xs
xsm
sm
md
lg

เปิดยุทธศาสตร์พิฆาตแม้ว! บุกยึดกระทรวง...ทวงคืนอำนาจรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นกระแสที่แรงอย่างต่อเนื่องจากกรณีคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสู่การรวมตัวของกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณที่นับวันจะยิ่งยกระดับการชุมนุมสั่งคลอนความมั่นคงของรัฐบาลมากขึ้นทุกที

หลังจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนโค้นระบอบทักษิณนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยกระดับการชุมนุม จากยุทธศาสตร์ดาวกระจายสู่การยึดสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังจนถึงขั้นประกาศให้กลุ่มเครือข่ายต่างจังหวัดยึดที่ว่าการอำเภอและศาลากลางจังหวัด

ร้อนถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องออกประกาศเพิ่มพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พร้อมวอนขอให้ผู้ชุมนุมหยุดยึดสถานที่ราชการ

ขณะเดียวกันทางด้านกองทัพประชาชนโค้นระบอบทักษิณ (กปท.)ก็เข้ายึดกระทรวงมหาดไทย และกลุ่มหน้ากาก V และเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ก็ทำการเข้ายึดกระทรวงต่างประเทศเป็นเวลา 1 วันก่อนเตรียมเดินเท้าไปยังกระทรวงพลังงาน

เหตุใดยุทธศาสตร์การปฏิรูปจึงต้องเข้าตีที่หน่วยงานราชการ? การเดินทางด้วยระบบเท้าบนถนนของประชาชนสู่อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการบริหารงานของรัฐบาลจริงๆ หรือเปล่า?


อำนาจรัฐเป็นของประชาชน!

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการบุกยึดสถานที่ราชการกลายเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้ขับเคลื่อนมวลชนทางการเมือง จากการบุกยึดทำเนียบฯ ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) จนถึงบุกเผาศาลากลางจังหวัดของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) จนถึงเหตุวิกฤตทางการเมืองครั้งล่าสุด ดาวกระจายของมวลชนที่บุกเข้ายึดตามหน่วยงานราชการก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

ผศ.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า คือการใช้สิทธิเพื่อแสดงให้เห็นว่า หน่วยงานราชการเหล่านี้เป็นทรัพย์สมบัติของประชาชน ในทางสัญลักษณ์การยึดหน่วยราชการต่างๆ ไว้ได้ทำให้รัฐบาลอยู่ในสภาวะไร้ตัวตน ไร้อำนาจ ส่งผลให้หมดความชอบธรรมในบริหารงานแผ่นดินหมดไป

“ประการแรกสิ่งนี้ชัดเจนว่า ทำให้รัฐหมดความชอบธรรมแปลว่าประชาชนไม่ชอบ ทำอะไรที่ไม่ใช่ความถูกต้อง ประการที่สอง รัฐทำงานไม่ได้ก็เหมือนรัฐไร้สถานะการเป็นรัฐบาล และประการสามคือสิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ในการลุกขึ้นมาทวงคืนอำนาจจากรัฐบาล”

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือท่าทีของข้าราชการที่ดูจะเป็นมิตรกับกลุ่มผู้ชุมนุมในครั้งนี้ เขาวิเคราะห์ว่า เป็นการแสดงออกมาในการเห็นด้วยกับผู้ชุมนุมอย่างชัดเจน

“คนที่กล้าเข้าร่วมซึ่งอยู่ในกระทรวงต่างๆ ถือเป็นกำลังใจให้กับผู้ชุมนุมที่ยิ่งจะทำให้มวลชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น”

ในส่วนของผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เขาให้รายละเอียดว่า หน่วยงานที่มีถูกยึดโดยประชาชนในการประท้วงรอบนี้ไม่ใช่หน่วยงานที่ให้บริการประชาชนโดยตรง หากแต่เป็นส่วนที่เป็นแขนขาของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น กรณีของกระทรวงการคลังนั้นก็มีหน่วยงานให้บริการประชาชนอื่นๆ จะกระทบเพียงการเบิกจ่ายเงินของรัฐบาลเท่านั้น

“กระทรวงต่างๆ เหล่านั้นเขาไม่ได้เป็นหน่วยให้บริการประชาชนโดยตรง จุดให้บริการประชาชนนั้นหลายๆ ที่มีลักษณะกระจายออกเป็นวัน - สตอป - เซอร์วิสบ้าง ฉะนั้นจะอ้างว่าทำให้การบริการของประชาชนมีปัญหานั้นไม่จริง อาจจะมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เกิดมีเรื่องสำคัญที่ต้องใช้อำนาจอธิบดีเซ็นออก ถ้าเป็นแบบนั้นก็ยังเซ็นได้ นัดที่โรงแรมไม่ใช่ว่าต้องนั่งที่กระทรวง การพูดแบบนั้นเป็นการทำให้มวลชนเสียหาย”

ประชาชนหรือกบฏ?

หลังจากการบุกเข้ายึดสถานที่ราชการหลายแห่ง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการตั้งข้อหา “กบฏ” ให้กับแกนนำ แม้จะไม่ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางเมืองหวาดหวั่น แต่การถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏก็ถือเป็นสิ่งที่ร้ายแรง

ในมุมรัฐศาสตร์ ผศ.ดร.ทวี เผยว่า ตามหลักกฎหมายแล้วการเข้าไปบุกรุกสถานที่ราชการนั้นถือว่าเป็นกระทำที่ผิด แต่สถานการณ์ที่เกิดตอนนี้ไม่ใช่ภาวะปกติทั่วไป ไม่ใช่กรณีอาชญากรรมที่คนบุกเข้าไปขโมยของ แต่เป็นภาวะพิเศษซึ่งเขามองว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการประท้วง

“ถ้าจะมองการต่อสู้ทางกฎหมายต่อไป ประชาชนที่ยึดสถานที่ราชการอยู่ถูกจับตำรวจบุกเข้ามา เขาสามารถต่อสู้ป้องกันตัวได้ อย่างที่ผมพูดประเด็นแรกว่า นี่คือสมบัติของเขา สมบัติของประชาชน เขามาเพื่อที่จะทวงสิทธิในสมบัตินี้ เขาไม่ได้เข้ามาในฐานะโจรขโมยของ แต่เขามาในฐานะคนไทยที่เป็นผู้เสียภาษี เป็นเจ้าของทรัพย์เขาก็มีส่วนด้วยในการรับรู้ รับผลจากการทำงานของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ”

หากยังจำกันได้ การพิจารณาในทางกฎหมายมันเป็นการใช้สิทธิทางการเมืองซึ่งอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง เขาเผยว่า หากจำกันได้เคยมีกรณีฉีกบัตรเลือกตั้งของอาจารย์ไชยันต์ ไชยพรซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิทางการแสดงออกและอัยการก็สั่งไม่ฟ้อง

ทั้งนี้ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการชุมนุมหากมีมวลชนที่กระทำการเกินเลยนั้น เขาเผยว่า หากเป็นความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ อาจถือเป็นการกระทำโดยประมาทเท่านั้น แต่หากมีทรัยพ์เสียหายเจ้าของทรัพย์ก็ต้องทำการฟ้องร้องเหมือนกรณีปกติที่เกิดขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็ต้องขึ้นอยู่ดุลยพินิจของศาลที่จะตัดสิน

“ถ้าไปนั่งทับหญ้าตายกิ่งไม้หักมันก็เป็นความประมาทเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าเผื่อทำให้ทรัพย์เสียหาย เจ้าของทรัยพ์เป็นใครก็ฟ้องกันไป ปากกาหายก็แจ้งความ มันเป็นหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการตามความเสียหาย แต่ไม่ใช่ไปตรงนั้นแล้วหาว่าเขาเป็นกบฏ อาชญากรร้ายแรง

“มันเป็นเรื่องของการชุมนุมประท้วง เป็นเรื่องของการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ตรงนี้มันเป็นเรื่องของกระบวนการทางการเมือง และมันก็เป็นเรื่องของการที่ประชาชนสามารถเข้ามาร่วมและแสดงออกได้ ตราบใดที่ยังไม่ใช้อาวุธ การประทุษร้ายชกต่อยกัน”

หากย้อนกลับไปกรณีของกลุ่ม นปช.ที่มีการเผาศาลากลางก็ได้รับข้อหาทำลายสถานที่ธรรมดา ไม่ถึงขั้นเป็นกบฏ ดังนั้น หากมองคดีเหล่านี้ในประเด็นการเมืองก็จะต้องดูในรายละเอียด

“การที่ศาลจะมีข้อวินิจฉัยเขาก็ต้องดูความเชื่อมโยงถึงสถานการณ์ เจตนา กระบวนการและดูภาพรวมของรายละเอียดต่างๆ ไม่ใช่เรื่องจะปุบปับจะเป็นไปตามที่ตำรวจตั้งสำนวน”

สมดุลระหว่างรัฐกับประชาชน

ต่อเนื่องกับประเด็นด้านกฎหมาย ศรีสุวรรณ จรรยา นักกฎหมายและนายกสมาคมต่อต้านโลกร้อน เห็นว่าการบุกรุกสถานที่ราชการเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่โดยหลักกฎหมายที่ต้องดูเจตนาเป็นหลัก และพิจารณาเหตุผล พร้อมทั้งองค์ประกอบของความผิดที่มาจากการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยมิชอบ รวมถึงการที่รัฐบาลไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

“ฉะนั้น มันก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนจะใช้อำนาจตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” สามารถกระทำได้ การที่หน่วยงานราชการไม่ว่าจะกระทรวงทบวงกรมไหนซึ่งตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมสามารถกระทำได้ ฉะนั้นจะมาอ้างว่าเป็นการบุกรุกไปในสถานที่ราชการโดยไม่สมควรแก่เหตุ ผมว่าไม่ใช่”

อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่า การกล่าวอ้างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานบังคับคดีจะอ้างว่าการกระทำของผู้ชุมนุมผิดกฎหมายนั้นยังคงสามารถทำได้ แต่เมื่อพิสูจน์กันในชั้นศาลก็ต้องพิจารณาตามองค์รวม

“ในที่สุดถ้าเป็นคดีในชั้นศาลคงจะนำไปสู่การยกฟ้องเพราะเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทย บทบัญญัติของมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญที่ได้ให้ความคุ้มครองไว้อย่างชัดเจน”

ทั้งนี้ กรณีที่ผ่านมากับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองบุกยึดสถานที่ราชการนั้น จากการตัดสินของศาลเท่าที่เขาได้รับรู้มายังไม่มีคำตัดสินจากศาลฎีกาอันเป็นที่สุด โดยเขามองว่า กระทำที่เกิดขึ้นเป็นกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายในการรักษาสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การมุ่งร้ายต่อหน่วยงานใด ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วศาลจะยกฟ้องในขั้นสุดท้าย

ในส่วนของการตัดสินของศาลกับกรณีเหล่านี้ ท้ายที่สุดเขามองว่า ศาลจะต้องตัดสินโดยทำให้เกิดสมดุลไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป

“ถ้ามีการทำลายทรัพย์ก็ยังขึ้นกับดุลยพินิจและเจตนารมณ์ของศาลที่จะวินิจฉัยต่อไป ผมคิดว่าการวางบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องเหล่านั้นก็เป็นที่จับตามองของภาคประชาชนอยู่ เพราะถ้าศาลเอียงไปข้างรัฐมากเกินไป ภาคประชาชนก็จะถูกจำกัดสิทธิ แต่ว่าถ้าเอนไปทางผู้ชุมนุมมากเกินไป มันก็จะนำไปสู่การชุมนุมประท้วงเยอะแยะมากมายเต็มไปหมดโดยไม่มีเหตุและผล”



แม้ท้ายที่สุดการแสดงออกทางการเมืองจะมีบทบัญญัติในการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ ทว่า การชุมนุมขับเคลื่อนก็ควรเป็นไปอย่างมีอารยะเพื่อสร้างความชอบธรรมในการขับเคลื่อนต่อไป การขับเคลื่อนทางการเมืองเพื่อให้เกิดสิ่งที่ถูกต้องในสังคมนั้นควรเกิดโดยการกระทำที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE





กำลังโหลดความคิดเห็น