xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจากจุดจบของคณะรัฐประหารในอดีต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ยังไม่มีใครทราบว่าจุดจบของคณะรัฐประหารครั้งล่าสุดจะเป็นอย่างไร แต่สำหรับจุดจบของคณะรัฐประหารในอดีตนั้น ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็คง จะพอรู้อยู่บ้าง

บางคนต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม บางคนถูกยึดทรัพย์ เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร บางคนถูกประชาชนขับไล่ จนต้องหลบหน้าจากสังคม เช่น พลเอกสุจินดา คราประยูร บางคนถูกสังคมมองด้วยสายตาที่ดูแคลน เพราะภายหลังกลายเป็นลูกน้องของคนที่ตัวเองรัฐประหาร เช่น พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน

สาเหตุที่ทำให้แกนนำรัฐประหารในอดีตมีจุดจบในเชิงลบเช่นนี้มีหลายประการ

ประการแรก การทำในสิ่งเดียวกับที่ตนเองใช้เป็นเหตุผลสำหรับการรัฐประหาร คณะรัฐประหารหลายชุดใช้การทุจริตของนักการเมืองเป็นเหตุผล เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหาร ทำให้ได้รับสนับสนุนจากประชาชน เพราะประชาชนคาดหวังให้คณะรัฐประหารมาจัดการกับการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง แต่เมื่อเวลาผ่านไปปรากฏว่าคณะรัฐประหารและพวกพ้องก็กระทำการทุจริตเสียเอง จนถูก ยึดทรัพย์หลังจากสิ้นชีวิตหรือสิ้นอำนาจ

ประการที่สอง การกดทับและจำกัดเสรีภาพนานเกินไป คณะรัฐประหารบางชุดใช้กฎหมายกดทับเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนนานเกินไป จนทำให้ เกิดสภาพความอึดอัดคับข้องใจแผ่ขยายออกไปสู่สังคม และในที่สุดประชาชนก็ได้ลงแรงร่วมใจขับไล่ออกไป

ประการที่สาม แบบแผนความคิดและการกระทำของคณะรัฐประหารไม่แตกต่างจากนักการเมือง นั่นคือการเล่นพรรคเล่นพวก ดังจะเห็นได้จากการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและวุฒิสมาชิกในอดีต ล้วนแต่แต่งตั้งบุคคลตามใจชอบ ซึ่ง ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดเพื่อให้รางวัลหรือตอบแทนทางการเมือง และเป็นคนที่ไร้ความคิดเพื่อจะได้สั่งได้อย่างง่ายๆ คนเหล่านั้นจึงเป็นเพียงแค่ตรายาง

ฝ่ายนิติบัญญัติจำนวนมากที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารรับเงินเดือน โดยไม่ทำงานอะไร บางคนแทบไม่เข้าประชุมสภาเลย บางคนก็เข้าไปเพื่อยกมือสนับสนุนสิ่ง ที่รัฐบาลของคณะรัฐประหารต้องการเท่านั้น ไม่เคยแสดงความคิดเห็นหรือท้วงติง เสนอทางเลือกใดๆทั้งสิ้น พฤติกรรมแบบนี้ก็ไม่แตกต่างจากนักการเมืองที่เป็นฝ่าย รัฐบาล ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่รู้จักแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลประโยชน์ส่วนรวมออกจากกัน

ประการที่สี่ การกลายเป็นสมุนของนักการเมือง คณะรัฐประหารจำนวนไม่น้อยที่ผันตนเองเป็นนักการเมือง ตั้งพรรคการเมืองโดยตนเองเป็นหัวหน้าพรรค แต่เกือบทั้งหมดประสบความล้มเหลวในเวทีเลือกตั้งและเวทีสภา จนทำให้พรรคที่ตนเองตั้งมากลายเป็นพรรคไม้ประดับในสภา และในที่สุดก็ถูกดูดกลืนเป็นสมุนของนักการเมืองที่ตนเองเคยโค่นล้มมากับมือ

ในอดีตมีคณะรัฐประหารน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศและได้รับการยกย่องชื่นชมจากประชาชนเพราะสิ่งที่หลงเหลือจากการรัฐประหาร คือปัญหาที่คนรุ่นหลังต้องมาตามแก้

สมัยจอมพลสฤษดิ์และถนอม นำประเทศไทยไปใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา จนไทยกลายเป็นลูกไล่ของสหรัฐฯ เปิดทางให้สหรัฐฯ เข้ามาขูดรีด กอบโกยทรัพยากร อันล้ำค่าของคนไทยจนแทบไม่เหลือให้ลูกหลาน มิหนำซ้ำยังนำประเทศไทยเข้าสู่ สงครามอินโดจีนใช้ไทยเป็นฐานทัพสำหรับ เครื่องบินขนระเบิดไปทิ้งใส่ประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยจึงถูกมองว่าเป็นลูกสมุนของจักรวรรดินิยม ไม่เป็นที่ไว้วางใจของประเทศเพื่อนบ้าน จนมีการปะทะกันหลายครั้งในภายหลัง

สมัยจอมพลถนอม มีการออกกฎหมายให้สัมปทานบริษัทต่างชาติในการขุด น้ำมันในลักษณะที่เสียเปรียบ จนกลายมาเป็นปมปัญหาที่คนรุ่นหลังยังตามแก้กันไม่จบไม่สิ้น

สมัยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์และพลเอกสุจินดา คราประยูรก็นำไปสู่การเข่น ฆ่าสังหารประชาชนจำนวนมากในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี2535และทำให้เกียรติภูมิของกองทัพโดยรวมตกต่ำไประยะเวลาหนึ่ง

สมัยพลเอกสนธิ บุญรัตกลิน ก็ประนีประนอมกับระบอบทักษิณ ส่งผลให้ ระบอบทักษิณฟื้นตัวและทวีความแข็งแกร่งขึ้น สร้างความวุ่นวายเดือดร้อนแก่สังคมทุกระดับ ความขัดแย้งขยายบานปลายไปถึงระดับครัวเรือน แตกแยกกันทั้งสังคม และที่น่าอับอายคือ บุคคลในคณะรัฐประหารชุดนี้หลายกลายเป็นผู้สนับสนุนระบอบทักษิณเสียเองในภายหลัง

อันที่จริงความล้มเหลวของคณะรัฐประหารมีปฐมเหตุมาจากการขาดเจตจำนง สำนึกแห่งพันธกิจเพื่อบ้านเมือง และวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศของคณะผู้ก่อการ หรือบางคณะอาจมีเจตจำนงอยู่บ้างในช่วงเริ่มต้น หากแต่เมื่อครองอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างยาวนาน อาการเสพติดอำนาจจึงเกิดขึ้น และมีแนวโน้มในการใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องไม่แตกต่างจากนักการเมืองที่ตนเองล้มล้างไป

บทเรียนที่เกิดขึ้นของคณะรัฐประหารในอดีตจึงเป็นเรื่องที่คณะรัฐประหารในปัจจุบันจะต้องสรุป และดำเนินการอย่างระมัดระวัง อย่าให้ซ้ำรอยกงล้อแห่งประวัติศาสตร์ เพราะหากเหตุการณ์พัฒนาการไปในลักษณะเดิมดังในอดีต อนาคตของคณะรัฐประหารชุดปัจจุบันก็อาจมีจุดจบอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่แตกต่างจากอดีตมากนัก

สองเดือนที่ผ่านมาหลังจากที่ คสช. ยึดอำนาจ หากพิจารณาในแง่เจตจำนงและพันธกิจเพื่อบ้านเมืองก็ดูเหมือนจะพอมีอยู่บ้างในบางเรื่อง แต่สำหรับวิสัยทัศน์ในการวางรากฐานสำหรับการปฏิรูปประเทศยังไม่ชัดเจนนัก

การทำงานในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาจะเน้นไปที่การสร้างพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ของการปรองดอง มากกว่าที่จะดำเนินการในเชิงเนื้อหาของการปรองดองอย่างแท้จริง

ที่พอจะใช้ได้หน่อยคือการโยกย้ายข้าราชการที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หลายคนที่ถูกย้ายไปก็ตรงกับใจของประชาชน การโยกย้ายบุคคลที่สนับสนุนระบอบทักษิณออกจากตำแหน่งที่สำคัญนับว่าเป็นเรื่องที่ดีและควรทำอย่างยื่ง เพื่อให้คนดีมีคุณธรรมเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

ในด้านการจัดการกับกลุ่มก่อการร้าย ก็ทำได้พอประมาณ แต่ยังเป็นไปในลักษณะแยกส่วน ขาดการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบเชิงบูรณาการ จึงทำให้จับอาวุธและคนร้ายได้เพียงบางส่วนที่เป็นพวกปลายแถว ส่วนกลุ่มที่เป็นนักวางแผนและผู้บงการก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสืบสาวไปถึง หากกลุ่มที่เป็นแกนนำยังดำรงอยู่และยังมีทรัพยากรดุจเดิม การที่พวกนี้จะหามือทำงานก่อการร้ายในอนาคตอีกก็ไม่ใช่เป็นเรื่องยากอะไร

การจัดการกับการทุจริตโครงการจำนำข้าว ดำเนินการได้ตามสมควร แต่ยังไม่อาจสาวถึงกลุ่มผู้บงการที่แท้จริงได้ ส่วนการจัดการกับทักษิณ ชินวัตรยังไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมมากนัก ยังไม่มีการถอดยศ ยังไม่มีการยกเลิกหนังสือเดินทาง และยังไม่ดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้มาในทางที่ไม่ชอบของคนตระกูลนี้แต่อย่างใด

การเริ่มต้นของ คสช. ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเฉกเช่นกับการรัฐประหารหลายครั้งในอดีต เพราะว่าประชาชนเอือมระอากับการทุจริตประพฤติมิชอบและการเช่นพรรคเล่นพวกของนักการเมืองและข้าราชการประจำบางกลุ่ม แต่หากคณะรัฐประหารดำเนินการตามรอยนักการเมืองที่ตนเองโค่นล้ม ประชาชนก็จะเปลี่ยนจากสนับสนุนเป็นต่อต้านและขับไล่ดังที่เคยเกิดในอดีต

การแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ กรรมการองค์การต่างของรัฐสมาชิกสภานิบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาปฏิรูป จะเป็นสิ่งบ่งชี้สำคัญประการหนึ่งว่า กรอบคิดและแนวทางในการบริหารประเทศของ คสช. แตกต่างจากคณะรัฐประหารในอดีตหรือไม่

สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวทำนายที่ดีว่าในอนาคตของ คสช. จะมีจุดจบอย่างไร


จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
จอมพลถนอม กิตติขจร
กำลังโหลดความคิดเห็น