสามานย์หรือระบอบทักษิณ แต่การต่อต้านคัดค้านยังไม่ปรากฏเป็นรูปขบวนที่ชัดเจนนัก จวบจนกระทั่งในปลายปี 2548 เมื่อนายสนธิ ลิ้มทองกุล นักหนังสือพิมพ์และนักธุรกิจด้านการสื่อสารมวลชนได้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสวนลุมพินีทุกวันศุกร์ต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ ตัวตนอันแท้จริงของกลุ่มทุนสามานย์ระบอบทักษิณจึงเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะมากขึ้นตามลำดับ

ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร มีการนำความเป็นจริงเกี่ยวกับระบอบทักษิณและพฤติกรรมของทักษิณ ชินวัตรอย่างเข้มข้นตรงไปตรงมา ความชั่วร้าย การทุจริตฉ้อฉล และการลุแก่อำนาจของระบอบทักษิณได้ถูกเปิดเผยออกมา กระแสการต่อต้านระบอบทักษิณได้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง มีผู้คนมากมายหลากหลายอาชีพและชนชั้นได้แสดงตัวและร่วมขบวนการต่อต้านระบอบทักษิณ

ในที่สุดบรรดาภาคประชาชนก็ได้ประสานแลกเปลี่ยนความคิดจนเกิดการตกผลึก และนำไปสู่การจัดตั้งขบวนการภาคประชาชนในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม).” ขึ้นมาในต้นปี 2549 เพื่อเป็นองค์กรนำในการต่อสู้และโค่นล้มระบอบทักษิณอันเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนสามานย์

พธม.เป็นองค์กรภาคประชาชนที่มีองค์ประกอบหลักจากห้าภาคส่วนคือ ภาคสื่อมวลชน ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคองค์กรชาวบ้าน ภาคกองทัพธรรม และภาคแรงงาน อีกทั้งยังมีองค์กรวิชาชีพต่างๆในสังคมเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายอย่างมากมาย เช่น ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาควิชาชีพด้านสาธารณสุข ภาควิชาชีพด้านกฎหมาย เป็นต้น

แม้ว่ากลุ่มที่เข้าร่วมในการต่อสู้กับระบอบทักษิณในนาม พธม. มีความแตกต่างทางอุดมการณ์และความเชื่ออยู่บ้าง แต่มีจุดร่วมอุดมการณ์แบบ “คุณธรรมนิยม” และ “ชาตินิยมเชิงสร้างสรรค์” ธงนำในการต่อสู้คือการใช้ธรรมนำหน้า มุ่งขจัดกลุ่มทุนสามานย์ให้ออกจากอำนาจทางการเมือง ต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ การสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การสร้างสำนึกแห่งความเป็นชาติ และการรักษาคุณค่าและความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่เป็นพลังทางวัฒนธรรมที่ยึดเหนี่ยวเชื่อมโยงผู้คนในสังคมไทยเข้าด้วยกัน

พธม.ได้จัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลทุนสามานย์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ทักษิณ ชินวัตรไม่อาจใช้อำนาจได้อย่างสะดวกอีกต่อไป แม้ว่าพรรคไทยรักไทยจะครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งใน ปี 2548 ก็ตาม แม้แรงกดดันของประชาชนให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีมากขึ้น แต่ทักษิณ ชินวัตรกลับไม่ยอมลาออก โดยเลือกใช้วิธีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลดแรงกดดัน และคาดหวังจะใช้สนามการเลือกตั้งฟอกความผิดและสร้างความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจใหม่อีกครั้ง

แต่ทว่าการดิ้นรนของทักษิณ ชินวัตรประสบความล้มเหลว เมื่อการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2548 ถูกศาลสั่งให้เป็นโมฆะเพราะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยที่การดำเนินการเลือกตั้งทำให้เกิดผลการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม และไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐบาลทุนสามานย์จึงต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน

การปรากฎตัวของภาคประชาชนในนาม พธม. เป็นปฏิกิริยาของสังคมเพื่อตอบโต้การใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของกลุ่มทุนสามานย์ นับได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสังคมไทยที่ประชาชนจำนวนมหาศาลได้ออกมาชุมนุมต่อต้านกลุ่มผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้งแต่ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล กล่าวได้ว่าปรากฎการณ์ทางการเมืองของภาคประชาชนในปี 2548 เป็นการพัฒนาการต่อสู้ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง กล่าวคือในอดีต ภาคประชาชนต่อสู้กับผู้ครองอำนาจรัฐที่เป็นทหาร เช่น กรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2514 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในเดือนพฤาภาคม 2535 แต่ในปี 2549 ประชาชนได้ต่อสู้กับผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มทุนสามานย์

ในแง่นี้จึงได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า “ผู้ปกครองประเทศ ไม่ว่าจะมาจากอำนาจปืนหรือมาจากอำนาจเงิน หากใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ฉ้อฉล ขาดความยุติธรรม และขาดคุณธรรม ย่อมเป็นมูลเหตุให้ประชาชนไทยลุกขึ้นมาขับไล่ทั้งสิ้น” บทเรียนนี้ควรที่ผู้มีอำนาจในยุคปัจจุบันได้ตระหนักเอาไว้ และควรใช้อำนาจอย่างมีครรลองคลองธรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

พฤติกรรมอำพลางแอบแฝงซ่อนเร้นไม่มีทางที่จะปิดบังผู้คนเอาไว้ได้ ยิ่งในโลกปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีอันทรงประสิทธิภาพอย่างหลากหลาย หากผู้ใด กลุ่มใดสร้างมายาภาพหลอกลวงประชาชน พวกเขาจะสามารถทำได้แต่เพียงชั่วคราวและระยะสั้นเท่านั้น ไม่ต้องใช้เวลานานนักความจริงก็จะถูกเปิดออกมา และเมื่อนั้นก็เป็นวันเริ่มต้นของจุดจบของผู้ที่หลอกลวงประชาชน (ยังมีต่อ)

พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย: ขุนนาง ทหาร นายทุน และประชาชน (7)


กำลังโหลดความคิดเห็น