ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง “เก่ง การุณ” อดีต ส.ส.เพื่อไทย ไม่หมิ่น “สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์” กรณีให้สัมภาษณ์เป็น ส.ส.จากการปฏิวัติ-รัฐประหาร ชี้หลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอ
ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (19 ก.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ ที่ อ.1462/2551 ที่นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายการุณ หรือเก่ง โหสกุล อดีต ส.ส.ดอนเมือง พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328
โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2551 จำเลยได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ด้วยการใช้เท้าถีบท้องน้อยโจทก์อย่างแรง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ที่รัฐสภา ต่อมาวันที่ 3 เม.ย. 2551 จำเลยได้ให้สัมภาษณ์หมิ่นประมาทโจทก์ ทางสถานีวิทยุคลื่นเอฟเอ็ม ความถี่ 90.5 เมกกะเฮิรตซ์ และรายการสยามเช้านี้ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ทำนองว่า โจทก์ปลุกระดมฆ่า แต่จำเลยเป็นเพชรที่ต้องเข้ามาทำงานเพื่อประชาชน ส่วนโจทก์มาจากพวกจ้องล้มล้างระบอบประชาธิปไตย มาจากการปฏิวัติ รัฐประหาร และข้อความอื่นซึ่งล้วนเป็นความเท็จ ซึ่งโจทก์ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักนับหน้าถือตาของคนในสังคมต้องเสื่อมเสีย ชื่อเสียง
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2554 ว่า การกล่าวของจำเลย มิได้ติชมด้วยความบริสุทธิ์ใจ จึงให้จำคุกตามมาตรา รวม 2 กระทงๆ ละ 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน และปรับ 2 กระทงๆ ละ 20,000 บาท รวม ปรับ 40,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และเมื่อคำนึงถึงอาชีพและสภาพความผิดแล้ว มีเหตุอันควรปรานี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โดยให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อใน นสพ.เดลินิวส์ ไทยรัฐ และมติชน เป็นเวลา 3 วันด้วย ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเบิกความพร้อมนำแผ่นบันทึกเสียงที่มีการถอดถ้อยคำของจำเลยที่กล่าวผ่านรายการวิทยุและโทรทัศน์ โดยระบุว่ามีการกล่าวหาโจทก์ใช้วาจาหยาบคาย และโจทก์ปราศรัยปลุกปั่นผู้ชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งโจทก์ได้เป็น ส.ส.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จากการปฏิวัติรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ขณะที่พยานโจทก์เบิกความแตกต่างกันในเรื่องที่จำเลยกล่าวถึงโจทก์ในการปราศรัยปลุกปั่นชุมนุมทางการเมืองว่า จำเลยใส่ความโจทก์ปลุกปั่นระดมฆ่า แต่จากบันทึกถ้อยคำที่ได้จากแผ่นบันทึกเสียงระบุว่า โจทก์เป็นพวกปลุกปั่นระดมชาติ พยานที่นำสืบมาในประเด็นนี้จึงขัดแย้งกัน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกล่าวใส่ความโจทก์ว่าเป็นพวกปลุกปั่นระดมฆ่าตามฟ้อง
ส่วนประเด็นอื่นเห็นว่าเป็นปกติที่นักการเมืองยังติชมเพื่อต้องการสร้างความนิยมจากประชาชนที่มีต่อตนเองให้เพิ่มมากขึ้น และต้องการให้ความนิยมของประชาชนที่มีต่อฝ่ายตรงข้ามลดน้อยลง โดยการกล่าวโจมตีทางการเมืองมีความน่าเชื่อถือให้คล้อยตามได้น้อย คำกล่าวของนักการเมืองต่อนักการเมืองจึงมีความน่าเชื่อถือแตกต่างจากคำกล่าวโดยทั่วไปที่ไม่ใช่มุ่งโจมตีกัน ขณะที่การเป็นนักการเมืองซึ่งเป็นบุคคลที่ทำงานเพื่อสาธารณะก็ต้องยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่ โดยคำกล่าวของจำเลยว่าโจทก์เป็น ส.ส. เพราะได้รับรางวัลจากการปฏิวัติรัฐประหารนั้น ดูไม่สมเหตุสมผลที่ประชาชนบุคคลทั่วไปจะเชื่อถือได้ ที่จำเลยอุทธรณ์มาฟังขึ้น ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง