ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เมื่อผู้ปกครองประเทศสร้างความอยุติธรรม กระทำละเมิดรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับอำนาจศาล ใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และมีการบริหารที่สร้างความเดือดร้อนอย่างรุนแรงแก่ผู้คนทั่วทุกหัวระแหง พลเมืองก็ย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญที่จะต่อต้านและขับไล่ผู้ปกครองเหล่านั้นออกไป รวมทั้งทวงอำนาจอธิปไตยของพวกเขากลับคืนมา
เมื่อมวลมหาประชาชนเห็นร่วมกันว่า ความชั่วร้ายของผู้ปกครองมิใช่เกิดจากการกระทำของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคนแก่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากตัวระบอบการเมืองที่เป็นต้นกำเนิดและหล่อเลี้ยงให้ผลิตบุคคลที่ชั่วร้ายขึ้นมาปกครองประเทศ ประชาชนก็ย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมในการล้มล้างระบอบดังกล่าวและสถาปนาระบอบใหม่ขึ้นมา เพื่อทำให้คนดี มีคุณธรรม คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและมีความสามารถในการบริหารได้มีโอกาสขึ้นมาปกครองประเทศ
เปรียบเสมือนพื้นที่บริเวณหนึ่งที่มีดินเป็นพิษ มีน้ำพิษ และมีอากาศเป็นพิษ ได้ก่อกำเนิดต้นไม้พิษขึ้นมา และออกดอกเป็นดอกพิษและเป็นผลไม้พิษ การที่จะโค่นต้นไม้พิษเพียงต้นเดียว ย่อมไม่อาจทำให้เกิดต้นไม้ที่ดีขึ้นมาได้ เพราะว่าโค่นต้นไม้พิษต้นหนึ่งออกไป ต้นไม้พิษต้นใหม่ก็จะงอกขึ้นมาอีก หากดิน น้ำ อากาศ รอบๆต้นไม้พิษนั้นยังคงเหมือนเดิม ดังนั้นหากต้องการให้มีต้นไม้ดีเกิดขึ้นก็จะต้องมีการปรับปรุงดิน น้ำ อากาศบริเวณนั้นให้ดีขึ้นเสียก่อน
ผลไม้พิษเปรียบเสมือน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆของส.ส.และส.ว.และการทุจริตฉ้อฉลของรัฐบาล ต้นไม้พิษให้ก็เปรียบเสมือนระบอบทักษิณที่เป็นแหล่งผลิตสิ่งชั่วร้ายเหล่านั้นขึ้นมา ส่วนสภาพแวดล้อมของต้นไม้ทั้งดิน น้ำ อากาศ เปรียบเสมือนระบอบการเมืองรัฐสภาแบบสัมปทานธิปไตย เศรษฐกิจแบบทุนนิยมสามานย์ และสังคมที่ไร้คุณธรรม และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมวลมหาประชาชนไทยจึงต้องประกาศโค่นล้มระบอบทักษิณและปฏิรูปประเทศ
ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนครั้งนี้มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านเป้าหมายและด้านยุทธศาสตร์การต่อสู้ ด้านเป้าหมายจากการคัดค้านรายประเด็น ไปสู่การปฏิรูปประเทศ ส่วนด้านยุทธศาสตร์จากการชุมนุมกดดัน สู่อารยะขัดขืน และอารยะปฏิวัติในที่สุด
ในช่วงเริ่มแรกการต่อสู้ของมวลมหาประชาชนไทยเพื่อปฏิรูปประเทศมีเป้าหมายหลายระดับ บางส่วนต้องการแค่ระดับการทำลายผลไม้พิษหรือการต่อสู้ในรายประเด็น เช่น การคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมล้างความผิดคนทุจริต การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่จะนำไปสู่การผูกขาดอำนาจเผด็จเสร็จยิ่งขึ้น หรือ การคัดค้านนโยบายจำนำข้าวที่สร้างความหายนะแก่ระบบการผลิตข้าวการส่งออกและคุณภาพข้าวไทยทั้งระบบ บางส่วนต้องการโค่นล้มระบอบทักษิณอันเป็นระบอบของเผด็จการทุนสามานย์ ซึ่งทำให้เกิดการทุจริตฉ้อฉล รวบอำนาจ ละเมิดอำนาจศาล ลิดรอนสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชน และบางส่วนต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองแบบเผด็จการเสียงข้างมากเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง รวมทั้งมีการปฏิรูปสังคมอย่างรอบด้านในทุกมิติ
ขบวนการต่อสู้ของมวลมหาประชาชนได้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ ระหว่างการต่อสู้มีการให้การศึกษาทางการเมืองอย่างต่อเนื่องแก่ผู้คนจำนวนมากโดยนักวิชาการและแกนนำของมวลมหาประชาชน ทำให้มวลมหาประชาชนได้เห็น ได้ยิน และตระหนักถึงปัญหาสังคมการเมืองไทยอย่างรอบด้านและลึกซึ้ง อันนำไปสู่การยกระดับเป้าหมายการต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคตได้อย่างเป็นระบบ
24 พฤศจิกายน 2556 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และเครือข่ายภาคประชาชนทุกกลุ่มทั้งนักศึกษา อาจารย์ ผู้ใช้แรงงาน นักธุรกิจ สื่อมวลชน และผู้ทำงานในสาขาอาชีพต่างๆจำนวนมากจึงประกาศร่วมกัน ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่าจะร่วมกันต่อสู้จนประสบชัยชนะและจะเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศ ในวันถัดมา นายสุเทพ ก็ได้ประกาศแนวทางปฏิรูปประเทศออกมาอย่างชัดเจนทั้งในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองการจัดตั้งสภาประชาชน การกระจายอำนาจโดยเลือกตั้งผู้ว่าแบบกรุงเทพมหานคร การให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ และการปฏิรูปตำรวจ เป็นต้น
สำหรับยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงก็ได้มีการพัฒนาจากการชุมนุมกดดันในช่วงแรก ไปสู่การใช้อารยะขัดขืนในช่วงถัดมา และในท้ายที่สุดก็ยกระดับเป็น “อารยะปฏิวัติ” เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
การใช้อารยะขัดขืนนั้นโดยหลักการทางทฤษฎีมีประสิทธิภาพในระดับการหยุดยั้งเพียงแค่ผลไม้พิษหรือหยุดยั้งกฎหมาย นโยบาย หรือ การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของฝ่ายใช้อำนาจรัฐเท่านั้น แต่ไม่มีเป้าหมายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุนี้เมื่อประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงมีนักวิชาการเสื้อแดงบางคนที่กระทำตนดุจจระเข้ขวางคลองออกมาวิพากษ์วิจารณ์การใช้อารยะขัดขืนของมวลมหาประชาชนเป็นครั้งคราว
มวลมหาประชาชนตระหนักในข้อจำกัดของอารยะขัดขืนเป็นอย่างดี จึงได้มีการยกระดับยุทธศาสตร์จากการใช้อารยะขัดขืน ไปสู่ “อารยะปฏิวัติ” หรือการเปลี่ยนแปลงแบบมีอารยะของประชาชน โดยใช้หลักสันติวิธี อหิงสาเป็นแกนกลางของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองกระทำได้ด้วยหลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการปฏิวัติโดยประชาชน รูปแบบของการปฏิวัติโดยประชาชนมี 2 รูปแบบหลักคือ การปฏิวัติแบบใช้ความรุนแรง และการปฏิวัติแบบอารยะ การปฏิวัติแบบใช้ความรุนแรง ประชาชนใช้การต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธเพื่อโค่นล้มรัฐบาลและระบอบการเมือง เช่น ขบวนการซาปาติสตาในประเทศเม็กซิโก การต่อสู้ของประชาชนในประเทศลิเบีย และ ซีเรีย เป็นต้นตะวันออกกลาง
สำหรับการปฏิวัติอย่างมีอารยะหรือ “อารยะปฏิวัติ” ประชาชนใช้การต่อสู้เปลี่ยนแปลงรัฐบาลและระบอบการเมืองโดยใช้แนวทางอหิงสาหรือสันติวิธี สำหรับขบวนการประชาชนไทยที่กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในขณะนี้ พวกเขาใช้แนวทางสันติวิธีหรืออีกนัยหนึ่งคือการใช้ “อารยะปฏิวัติ” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยนั่นเอง
ในกระแสธารประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอาจกล่าวได้ว่า “อารยะปฏิวัติ”เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมครั้งแรกในประเทศอินเดียภายใต้การนำของมหาตมะ คานธี ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองแบบเผด็จการจักรวรรดินิยมไปสู่ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ก่อนที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาในอินเดียได้ ขบวนการอหิงสาของคานธีได้ต่อสู้กับเผด็จการจักรวรรดินิยมของอังกฤษอย่างเข้มข้น มีการกระทำผิดกฎหมายหลายครั้งหลายคราว ครั้งที่สำคัญที่สุดคือการเดินทางไกลเพื่อผลิตเกลือ ซึ่งเป็นจุดหักเหของการต่อสู้และทำให้ขบวนการอหิงสาของคานธีมีชัยชนะเหนือลัทธิเผด็จการจักรวรรดินิยมของอังกฤษในเวลาต่อมา
ในยุคนั้นรัฐบาลอังกฤษมีกฎหมายผูกขาดการผลิตเกลือและค้าขายเกลือ ห้ามไม่ให้ชาวอินเดียผลิตเกลือและค้าขายเกลือทั้งที่เกลือเป็นทรัพยากรของประเทศอินเดีย คานธีจึงท้าทายกฎหมายของประเทศอังกฤษและนำชาวอินเดียเดินไปสู่ทะเลเพื่อผลิตเกลือ รวมทั้งยึดโรงผลิตเกลือด้วย รัฐบาลอังกฤษจึงตอบโต้ด้วยความรุนแรงจับคนอินเดียเข้าคุกไปกว่าแปดหมื่นคน แต่ขบวนการต่อสู้อย่างอหิงสาของคานธีกลับขยายออกไปทั่วทั้งอินเดียและมีการต่อสู้โดยใช้แนวทางอหิงสาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ประมาณหนึ่งปีหลังจากเหตุการณ์นั้น รัฐบาลอังกฤษจึงยอมแพ้และคืนเอกราชแก่อินเดีย
อารยะปฏิวัติของคานธีและประชาชนชาวอินเดียสามารถล้มล้างระบอบเผด็จการจักรวรรดินิยมได้ฉันใด อารยะปฏิวัติของคุณสุเทพและมวลมหาประชาชนชาวไทยก็กำลังจะโค่นล้มระบอบเผด็จการทุนสามานย์ของทักษิณได้ฉันนั้น
แนวทางการใช้อารยะปฏิวัติของมวลมหาประชาชนในครั้งนี้ ช่วงแรกเริ่มจากการออกมาชุมนุมอย่างสงบเพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณของกลุ่มกองทัพประชาชน ต่อมาก็ได้มีการจัดชุมนุมขึ้นอีกกลุ่มที่แยกอุรุพงษ์ โดยชื่อกลุ่มว่าเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ และในท้ายที่สุดนายสุเทพ เทือกสุบรรณและสมาชิกสภาผู้แทนบางคนของพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้จัดชุมนุมที่ถนนริมทางรถไฟสามเสนเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยมีนกหวีดเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ
หลังจากนั้นกลุ่มประชาสังคมแทบทุกกลุ่มก็ได้ออกมาแถลงการณ์ และมีการเดินขบวนของนักศึกษาและประชาชนในย่านสำคัญทางธุรกิจต่างๆทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร มีการใช้การสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมเป็นเครื่องมือในการนัดหมายในการชุมนุมและสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง
เมื่อสถานการณ์ได้พัฒนาขึ้นมา ในที่สุดแกนประชาชนที่ชุมนุมบริเวณถนนริมทางรถไฟสามเสนก็ได้ย้ายไปปักหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอีกสองกลุ่มก็ได้เคลื่อนย้ายการชุมนุมมาตั้งในบริเวณใกล้เคียงกันเพื่อหนุนเสริมกันในเชิงยุทธศาสตร์ ความเข้มข้นของการชุมนุมมีมากขึ้นเมื่อนายสุเทพและ ส.ส.อีก 8 คนตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส. และประกาศตัวเป็นแกนนำประชาชนอย่างเต็มที่ และมีการประกาศใช้มาตรการอารยะขัดขืน โดยเน้นให้ประชาชนเลิกสนับสนุนสินค้าต่างๆในเครือข่ายของระบอบทักษิณ การชะลอการเสียภาษี และการหยุดงาน
นับตั้งแต่ย้ายเวทีมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ได้มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุมโดยเฉพาะในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งเป็นวันที่วุฒิสภาลงมติเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สมาชิกวุฒิสภาได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ไม่รับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ทั้งที่ก่อนหน้านี้สมาชิกวุฒิสภาจำนวนมากที่สนับสนุนรัฐบาลเคยประกาศว่าจะสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ในท้ายที่สุดเมื่อมวลมหาประชาชนได้ร่วมกันแสดงจุดยืนในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ส.ว.กลุ่มนี้จึงเปลี่ยนใจ
แต่การเปลี่ยนใจของ ส.ว.กลุ่มนี้นั้นนอกจากจะเกิดมาจากพลังการคัดค้านของประชาชนแล้ว ยังเกิดจากการชี้นำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกด้วย สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามชี้นำการลงมติของ ส.ว. ทั้งๆที่ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกเสนอโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยและได้รับการลงมติให้ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎรจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลตอนตีสี่ของวันที่ 1 พ.ย. 2556 ซึ่งประชาชนเรียกว่าเป็นการลงมติแบบ “ลักหลับ” ก็เพราะว่าไม่อาจต้านทานกระแสการคัดค้านจากประชาชน รวมทั้งมีเจตนาที่ลดกระแสการยกระดับเป้าหมายการชุมนุมจากการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมไปสู่การคัดค้านและขับไล่รัฐบาลนั่นเอง
หลังจากนั้นประชาชนก็ยังชุมนุมต่อไปด้วยเหตุผลที่ว่า แม้วุฒิสภาไม่รับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว แต่รัฐบาลยังสามารถหยิบร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มายืนยันอีกครั้งหลัง 180 วัน การชุมนุมอย่างต่อเนื่องของประชาชนเป็นตัวบ่งชี้ว่าประชาชนไม่ไว้วางใจพฤติกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกต่อไป และแกนนำประชาชนยังได้ประกาศนัดมวลมหาประชาชนมาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในวันที่ 24 พ.ย. 2556 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุม 1 ล้านคน
ความชอบธรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.ที่สนับสนุนรัฐบาลได้ลดลงไปอีกอย่างมหาศาล เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ละเมิดหลักนิติธรรม เป็นการกระทำที่ขัดกันของผลประโยชน์ และที่สำคัญคือเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และต่อมาประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และผู้บริหารพรรคเพื่อไทยได้ออกมาแถลงอย่างเป็นทางการว่าไม่ยอมรับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติละเมิดรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับหลักนิติธรรม ไม่ยอมรับอำนาจศาลพวกเขาก็ย่อมไม่มีความชอบธรรมใดๆหลงเหลืออยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ออกกฎหมายและบริหารประเทศ เหตุการณ์นี้จึงเป็นพลังอีกส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนประชาชนให้ออกมาร่วมแสดงเจตนารมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลและระบอบทักษิณ
ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 มวลมหาประชาชนจำนวนล้านคนเศษจึงได้ออกจากบ้านมุ่งหน้าสู่ถนนราชดำเนิน กลายเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่มีผู้คนเข้าร่วมมากที่สุดในประศาสตร์ของประเทศไทย และเป็นวันที่แกนนำมวลชนทุกเวทีทุกกลุ่มได้ร่วมประการเจตนารมโค่นล้มระบอบทักษิณและมุ่งหน้าสู่การปฏิรูปประเทศ ด้วยเหตุนี้ ปฏิบัติการณ์ทางการเมืองโดยใช้ “อารยะปฏิวัติ” จึงเกิดขึ้นมา
แกนนำของมวลมหาประชาชนได้นำมวลชนเข้าเยี่ยมเยียนกระทรวงหลายกระทรวงในวันที่ 25 พ.ย. 2556 แต่ที่สำคัญคือการเข้ายึดพื้นที่กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกระทรวงต่างประเทศ การยึดพื้นที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณนั้นเป็นไปเพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงของระบอบทักษิณ ส่วนการยึดพื้นที่กระทรวงต่างประเทศนั้นเป็นการยึดเชิงสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมในการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆแล้ว
นายสุเทพ เทือกสุบรรณได้ใช้พื้นที่กระทรวงคลังประกาศเป้าหมายของ “อารยะปฏิวัติ” โดยให้มีการสถาปนารัฐบาลของประชาชน สภาประชาชน และได้เสนอแนวทางการปฏิรูปต่างๆ รวมทั้งประกาศอย่างเป็นสัญญาประชาคมอย่างชัดเจนว่าการอารยะปฏิวัติครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง หรือเพื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่เป็นการกระทำเพื่อประเทศและประชาชน
หลังจากนั้นนายสุเทพ ก็ได้ขยายแนวทางอารยะปฏิวัติ โดยขอให้ประชาชนในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศเข้าไปยึดพื้นที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อทำให้กลไกของระบอบทักษิณหยุดการทำงาน การยึดพื้นที่ของกระทรวงต่างๆซึ่งเป็นการยึดด้วยสันติวิธีมีเป้าหมายหลักคือ การบั่นทอนและการสลายอำนาจรัฐ เป็นการทำให้รัฐบาลของระบอบทักษิณไม่สามารถปฏิบัติงานได้อีกต่อไป
รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามตอบโต้โดยการประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงเพิ่มขึ้นครอบคลุมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลบางส่วน รวมทั้งพยายามออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมในข้อหากบฏ แต่ทว่าศาลอนุมัติเพียงข้อหามั่วสุมเกิน 10 คน และบุกรุกสถานที่ราชการเท่านั้น ขณะเดียวกันก็พยายามดำเนินการสลายการชุมนุม แต่ทว่ายังไม่อาจทำได้เพราะถูกมวลมหาประชาชนโอบล้อมทุกครั้งที่มีการพยายามสลายการชุมนุม
ต่อมานายสุเทพได้นำมวลชนเคลื่อนตัวไปยึดศูนย์ราชการที่ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อเป็นการยกระดับแรงกดดันต่อรัฐบาล และกลุ่มผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวไปกดดันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ปฏิบัติการของอารยะปฏิวัติจึงเป็นการระดมผู้คนออกมาปฏิบัติการทางการเมืองอย่างสันติเพื่อหยุดยั้งและสลายอำนาจรัฐ หากสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในวงกว้าง ในที่สุดรัฐบาลก็จะไม่สามารถบริหารประเทศได้อีกต่อไป
รัฐบาลที่เผชิญหน้ากับปฏิบัติการอารยะปฏิวัติอาจมีการตัดสินใจได้หลายแนวทาง แนวทางแรกคือตัดสินใจปราบปรามหรือสลาย และเข่นฆ่าประชาชน แต่ผลจากการตัดสินใจแบบนี้จะทำให้รัฐบาลถูกประมาณจากนานาชาติ และทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมขบวนการอารยะปฏิวัติมีมากขึ้น รวมทั้งอาจทำให้ประชาชนบางส่วนตอบโต้อำนาจรัฐด้วยความรุนแรงได้ และในท้ายที่สุดผู้ที่สั่งการปราบปรามประชาชนก็จะกลายเป็นทรราช ดังนั้นการสลายมวลชนหรือการปราบปรามประชาชนจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักของรัฐบาลและตระกูลชินวัตร
แนวทางที่สอง การยอมแพ้ หากรัฐบาลเลือกแนวทางนี้ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับที่รัฐบาลประเทศอังกฤษเลือกตอนที่เผชิญหน้ากับอารยะปฏิวัติของคานธี ผลที่ตามมาคือ ผู้นำคนสำคัญของตระกูลชินวัตรแจต้องไปอยู่ต่างประเทศ หรืออาจดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่บรรดาคนอื่นๆในตระกูลไม่ว่าเป็นลูกหรือหลานก็ยังคงอยู่ในเมืองไทยได้ ทางเลือกนี้นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตระกูลชินวัตร
แนวทางที่สาม การยุบสภา แนวทางนี้เป็นการพยายามที่จะสู้กลับเพื่อสร้างความชอบธรรมขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจทำให้ขบวนการอารยะปฏิวัติอ่อนกำลังลงไปบ้างในระยะแรก แต่หากผู้นำขบวนการอารยะปฏิวัติยังสามารถทำความเข้าใจกับผู้คนได้อย่างต่อเนื่องและทำให้ประชาชนยืนหยัดในแนวทางได้ ก็อาจทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนดำเนินการต่อไปได้ และหากขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ก็อาจทำให้รัฐบาลตระกูลชินวัตรอาจต้องหันกลับไปเลือกแนวทางที่ 1 และ 2 อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป
อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์หลายครั้งของหลายประเทศในโลกนี้เปิดเผยให้เห็นว่า เมื่อไรก็ตามที่การปฏิวัติของประชาชนเกิดขึ้นอย่างเต็มขอบเขต การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอนในระหว่างทางสองแพร่ง คือ การเปลี่ยนผ่านอำนาจที่ต้องมีการสูญเสียเลือดเนื้อของผู้คนจำนวนมาก กับการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสงบสันติไม่มีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ
หวังว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยครั้งจักเป็น “อารยะปฏิวัติ” ที่ไม่มีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชน และจักได้รับการจารจดในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงที่งดงามของมนุษยชาติไปอีกนานเท่านาน