xs
xsm
sm
md
lg

กกต.สรุปปฏิรูปเลือกตั้งให้คสช. นิพิฏฐ์อัดแหลกจำกัดส.ส.2สมัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (8ก.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงข้อเสนอในการปฏิรูปการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่กกต. สรุปเสนอคณะทำงานด้านการปฏิรูป ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า หลังจากเสนอข้อสรุปดังกล่าวไปแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.จะพิจารณา และไม่ว่าคสช.จะให้กกต.เข้าไปร่วมเป็นกรรมการปฏิรูป หรือร่วมในสภาร่างกฎหมายหรือไม่ก็ตาม กกต.ก็พร้อมที่จะทำงานสนองนโยบายคสช. ตามเจตนาที่ต้องการให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบ ด้วยการปฏิรูปกฎหมายที่คิดว่าเป็นอุปสรรค ปิดช่องไม่ให้คนทุจริตเข้ามาสู่อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ซึ่งทั้งหมด กกต. พร้อมให้ความร่วมมือในการชี้แจงข้อมูลต่างๆ ในชั้นที่จะมีการยกร่างกฎหมาย แต่ทั้งนี้คิดว่าข้อ เสนอที่กกต.ส่งไปนั้น มีการตอบคำถามที่ชัดเจนในทุกประเด็นแล้ว
"แต่ปัญหาของการเลือกตั้ง และปัญหาของบ้านเมืองมันยังมีอีกมาก ข้อเสนอครั้งนี้คงยังแก้ไม่หมด เพราะมันละเอียดอ่อน และหลายจุดยังไปโยงกับการทำงานของฝ่ายอื่น จึงต้องค่อยๆ แก้กันไป ซึ่งหลังจากที่ตอบคำถามไปแล้ว กกต.ก็จะเสนอการแก้กฎหมายลอตใหญ่ ว่าควรจะทำยังไง ต้องแก้ตรงไหน"

**จัดระบบการหาเสียงอย่างเท่าเทียม

ประธาน กกต. ยังกล่าวว่า แนวคิดในการให้ได้คนดีเข้ามาบริหารบ้านเมืองที่กกต.เสนอไป ได้ขอให้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะคนที่เคยทุจริตการเลือกตั้ง เคยค้ายาเสพติด หมิ่นสถาบันฯ จนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คิดว่าจำเป็นต้องกำจัดคนเหล่านี้ให้พ้นจากวงการเมือง แต่จะทำได้แค่ไหน อยู่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน
ส่วนการส่งเสริมคนดีเข้าสภานั้น ก็จะให้ช่วยสนับสนุนในเรื่องของการหาเสียง ให้ผู้สมัครที่มีเงิน หรือไม่มีเงิน ก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในการหาเสียง เพราะคนมีความรู้ความสามารถหลายคน ก็ไม่ได้ร่ำรวย กกต.ก็มีแนวคิดว่า อาจจะจัดสถานที่ปิดป้าย สถานที่หาเสียงเหมือนญี่ปุ่น ไม่ใช่ปล่อยให้คนมีเงินติดป้ายได้มากกว่า ติดได้ทุกที่ อย่างที่ผ่านมา
"ถ้าถามว่ารูปแบบการเลือกตั้งของประเทศไหนดี ก็ต้องบอกว่ายังไม่มีของประเทศไหนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย เราจึงต้องเอาวิธีของเรามาใช้ เพียงแต่เอาบางส่วนของต่างประเทศมาประกอบ ที่ผ่านมาเราปฏิรูปกันมาตั้งแต่ปี 2475 มาปี 2540 และปี 2550 หยิบของประเทศนั้นประเทศนี้มาใช้ ที่สุดก็ยังต้องมาปรับแก้ให้เข้ากับวัฒนธรรมของบ้านเรา" ประธานกกต. กล่าว

** สรุปข้อเสนอให้คสช.แล้ว

ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ประธานกกต.จะลงนามหนังสือข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือกตั้ง ในบ่ายวันที่ 8 ก.ค. แล้วส่งถึงคณะทำงานด้านการปฏิรูปของคสช. โดยหนังสือจะมีเนื้อหาประมาณ 10 หน้า เสนอข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละแนวทาง ของกฎหมายแต่ละฉบับ ว่าควรมีการปรับปรุงอย่างไรบ้าง ไม่ได้มีการฟันธง เช่น ในเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี ก็เสนอทั้งข้อดีข้อเสีย นายกฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และการสรรหาผ่านระบบรัฐสภา หรือการจัดตั้งพรรคการเมือง ที่เสนอให้มีการหาสมาชิกพรรคให้ครบ 5 พันคน จัดตั้งสาขาพรรคใน 4 ภาคให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะรับจดแจ้งจัดตั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเพื่อให้การตั้งพรรคทำได้ยาก แต่เห็นว่าควรมีการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ให้สมบูรณ์ เสียก่อน เพื่อพรรคจะได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ของนายทุน ซึ่งในการพิจารณา กกต.ก็ได้นำรูปแบบของประเทศเยอรมนี ที่พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมาศึกษาด้วย เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กกต.ก็จะเร่งในการพิจารณาปรับปรุงข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญรวม 5 ฉบับ ให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุด แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต. ต่อไปที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเลือกตั้ง และจะรีบนำเสนอต่อ คสช.ต่อไป

** แนะตั้งศาลเลือกตั้งแบ่งเบาภาระกกต.

ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกกต. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการเลือกตั้ง ต้องไปแก้ที่ตัวบุคคล ตัวนักการเมืองหรือผู้ลงสมัครเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ก็ถือว่าดีอยู่แล้วในระดับหนึ่ง อาจมีการต้องปรับปรุงเรื่องการบริหารภายในของกกต. ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น และระดับชาติ โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของกกต.ประจำจังหวัด คงต้องมีการอบรมกันมากกว่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้การเมืองท้องถิ่นเข้าไปมีอิทธิพลกับกกต.ประจำจังหวัด
ทั้งนี้เห็นว่า ขณะนี้กกต.มีอำนาจและภาระมากเกินไป เพราะต้องคอยจัดการเลือกตั้งที่มีตลอดทั้งปี และยังต้องคอยพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง หรือพิจารณาคำร้องที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ซึ่งกกต.ทำหน้าที่เหมือนเป็นกึ่งผู้พิพากษา ดังนั้นเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของกกต. จึงเห็นว่าน่าจะมีการจัดตั้งศาลเลือกตั้ง ให้เป็นศาลพิเศษที่คอยพิจารณาคำร้องคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและยังเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการพิจารณาคำร้อง อีกทั้งหากมีศาลเลือกตั้งซึ่งแยกตัวออกมาจาก กกต. ก็น่าจะทำให้กกต.พ้นจากข้อครหาว่า เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะขณะนี้น่าจะมีการปฏิรูปเรื่องกระบวนการยุติธรรม แยกแยะอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน จะได้ไม่มีข้อกล่าวหาว่าสองมาตรฐาน

**อัดกกต.อ่อนหัด จำกัดวาระส.ส.2สมัย

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณี กกต. ลงนามและส่งเรื่องการพิจารณาแก้ไขปัญหา และข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งไปยัง คณะทำงานด้านการปฏิรูปของ คสช.ว่า ตนไม่เห็นด้วย และรู้สึกหงุดหงิดกับประเด็นที่ กกต.จะเสนอให้ส.ส.เป็นได้ 2 วาระ แต่ไม่เกิน 8 ปี และคิดว่าเป็นความคิดของกกต. ที่อาจเกิดขึ้นตอนบ่ายโมงครึ่ง หลังงีบหลับไปตอนบ่าย และเห็นว่า บ่ายนี้ไม่มีอะไรทำก็เลยเสนอไปอย่างนั้น
ขอให้กกต.ลองคิดดูว่า 1. ไม่มีประเทศประชาธิปไตยหลักๆ ประเทศไหน ที่จำกัดวาระฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะระบอบประชาธิปไตยต้องการฝ่ายนิติบัญญัติที่เชี่ยวชาญในการออกกฎหมาย และแก้ไขกฎหมาย รู้ปัญหาของประชาชน ฝ่ายนิติบัญญัติหากเลือกตั้งแล้วไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็ต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และตรวจสอบรัฐบาล หากเอาส.ส. สมัยแรก หรือไม่เกินสมัยที่สองตรวจสอบรัฐบาล รับรองปวกเปียกเหมือนขนมเปียกปูน ถ้าอย่างนั้นเสร็จรัฐบาล และ 2.สมมุติว่าเที่ยวหน้า พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และเป็นต่อ 2 สมัย พอถึงสมัยที่ 3 หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เป็นนายกฯ มา 2สมัย และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝ่ายค้านมา 2 สมัย ลงเลือกตั้งไม่ได้แล้ว เพราะจะเกิน 2 สมัย ตามที่กกต.กำหนด ก็ต้องเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ หากประชาธิปัตย์ชนะ จะได้นายกฯ และครม.ที่เพิ่งเป็นส.ส. สมัยแรกหมดทั้งชุด และจะได้ฝ่ายค้านที่ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.สมัยแรก
" ที่ผมออกมาเขียนเช่นนี้ กกต. ตามผมทันหรือไม่ หากตามไม่ทัน ขอให้ไปล้างหน้าด้วยน้ำแข็ง แล้วดื่มกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาลสักแก้วใหญ่ๆ คงนึกออกว่า เขาจำกัดแค่วาระของนายกฯ หรือประธานาธิบดีกัน แต่ไม่มีที่ไหนจำกัดวาระของส.ส. ดังนั้นขอเชิญสนุกสนานสำราญกัน ส่วนผมจะพูดอะไรได้ เดี๋ยวนี้รังเกียจนักการเมืองจะตายไป จะเขียนให้สมัครต่อ หรือเขียนไม่ให้สมัครต่อก็ได้ แต่ผมก็มีสิทธิหงุดหงิด กกต.เพราะสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ เรียกว่ามือใหม่ มือสมัครเล่น ลองไปเรื่อย เหมือนกำลังจะลองเอาเครื่องรถเบนซ์ ไปใส่ยันม่าร์ เอาเครื่องยันม่าร์ มาใส่รถเบนซ์ ยังไงยังงั้น" นายนิพิฏฐ์ ระบุ

**"นิคม"แนะกกต.ควบคุม ส.ว.สรรหาบ้าง

นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึง ข้อเสนอแนะจากกกต. ในส่วนของ ส.ว. ว่า น่าจะเป็นการคง ส.ว.เลือกตั้ง และสรรหาไว้เช่นเดิม แต่กรณีที่บอกว่า ปราชญ์ชาวบ้านไม่สามารถผ่านการเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ได้นั้น ตนอยากให้พิจารณาถึงภาระหน้าที่ของสภาสูงก่อน ว่าคืออะไร หน้าที่ของส.ว. คือ การกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งเราสามารถแต่งตั้งปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เข้ามาร่วมพิจารณาในคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ได้ และหากต้องการให้ปราชญ์ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในสภาสูง ผ่านการเลือกตั้ง ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแค่ไปแก้ข้อจำกัดคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะการแข่งขันการเลือกตั้งของส.ว. นั้น มีข้อกำหนดที่เคร่งคัดมากกว่าส.ส. โดยเฉพาะการหาเสียง ซึ่งไม่ได้สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างผู้สมัครฯ มากนัก
ขณะเดียวกันก็อยากขอให้ กกต. พิจารณาถึงการควบคุม ส.ว.สรรหา ด้วย เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า ส.ว.สรรหา ที่ได้มา มักไม่ตรงกับภาควิชาชีพที่เสนอชื่อมา บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีผลงานเป็นที่ยอมรับจากสังคมอย่างเห็นได้ชัด กลับไม่เคยถูกสรรหาเข้ามาทำหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ตนขอให้กกต.อย่างหลงประเด็น กกต.มีหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้งให้เสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ใช่ผู้รู้ หรือผู้มีประสบการณ์ในการแข่งขันการเลือกตั้งหากต้องการทำข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง ก็อยากให้เชิญฝ่ายการเมืองทั้งส.ส.และส.ว. เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ และเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น