"อารยะขัดขืน" คำนี้เป็นที่ฮือฮาขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมประกาศกร้าวกลางเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชวนให้คนไทยหยุดงาน ชะลอการจ่ายภาษี ติดธงชาติที่บ้าน-รถ และเป่านกหวีดใส่รัฐมนตรีเมื่อเจอตัว ถือเป็นการยกระดับการต่อสู้ตามแนวทางอารยะขัดขืน ซึ่งมีหลายภาคส่วนออกมาสนับสนุน เพราะเชื่อว่าจะเป็นวิธีที่หวังว่ารัฐบาลจะยอมศิโรราบในเวลาอันรวดเร็ว
ทว่ายังมีการตั้งคำถามถึงแนวทางการประท้วงแบบอารยะขัดขืนอยู่ไม่น้อยว่าแท้จริงแล้วมันคืออะไร เป็นการประท้วงแบบสันติวิธีหรือไม่ เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตถึงมาตรการดังกล่าวอาจสร้างความสับสนให้แก่ประชาชน และนําไปสูความขัดแยงทางสังคมในระดับที่รุนแรงตามมา..
ตรวจแถว! หลังประกาศอารยะขัดขืน
พลันที่คำว่า "อารยะขัดขืน" หลุดออกมาจากปากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ดูเหมือนท่าทีประชาชนต่อเรื่องนี้จะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดย เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกกลุ่มต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ประเมินสถานการณ์ว่า การทำอารยะขัดขืนนั้น ประชาชนบางส่วนอาจจะยังไม่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่ก็เชื่อว่า จะมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง สำหรับท่าทีของกลุ่มนักธุรกิจบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการหยุดงานระหว่างวันที่ 12-15 พ.ย.ก็เป็นสิทธิของเขา แต่ยังมีกลุ่มนักธุรกิจ และหน่วยงานอีกจำนวนมากที่ให้ความร่วมมืออยู่
เห็นได้จาก กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นอกจากเดินทางมาที่เวทีการชุมนุมเพื่อประกาศจุดยืนการต่อต้านกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ พร้อมทั้งมอบเงินช่วยเหลือการชุมนุมเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาทแล้ว ยังขอความร่วมมือพนักงานให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ คือการหยุดงานตามสิทธิ แต่ไม่สามารถให้หยุดงานได้ทั้งหมด เพราะงานจะต้องขับเคลื่อนต่อไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนโดยรวม
ด้านการบินไทยก็ไฟเขียวให้พนักงานลาหยุด 13-15 พ.ย.ร่วมชุมนุม แต่ไม่มีประกาศออกมาให้พนักงานหยุดงานเช่นกัน เพราะบอร์ดผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองทั้งสิ้น
ส่วนกรณีที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ระบุถึงการตัดน้ำ ตัดไฟหน่วยงานราชการนั้น เป็นเรื่องที่ สรส.ระบุหากรัฐบาลใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของภาคประชาชน ส่วนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.จะชะลอการให้บริการลง แต่จะไม่กระทบกับรถเมล์ฟรี
ขณะที่ เจ้าพ่อชาเขียวอย่าง ตัน ภาสกรนที ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเช่นกันว่า วันที่ 13-15 พ.ย. เป็นวันทำงานปกติ บริษัทฯ ไม่ได้ประกาศเป็นวันหยุด ดังนั้น พนักงานคนไหนถ้าจะไปร่วมชุมนุมก็ทำได้แต่ต้องลางานไป ส่วนตัวเข้าใจและสนับสนุนการแสดงสิทธิ์ของทุกคนในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ การออกมาให้สัมภาษณ์ของเจ้าพ่อชาเขียวท่านนี้ กลายเป็นข่าวร้อนในโลกโซเชียลจนต้องออกมาแก้ข่าวกันให้วุ่น เนื่องจากให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อฉบับหนึ่งว่า ไม่เห็นด้วยที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศยกระดับการชุมนุม ให้ภาคประชาชนหยุดงานในช่วงวันที่ 13-15 พ.ย. เนื่องจากวุฒิสภาได้คว่ำร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนต้องกินต้องใช้ ทุกคนต้องทำงาน ทำมาหากิน หาเงินหารายได้ และต้องกินต้องใช้ ส่วนกรณีที่ให้ภาคเอกชนชะลอการจ่ายภาษี ไม่สมควรอย่างยิ่งเพราะจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ และยังเป็นการทำผิดกฎหมาย และหากเอกชนมีการชะลอการจ่ายภาษีจริง แล้วใครจะเป็นผู้มารับผิดชอบ
เป็นเหตุให้ชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเผ็ดร้อน ถึงขนาดบางคนประกาศอารยะขัดขืนไม่ซื้อสินค้ากันเลยทีเดียว โดยเฉพาะการออกมาพูดว่า..การชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อออกไป เพราะผู้ที่ออกมาทั้งกลุ่มภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นเพียงกลุ่มน้อย ซึ่งเรื่องนี้เจ้าตัวได้ออกมาแก้ข่าว โดยปัดว่าไม่ได้พูดอย่างนั้น เป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน พร้อมยืนยันไม่เอากฎหมายนิรโทษกรรมเช่นกัน
มาดูความเคลื่อนไหวของสถาบันการศึกษากันบ้าง มีหลายแห่งออกมาร่วมแสดงอารยะขัดขืนไม่น้อย เห็นได้จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกาศหยุดการเรียนการสอน 3 วัน และจัดขบวนเชิญชวนให้นักศึกษาคณะต่างๆ รวมทั้งประชาชน ออกมาร่วมพลังหยุดเรียนและหยุดงาน เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ล่าสุดมีนักศึกษาและอาจารย์อีก 2 คณะ คือ คณะวิทยาการจัดการ และคณะพยาบาลศาสตร์ ประกาศเข้าร่วมหยุดการเรียนการสอนด้วย
นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวด้วยว่า โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จำนวน 9 โรง ได้แจ้งเด็กนักเรียน และผู้ปกครองอย่างกะทันหัน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่าโรงเรียนปิด 3 วัน โดยอ้างว่าครูติดประชุม กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตถึงขั้นที่ผู้ปกครองนักเรียนจำนวนมาก แห่เข้าแจ้งความดำเนินคดีแก่ทีมบริหารเทศบาลและผอ.โรงเรียน ฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ล่าสุด นายณัฐวุฒิ ภารพบ นายกสมาคมการศึกษาเอกชนนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสถาบันการศึกษาเอกชนทั่วทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แสดงความจำนงค์ในการร่วมหยุดการเรียนการสอนเพื่อเป็นไปตามมาตรการอารยะขัดขืนแล้วถึงกว่า 80 โรงเรียน ขณะเดียวกันจะมีการรวมตัวเพื่อแสดงพลังในส่วนของสมาคมการศึกษาเอกชนในวันพรุ่งนี้ในอำเภอปากพนัง 1 จุดและในอำเภอทุ่งสงอีก 1 จุด เพื่อร่วมการเคลื่อนไหวคัดค้านให้ถึงที่สุด
ทางฝ่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏเอง นำโดย ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (มรภ.พบ.) ในฐานะประธานที่ประชุม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อการแสดงอารยะขัดขืนว่า ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ ดังนั้น ยังคงยืนยันในหลักการเดิมคือคัดค้านเฉพาะร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม หากนักศึกษาจะหยุดเรียนไปก็เป็นเรื่องความรับผิดชอบส่วนตัว แต่การเรียนการสอนยังมีเป็นปกติ
"อารยะขัดขืน" เรื่องที่ต้องศึกษา
ลึกลงไปถึงคำว่า "อารยะขัดขืน" หากย้อนกลับไป คำคำนี้เคยอยู่ในความสนใจของประชาชนคนไทยมาแล้วเมื่อปี 2549 เริ่มต้นจากการรณรงค์ไม่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในปี 2549 กระทั่งกรณีอื้อฉาวของ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จงใจกระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ด้วยการฉีกบัตรเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่า เป็นการจัดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นช่วงขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และตามมาด้วยอารยะขัดขืนอื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์
สำหรับอารยะขัดขืนนั้น ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นบุคคลแรกที่เสนอให้ใช้คำนี้เพื่ออธิบายความหมายของ Civil Disobedience ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อสู้แบบสันติวิธี แต่ก่อนที่นักวิชาการท่านนี้จะใช้คำดังกล่าว มีข้อมูลจากบทความของสถาบันวิจัยทางยุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทยระบุเกี่ยวกับการนิยามคำว่า Civil Disobedience เป็นภาษาไทยเอาไว้ในหลายมิติที่เกี่ยวข้อง
เช่น ถ้าอ้างตามกรอบของกฎหมาย จะนิยามได้ว่าเป็น "การดื้อแพ่ง" คือ การตั้งใจกระทำเพื่อฝ่าฝืนกฎหมาย ในมุมมองทางการเมืองจะมองในแง่ของผลต่อการไม่เชื่อฟังรัฐ โดยนิยามว่าเป็น "ศาสตร์แห่งการไม่เชื่อฟังรัฐในฐานะพลเมือง" หากพิจารณาในมิติด้านสังคมวิทยาโดยพิจารณาในเชิงพฤติกรรมของผู้กระทำ ในบริบทของการขัดขืนต่อรัฐ สามารถนิยามได้ว่าเป็น "การแข็งขืนแบบอารยะ" ซึ่งก็คือ "อารยะขัดขืน" นั่นเอง
ชัยวัฒน์ เคยอธิบาย "อารยะขัดขืน" ไว้ว่า เป็นเรื่องของการขัดขืนอำนาจรัฐ ที่เป็นทั้งเป้าหมาย และตัววิธีการอันเป็นหัวใจของ Civil Disobedience ส่งผลให้การทำให้สังคมการเมืองโดยรวมมีอารยะมากขึ้น การจำกัดอำนาจรัฐโดยพลเมืองด้วยวิธีการอย่างอารยะคือ เป็นไปโดยเปิดเผย ไม่ใช้ความรุนแรง และยอมรับผลตามกฎหมายที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้ใช้สันติวิธีแนวนี้ เพื่อให้สังคมการเมืองเป็นธรรมขึ้น เคารพสิทธิเสรีภาพของคนมากขึ้น และเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น
ดังนั้น อารยะขัดขืนตามแนวคิดของนักวิชาการท่านนี้ จึงเป็นการใช้สันติวิธีที่มุ่งเปลี่ยนกฎหมาย หรือนโยบายของรัฐบาล โดยต้องการให้สังคมโดยรวมเห็นว่ามีความอยุติธรรมเกิดขึ้น สำหรับลักษณะเด่นของคำคำนี้อยู่ที่การละเมิดกฎหมาย และผู้ละเมิดยอมรับผลของการละเมิดกฎหมายนั้น ประเด็นสำคัญคือ เมื่อสังคมเห็นคนดีถูกลงโทษด้วยกฎหมายบ้านเมืองที่ไม่เป็นธรรม จะกระตุ้นให้เกิดสำนึกแห่งความยุติธรรมมากขึ้นในสังคม นำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย หรือนโยบายที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น หากผู้ละเมิดกฎหมายไม่ยอมรับโทษตามกฎหมายก็จะมิใช่อารยะขัดขืน
ผ่าปรากฏการณ์อารยะขัดขืนในสังคมไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และสังคมในปัจจุบัน ประเทศไทยมีโอกาสได้รู้จักกับคำว่าอารยะขัดขืนมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความหมาย และความไม่ชัดเจนของแนวคิดเกี่ยวกับอารยะขัดขืนในสังคมไทยอยู่ไม่น้อย
เรื่องนี้ มานิตตา ชาญไชย ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยทางยุทธศาสตร์สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ได้เคยเขียนบทความ อารยะขัดขืน : ปรากฏการณ์การต่อต้า้นอำำนาจรัฐโดยสันติวิธีในสังคมไทย โดยวิเคราะห์ปรากฏการณ์อารยะขัดขืนในสังคมไทยไว้อย่างน่าพิจารณา (ซึ่งข้อคิดเห็นในบทความดังกล่าว ผู้เขียนระบุว่า เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียนโดยเฉพาะ ไม่ผูกพันกับหน่วยราชการใดๆ)
เริ่มต้นจากสาเหตุของความไม่เข้าใจสาระที่แท้จริงของอารยะขัดขืน เธอวิเคราะห์ว่า เกิดจากระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยยังไม่เข้มแข็ง ส่งผลให้ประชาชนไม่เข้าใจกระบวนการต่อสู้ทางการเมือง และสังคมตามวิถีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้เชิงสันติวิธี นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการบริหารจัดการความขัดแย้ง กล่าวคือเมื่อเกิดความขัดแย้งสังคมไทยจะไม่คุ้นเคยกับการแก้ปัญหาเชิงสันติตามแนวทางประชาธิปไตย
นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นต่อไปอีกว่า สันติวิธีไม่ใช่แนวทางหลักในการต่อสู้ทางการเมือง และวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ดร.มารค ตามไท (๒๕๔๑ : ๑) กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า "สังคมไทยใช้การเจรจาเป็นวิธีแรกเพื่อคลี่คลายปัญหา ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมการปกครองของไทยก็พร้อมที่จะใช้วิธีการอื่น หากการเจรจาไม่ได้ผล เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยึดถือสันติวิธีในแง่ที่ว่าเป็นวิธีแรกที่ทดลองใช้เพื่อแก้ปัญหาดูก่อน ถ้าไม่ได้ผลก็ต้องใช้วิธีอื่นซึ่งรวมถึงการใช้กำลัง"
ส่วนอีกประเด็น คือ การนำเสนอปรากฏการณ์อารยะขัดขืนผ่านสื่อ โดยไม่ได้มีการอธิบายข้อมูลที่ถูกต้องว่าอารยะขัดขืนคืออะไร ทำให้ประชาชนผู้รับสารสนใจเฉพาะประเด็นความขัดแย้ง แต่ไม่ได้เข้าใจว่าสาระของอารยะขัดขืนคืออะไร สังคมไทยจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการกระทำอารยะขัดขืนได้อย่างแท้จริง แต่กลับก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี บทความดังกล่าว ยังระบุอีกว่า จากความไม่เข้าใจสาระที่แท้จริงของอารยะขัดขืน ทำให้เกิดปัญหาที่สำคัญในสังคมไทย 2 ประการ คือ อารยะขัดขืนในฐานะการต่อสู้เชิงสันติวิธีถูกบิดเบือนความหมาย และถูกนำไปใช้กล่าวอ้างเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมืองของบางคนหรือบางกลุ่ม ซึ่งแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมการเมืองไทยกลับทำให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมระหว่างคนในชาติ
ส่วนประการที่สอง คือ การไม่พยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และสังคมในปัจจุบันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในอนาคต
ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า การศึกษาอารยะขัดขืนในฐานะปรากฏการณ์การต่อต้านอำนาจรัฐของประชาชน กลุ่มหนึ่งโดยสันติวิธีในสังคมไทย จำเป็นต้องทำความเข้าใจสาระที่แท้จริงของอารยะขัดขืน และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอารยะขัดขืนในสังคมไทยรับรู้ เพื่อป้องกันความขัดแย้งในสังคมตลอดจนสามารถใช้อารยะขัดขืนเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความถูกต้องและชอบธรรมในการดำเนินงานของรัฐ
ส่วนถ้านำแนวคิดทางวิชาการเกี่ยวกับ "อารยะขัดขืน" มาอธิบายปรากฏการณ์การเมืองในสังคมไทย ถือว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนไทยพึงกระทำได้เนื่องจากอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หากประชาชนรู้สึกว่าเกิดความอยุติธรรม หรือความไม่ชอบธรรมในการบริหารจัดการบ้านเมืองโดยรัฐประชาชนย่อมมีสิทธิในการทวงอำนาจคืน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนำมาซึ่งความยุติธรรมในสังคม
ทั้งนี้ กระบวนการทวงคืนอำนาจของประชาชนจะต้องเป็นไปโดยสันติวิธี หลีกเลี่ยงความรุนแรง และหากมีการละเมิดกฎหมาย ผู้ละเมิดจะต้องยอมรับโทษตามกฎหมายที่เกิดจากการละเมิดกฎหมายนั้น เพราะถ้าไม่ยอมรับการลงโทษย่อมไม่อาจเรียกได้ว่ากำลังดำเนินการอารยะขัดขืน และไม่อาจกระตุ้นให้สังคมส่วนรวมเกิดจิตสำนึกแห่งการเป็นพลเมืองที่ดีของรัฐ ที่สำคัญในการดำเนินการต่อต้านรัฐโดยวิธีอารยะขัดขืน ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแห่งสังคมส่วนรวมมิใช่การดำเนินการเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือพวกพ้องโดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ
ทั้งหมดที่หยิบยกขึ้นมานำเสนอนี้ คือการสร้างความเข้าใจเรื่องอารยะขัดขืน แนวทางประท้วงแบบสันติวิธีท่ามกลางความขัดแย้งใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งถือเป็นสิทธิที่สำคัญอย่างหนึ่งของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการต่อสู้เชิงสันติวิธี ปราศจากความรุนแรง แต่การนำอารยะขัดขืนมาใช้นั้น ถึงแม้จะเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้เพื่อการล้มล้างรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว แต่หากใช้อย่างไม่ระวัง อาจสร้างปัญหา และความวุ่นวายตามมาได้
ดังที่ มหาตมะ คานธี ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอังกฤษในอินเดีย ได้เคยกล่าวเตือนถึงการนำอารยะขัดขืนมาใช้ว่า การใช้ที่ขาดระเบียบวินัยที่จำเป็นของมวลชน จะนำไปสู่ความยุ่งยาก ซึ่งท้ายที่สุดอาจกลายเป็นความบ้าคลั่งอย่างรุนแรงที่ไม่อาจให้อภัยเลยก็ได้
นอกจากนี้ ผู้กระทำอารยะขัดขืน ต้องเป็นผู้ที่สามารถควบคุมตัวเองได้โดยไม่ใช้วิธีแห่งความรุนแรง แต่จะใช้หลักความไม่รุนแรงหรือ "อหิงสา" หมายถึงการไม่ก่อให้เกิดการฆ่าหรือการบาดเจ็บอย่างรุนแรง แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ผู้กระทำอารยะขัดขืนต้องเป็นผู้ที่ยอมรับความเจ็บปวดนั้นเอง
.............................
ถึงเวลานี้ แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาบอกว่า ถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไปแล้ว ส่วนม็อบผู้ชุมนุมก็ควรจะกลับบ้านไปได้แล้ว แต่ใครจะรับประกันได้ว่า รัฐบาลจะไม่เล่นแง่กับประชาชน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องติดตามด้วยความลุ้นระทึกกันต่อไปถึงท่าทีของประชาชน และรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ LIVE