ศาลฎีกาพิพากษากลับ ยกฟ้อง “นสพ.ผู้จัดการรายวัน” ลงข้อความหมิ่นบริษัทเงินทุนธนชาติ ชี้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่ได้เจตนากลั่นแกล้่งให้เสียหาย ส่วนโจทก์ได้ถอนฟ้อง บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2
ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (15 พ.ค.) ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีดำที่ 3449/2543 ที่บริษัท เงินทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำการหมิ่นประมาทโจทก์ โดยตีพิมพ์โฆษณาข้อความลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 9 มี.ค. 2543 ทำนองว่า โจทก์คือบริษัทเงินทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) ถูกแจ้งข้อหาว่าจงใจปกปิดข้อมูลฐานะทางบัญชี และรายงานเท็จต่อตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบ มาตรา 83 ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาทและจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 3 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้รอการลงโทษจำคุก จำเลยที่ 2 ไว้เป็นเวลา 2 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1 มี พ.ต.ต.ภิภพ วงศ์วัตถาภรณ์ พนักงานสอบสวนกองบังคับการสืบสวนคดีเศรษฐกิจ เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2541 นายวิชิต อังสุนันท์ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายเกริกชัย ซอโสตถิกุล มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีต่อโจทก์และพวกในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ตรา 353, 354 และ 83 ความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หลังจากรวบรวมพยานหลักฐาน
จนกระทั่ง พ.ศ. 2542 จึงได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา และจากการสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มแก่ผู้ต้องหาในความผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยื่นรายการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาจึงได้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเมื่อเดือน พ.ค. 2542 หลังจากนั้นจึงมีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน หน้า 32 ซึ่งมีข้อความใกล้เคียงกับข้อความที่ได้กล่าวข้างต้น เห็นว่าแม้โจทก์จะไม่เคยถูกแจ้งข้อหาว่าปกปิดข้อมูลฐานะทางบัญชี และรายงานเท็จต่อตลาดหลักทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์และพวกถูกแจ้งข้อหาว่าปกปิดไม่รายงานการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งการเสนอข่าวดังกล่าวไม่ถึงกับเป็นความเท็จ หรือปราศจากมูลความจริงโดยสิ้นเชิงและเป็นการเสนอข่าวสารตามภาระหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ โดยที่โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และพวกเจตนากลั่นแกล้ง ใส่ร้ายโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จึงเห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ด้วยความเป็นธรรมที่สามารถจะกระทำได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นโจทก์ได้ยื่นถอนฟ้องก่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สอบถามจำเลยที่ 2 แล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ได้
ด้านนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เปิดเผยว่า คดีนี้บริษัทเงินทุนธนชาติ และนายเกริกชัย ซอโสตถิกุล นักธุรกิจเจ้าของผลิตภัณฑ์นันยาง และซีคอนสแควร์ ในฐานะเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ดำเนินคดีและฟ้องร้องกัน ขณะที่สื่อหนังสื่อพิมพ์ผู้จัดการรายวันก็ได้ทำหน้าที่รายงานข่าวโดยสุจริต ไม่ได้มีอคติ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ถูกฟ้องร้องไปด้วย ซึ่งภายหลังแล้วคดีนี้ทั้งสองฝ่ายก็ได้เจรจายอมความกันเป็นที่เรียบร้อย ตนจึงเห็นว่า “อาชีพสื่อมวลชนไม่ใช่อาชีพของคนบาป” ที่จะรองรับหรือถูกฟ้องร้องให้จำคุก ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด