xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

คิดต่างได้แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

ผู้ที่สนใจติดตามสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติตลอดหลายปีที่ผ่านมา คงจำกันได้ถึงเหตุการณ์ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งฉีกบัตรลงคะแนนในวันเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการเลือกตั้ง จนเป็นเหตุให้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นต่อศาลฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 108 ที่ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำบัตรเลือกตั้งดีให้เป็นบัตรเสีย และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ฐานทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากฉีกบัตรเลือกตั้ง ในระหว่างการไปลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ดังที่กล่าวมาข้างต้น

คดีนี้ศาลจังหวัดพระโขนงได้พิพากษายกฟ้อง(คดีหมายเลขดำที่ อ 1851/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 4465/2553) โดยเห็นว่าการกระทำของจำเลย เป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุเพื่อต่อต้านการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ไว้โดยชัดแจ้งว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดการเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง การรับสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียง การนับคะแนนเสียง และการประกาศผลการเลือกตั้ง มีผลเป็นการเพิกถอนการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว อันแสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยมีเจตนาต่อต้านการจัดการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิป้องกันหรือต่อต้านการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเป็นการต่อต้านโดยสันติวิธี อีกทั้งบัตรเลือกตั้งดังกล่าวก็เป็นทรัพย์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้ในการกระทำความผิดในการจัดการเลือกตั้ง และมีราคาเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศจากการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยพอสมควรแก่เหตุ จึงเป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มาตรา 65 ที่กำหนดว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" และไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องด้วย

ต่อมาได้มีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเหตุเกิดที่ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พนักงานอัยการจังหวัดตรังเป็นโจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพศาลจังหวัดตรังพิพากษายกฟ้อง โจทก์ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา ศาลฎีกาได้มี คำพิพากษาที่ 11850/2554 สรุปข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป การที่จำเลยรับบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออย่างละ 1 ใบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากนั้นจำเลยชูบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบ พร้อมกับพูดว่า “ผมขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 “ แล้วฉีกบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบทันที

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการจงใจฉีกบัตรเลือกตั้งอันเป็นการกระทำด้วยประการใดๆให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 108 ที่บังคับใช้อยู่ขณะเกิดเหตุแล้ว แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ว่าการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทย มีผลเป็นการเพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว แต่ขณะเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุเป็นวันเลือกตั้งตามกฎหมายและกระบวนการเลือกตั้งที่ดำเนินการให้มีการลงคะแนนโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก็เป็นไปโดยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเช่นเดียวกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของจำเลย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหาได้มีผลเป็นอันลบล้างว่าไม่มีการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นในวันดังกล่าว หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่ประการใดไม่

ส่วนการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มาตรา 65 บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" มาตรานี้บัญญัติไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ในหมวดเดียวกันนี้บัญญัติไว้ด้วยว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” ดังนี้ การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีจึงต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย เมื่อจำเลยรับบัตรเลือกตั้งมาแล้วไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้จำเลยต้องลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง แต่กลับเปิดช่องทางให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแสดงเจตนาของตนว่าไม่ประสงค์จะเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้อีกด้วย แม้จำเลยจะกาเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งจนเป็นบัตรเสียก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าเป็นความผิด การกระทำที่กล่าวถึงเป็นกรอบของกฎหมายที่ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยทั่วไป การที่จำเลยจงใจฉีกบัตรเลือกตั้งซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของรัฐ มิใช่เป็นการใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีดังที่จำเลยกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 108 ให้จำคุก 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 5 ปี

ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มีความหลากหลายการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานและถือเป็นสิ่งสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แม้กฎหมายจะให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายก็กำหนดหน้าที่ให้ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อรักษาความสงบสุข ความเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีนี้จึงเป็นกรณีศึกษาที่เป็นประโยชน์ เพื่อเตือนให้ใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการแสดงความคิดเห็นหรือกระทำการใดๆ ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด หรือคิดต่างได้แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นในกรณีนี้

สราวุธ เบญจกุล

กำลังโหลดความคิดเห็น