xs
xsm
sm
md
lg

พลวัตความขัดแย้งทางการเมืองไทย: ขุนนาง ทหาร นายทุน และประชาชน (5)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

กล่าวได้ว่าตั้งแต่ทศวรรษ 2540 กลุ่มทุนขนาดใหญ่ระดับชาติและทุนข้ามชาติสัญชาติไทยได้เข้ามามีอิทธิพลครอบงำการเมืองไทยโดยตรงซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ กลุ่มทุนสื่อสาร กลุ่มทุนอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ พลังงาน และ ปิโตรเคมี เมื่อกลุ่มทุนเหล่านี้ครองอำนาจเบ็ดเสร็จทางการเมืองพวกเขาใช้อำนาจในลักษณะสามานย์ ต่อมาจึงถูกเรียกว่า “กลุ่มทุนสามานย์” เพราะว่าการใช้อำนาจของกลุ่มนี้มุ่งเพียงแต่การสร้างความมั่งคั่งแก่กลุ่มตนเองและทำลายระบบคุณธรรมของสังคมอย่างเป็นระบบ

ความขัดแย้งหลักทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุคนี้จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกลุ่มทุนสามานย์โดยประเด็นความขัดแย้งคือ ธรรมาภิบาลและคุณธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจและการใช้อำนาจ และความพยายามในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

กลุ่มทุนสามานย์ทำให้สนามการเมืองแปรสภาพเป็นสนามการค้าอย่างเต็มรูปแบบ พวกเขาใช้กลยุทธ์การตลาดทางการเมืองในการรณรงค์หาเสียง มองผู้มีสิทธิเลือกตั้งประหนึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้า มีการใช้โพลเพื่อสำรวจเชิงการตลาด และผลิตนโยบายที่มีลักษณะเหมือนสินค้าเพื่อเอาใจลูกค้าหรือที่เรียกว่า “นโยบายประชานิยม” ขึ้นมา

ด้านหนึ่งนโยบายประชานิยม เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน สามสิบบาทรักษาทุกโรค และนโยบายจำนำข้าว เป็นต้น เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ทำให้กลุ่มสามานย์ได้ครองอำนาจทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพราะว่านโยบายตอบสนองจิตวิทยาพื้นฐานของมนุษย์จำนวนมากที่อยากได้ของแจกหรือของฟรี นโยบายประชานิยมยังเป็นการต่อยอดการซื้อขายเสียงแบบเดิมซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานของการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยกลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นในช่วงก่อนหน้านี้

นั่นคือกลุ่มทุนสามานย์ใช้ทั้งการซื้อขายเสียงแบบเดิมซึ่งปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผนวกกับใช้การซื้อขายเสียงแบบใหม่ภายใต้ชื่อ “นโยบายประชานิยม” ด้วยการซื้อขายเสียงแบบ “ยกกำลังสอง” เช่นนี้ จึงทำให้กลุ่มทุนสามานย์ประสบชัยชนะในการเลือกตั้งติดต่อกันหลายครั้งนับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2544 เป็นต้นมา

เมื่อได้อำนาจทางการเมืองมาครอบครองอย่างเต็มรูปแบบกลุ่มทุนสามานย์ก็วางแผนในการสร้างอาณาจักรและความมั่งคั่งของตนเองอย่างต่อเนื่องโดยการใช้อำนาจรัฐผลิตนโยบายเพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มตนเอง ที่รู้จักกันในนาม “การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย” ในขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งการคอรัปชั่นในรูปแบบเดิมอันได้แก่ “การกินหัวคิว” ทั้งยังมีการนำ “ตำแหน่งราชการ” ออกไปประมูลค้าขายอย่างแพร่หลายในแทบทุกกระทรวง

การคอรัปชั่นเชิงนโยบายเป็นการกำหนดนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลหรือกลุ่มบริษัทที่มีกลุ่มทุนสามานย์เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ถือหุ้น การเอื้อประโยชน์อาจทำในรูปแบบของการให้สิทธิพิเศษบางอย่างหรือการได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี เช่น การให้กลุ่มบริษัทปิโตรเคมีได้สิทธิประโยชน์ในการซื้อก๊าซ LPG ราคาต่ำกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆและการใช้ในครัวเรือน หรือ การให้ต่างชาติกู้เงินจาก ประเทศไทยไปดำเนินโครงการ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อสินค้าในบริษัทที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มทุนสามานย์ เป็นต้น

นอกจากการคอรัปชั่นในการกำหนดเนื้อหานโยบายแล้ว การคอรัปชั่นในกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติก็เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบาย SML และนโยบายจำนำข้าว กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่นในกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติมีหลากหลายระดับ ตั้งแต่กลุ่มนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง กลุ่มข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนายทุนระดับจังหวัดที่เป็นบริวารของกลุ่มทุนสามานย์ กลุ่มเครือข่ายหัวคะแนน และกลุ่มประชาชนที่เป็นเป้าหมายของนโยบายเอง

กลุ่มทุนสามานย์ยังได้พัฒนารูปแบบการทุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับผลประโยชน์มากขึ้นและเร็วขึ้นนั่นคือการปรับปรุงวิธีการโกงแบบ “ค่าหัวคิว” เป็นการโกงแบบ “เงินทอน” ในอดีตนักการเมืองและข้าราชการได้รับ “ค่าหัวคิว.” เมื่อผู้รับเหมาได้เงินงบประมาณจากโครงการของรัฐแล้ว แต่ในปัจจุบันผู้รับเหมาต้องจ่ายเงินแก่กลุ่มทุนสามานย์และข้าราชการที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะได้โครงการมาทำ ยิ่งกว่านั้นอัตราที่จ่ายให้จากเดิมที่เคยจ่าย 10-15 % ก็ขึ้นเป็น 30- 50 % ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการ โครงการที่มีการเรียกรับเงินทอนสูงเช่น โครงการเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ประเภทขุดลอกคูคลอง เป็นต้น

ส่วนการซื้อขายตำแหน่งราชการก็มีการกระทำกันอย่างแพร่หลายและทวีจำนวนมากขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งในระดับตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงาน และระดับหัวหน้าส่วนราชการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานที่มีข่าวอื้อฉาวจนมีการร้องเรียนออกมาให้ปรากฏในที่สาธารณะเช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย

กลุ่มทุนสามานย์ยังได้นำแนวคิดของจักรวรรดินิยมใหม่ที่เรียกว่า “ฉันทามติวอชิงตัน” มาเป็นธงนำเพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทมหาชน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ภายใต้กระบวนการแปรรูปนี้กลุ่มทุนสามานย์ทำให้สมบัติของชาติไปอยู่ในสภาพหุ้นเพื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ และนำไปขายให้เอกชนและกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นพรรคพวกตนเองในราคาถูก ซึ่งทำให้พวกเขาได้กำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นอย่างมหาศาล

ยิ่งกว่านั้นกลุ่มทุนสามานย์ได้แปรสภาพการบริหารราชการแผ่นดินให้กลายเป็นการบริหารแบบเอกชน โดยนำแนวคิดการจัดการแบบใหม่ที่มีระบบตัวชี้วัดผลงาน และสร้างระบบการบริหารที่ให้อำนาจแก่ผู้นำองค์การอย่างเบ็ดเสร็จที่เรียกว่า “CEO” ขึ้นมา กระบวนการนี้จึงเรียกว่า “กระบวนการกลายเป็นบริษัทของหน่วยงานราชการ” ทุนสามานย์ทำตัวเสมือนเป็นเถ้าแก่หรือเจ้าของบริษัท ส่วนหัวหน้าหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้ว่าราชการจังหวัดเปรียบเสมือนกรรมการผู้จัดการ สำหรับข้าราชการในระดับล่างลงมาก็เปรียบเสมือนลูกจ้างบริษัท

การทำให้หน่วยงานราชการเป็นเสมือนบริษัทและข้าราชการเป็นเสมือนลูกจ้างเป็นการบ่อนทำลายจิตวิญญาณแห่งการรับใช้แผ่นดินและรับใช้สาธารณะของบรรดาข้าราชการ ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือข้าราชการจำนวนมากทำงานเพียงเพื่อรับใช้และสนองผลประโยชน์ของบรรดาเหล่าทุนสามานย์แทนที่จะรับใช้ประชาชนและแผ่นดิน คำเรียกที่ข้าราชจำนวนมากนิยมเรียกผู้บังคับบัญชาที่เป็นกลุ่มทุนสามานย์คือ “นาย” หรือ “Boss”

ส่วนการสร้างระบบตัวชี้วัดได้ทำให้ข้าราชการกลายเป็น “นักสร้างข้อมูล” หรือ “นักปั้นตัวเลข” เพราะหากมีตัวเลขไม่ได้ตามที่กำหนดในตัวชี้วัด ก็จะทำให้ไม่ได้รับรางวัลและอาจจะถูกลงโทษ การทำงานงานของข้าราชการจำนวนมากจึงมุ่งไปที่กระบวนการสร้างตัวเลขเพื่อให้บรรลุตัวชี้วัดแทนคุณภาพของงานและการบริการแก่ประชาชน เราจึงมีแต่หน่วยงานที่มีตัวเลขโชว์ความสำเร็จของตัวชี้วัด แต่คุณภาพของงานกลับเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม และในท้ายที่สุดข้าราชการก็ไก้กลายเป็น “ทาสของตัวชี้วัด” และมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหลอกลวง จนกระทั่งตนเองก็เชื่อว่าตัวเลขที่ปั้นแต่งขึ้นมาเป็นความจริง

การกำหนดนโยบายและการบริหารประเทศของกลุ่มทุนสามานย์จึงเป็นการทำลายคุณธรรมขั้นพื้นฐานของสังคมยิ่งกว่าเดิม หรือมากเสียยิ่งกว่าที่กลุ่มทุนอิทธิพลท้องถิ่นเคยกระทำในอดีต คุณธรรมที่ถูกทำลายล้างมากที่สุดคือ ความซื่อสัตย์สุจริตและการพึ่งตนเอง ตลอดระยะเวลาที่กลุ่มทุนสามานย์มีอำนาจในการเมืองไทยจึงเป็นเวลาที่สังคมไทยเต็มไปด้วยผู้คนที่มีสำนึกแห่งความเป็นทาส การโกหกหลอกลวง การทุจริตฉ้อฉล และมีพฤติกรรมแบบขอทาน

กลุ่มทุนสามานย์ยังได้ทำลายล้างเนื้อหาสากลของประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยปลุกกระแสสร้างวาทกรรมของ “ลัทธิคลั่งเลือกตั้ง” และ “ลัทธิเผด็จการเสียงข้างมาก” ขึ้นมา อีกทั้งยังมีแนวคิดและความพยายามเคลื่อนไหวที่จะขยายอำนาจของกลุ่มตนเองไปกดทับและลดทอนบทบาททางสังคมของสถาบันดั้งเดิมตามประเพณีของไทย และที่สำคัญคือมีบุคคลบางคนในกลุ่มทุนสามานย์ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกลุ่มอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็มีความคิดไปไกลถึงขนาดจะสร้างระบอบสาธารณรัฐขึ้นมา รวมทั้งในระยะหลังสมุนของกลุ่มทุนสามานย์จำนวนหนึ่งได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อแยกดินแดนออกไปเป็นประเทศอิสระและการก่อการร้ายเพื่อทำลายความสงบสุขของสังคม

ทั้งหมดที่กล่าวมาโดยย่อเป็นประเด็นความความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา เป็นความขัดแย้งอันเกิดจากการขับเคลื่อนของกลุ่มทุนสามานย์ จนทำให้สังคมไทยแตกแยกเป็นขั้วขัดแย้งอย่างไม่เคยมีมาก่อน และตราบใดที่กลุ่มทุนสามานย์ยังคงรักษาอิทธิพลทางการเมืองเอาไว้ได้ ความขัดแย้งในลักษณะนี้ก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น