xs
xsm
sm
md
lg

อัยการไม่ปิดทาง ถอนฟ้องคดีเสื้อแดงก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยดีเอสไอ และ รมว.ยุติธรรม ยื่นเรื่องให้ ถอนฟ้องคดีเสื้อแดงก่อการร้าย ก็พร้อมพิจารณาตามขั้นตอน แต่กั๊กที่ผ่านมาไม่เคยมีถอนฟ้องคดีก่อการร้าย 

วันนี้ (3 พ.ค.) นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปแนวทางจะส่งเรื่องที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.จำเลยร่วมคดี 24 แกนนำ นปช.ก่อการร้าย ขอให้พิจารณาถอนฟ้องคดีอาญาก่อการร้าย ให้ รมว.ยุติธรรม พิจารณาเพื่อส่งให้อัยการในฐานะโจทก์ ยื่นฟ้องพิจารณาดำเนินการ เนื่องจากดีเอสไอในฐานะพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจดำเนินเองได้ ว่าขณะนี้ตนยังให้ความเห็นเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดคำร้อง รวมทั้งเหตุผลในการเสนอให้ถอนฟ้องคดีที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แต่ถ้าหากสุดท้าย รมว.ยุติธรรม พิจารณาแล้วจะส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป อัยการก็จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาคำร้องขอและเหตุผล ซึ่งตนในฐานะที่รับผิดชอบดูแลสำนวนคดีดังกล่าว ก็ต้องพิจารณาเหตุผลและอำนาจตามกฎหมาย ที่จะต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่ใช่กรณีที่ยื่นเรื่องมาแล้วจะดำเนินการในทันที ซึ่งในฐานะของอัยการที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดี ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากเวลาที่มีการฟ้องคดี อัยการก็ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานในสำนวน รวมทั้งพิจารณาพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งกล่าวหาจำเลยแล้วว่า เข้าข่ายกระทำผิด

ดังนั้นหากจะให้มีการถอนฟ้อง ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า มีพยานหลักฐานใหม่อื่นใดที่จะมาหักล้าง หรือแสดงให้เห็นว่าการดำเนินคดีที่ได้ทำไปแล้วนั้นเกิดข้อผิดพลาด หรือไม่เป็นประโยชน์อย่างใดกับใคร

เมื่อถามว่า การพิจารณาถอนฟ้องคดีอาญาจะต้องให้อัยการสูงสุด พิจารณาชี้ขาดเหมือนการดำเนินคดีตามกฎหมาย ป.ป.ช.หรือไม่ และในอดีตเคยมีถอนฟ้องคดีก่อการร้ายมาก่อนหรือไม่ นายวินัย อธิบดีอัยการคดีพิเศษ กล่าวว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดขนาดนั้น แต่ทางปฏิบัติเมื่ออัยการสูงสุด เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานอัยการสูงสุด ก็ต้องรายงาน เสนอเรื่องให้พิจารณา ขณะที่ส่วนตัวในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่อัยการมากว่า 30 ปี ยังไม่เคยถอนฟ้องคดีอะไร รวมทั้งคดีก่อการร้ายก็ยังไม่เคยเห็นว่ามีการดำเนินการใดๆ แต่ก็มีตัวอย่าง เช่น คดีชาวบ้านบุกรุกที่ดิน ที่เคยถอนฟ้องไปเพราะเห็นว่าการดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป

เมื่อถามว่าหากจะมีการเสนอถอนฟ้องคดีก่อการร้ายกับกลุ่ม นปช.จริง จะต้องพิจารณาว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ รวมถึงพิจารณาถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยหรือไม่

นายวินัย อธิบดีอัยการคดีพิเศษ กล่าวว่าตนยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคำร้องเลยไม่สามารถให้ความเห็นได้ และไม่ทราบว่าจะเป็นนโยบายทางการเมืองอะไรหรือไม่ ขณะที่การจะพิจารณาถอนฟ้อง หากทำไปแล้วจะทำให้ทุกฝ่ายไม่เกิดความขัดแย้งอีก ทุกฝ่ายพร้อมจะดำเนินการหรือไม่

ด้านนายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงข้อกฎหมายในการยื่นคำร้องถอนฟ้องคดีว่า ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 ระบุถึงวิธีการไว้ว่า การถอนฟ้องจะยื่นเวลาใดก็ได้ แต่ต้องทำก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา และศาลจะมีคำสั่งอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ถอนก็ได้แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร และถ้าคำร้องถอนฟ้องนั้นได้ยื่นหลังจากที่จำเลยให้การต่อสู้คดีแล้ว ต้องให้ถามจำเลยด้วยว่าจะคัดค้านหรือไม่ ซึ่งกฎหมายเพียงแต่กำหนดกรอบวิธีดำเนินการไว้ ส่วนหลักการและเหตุผลที่จะขอถอนฟ้องเป็นเรื่องของโจทก์จะต้องพิจารณาตามกฎหมาย หรือระเบียบภายในของหน่วยราชการนั้นเอง และเหตุผลก็ต้องสมเหตุสมผลตอบสังคมได้ รวมทั้งไม่ขัดต่อความยุติธรรมทำให้ฝ่ายใดต้องเสียหาย โดยเมื่ออัยการในฐานะโจทก์ ยื่นคำร้องมาแล้ว ศาลก็ต้องพิจารณาตามกฎหมายว่า ถ้าคดีนั้นพวกจำเลยให้การแล้วก็ต้องสอบถามจำเลยก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่ รวมทั้งคำร้องเป็นไปตามขั้นตอนและผู้ยื่นมีอำนาจหรือไม่

นายทวี กล่าวอีกว่า ในอดีตก็มีบ้างที่อัยการเคยยื่นฟ้องคดีอาญาแล้วถอนฟ้อง เช่น คดีบุกรุกที่ดิน หรือคดีของวัดธรรมกาย ซึ่งหากการยื่นคำร้องดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนและไม่ขัดกฎหมาย ก็เกือบ 100% ที่จะศาลพิจารณาอนุญาตให้ถอนฟ้อง เแต่ในส่วนของคดีก่อการร้ายตนยังไม่เคยพิจารณา ขณะที่การยื่นจะดำเนินการได้ ก็เฉพาะก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเท่านั้น หากคดีมีคำตัดสินแล้วไม่สามารถดำเนินการขอถอนฟ้องได้แม้จะอ้างถึงนโยบายฝ่ายรัฐก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น