xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภชัย” เสนอ คสช.เข้มคุณสมบัติ ส.ส. แบนพวกโกง-ล้มเจ้า “สดศรี” ปิ๊งตั้งศาลเลือกตั้งพิพากษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. (ภาพจากแฟ้ม)
ประธาน กกต.เผยเสนอ คสช.ปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้ง ปิดช่องไม่ให้คนทุจริตเข้าสู่อำนาจ เผยแนวคิดให้คนดีบริหารบ้านเมือง กำหนดคุณสมบัติ ส.ส.เข้มงวดขึ้น แบนพวกทุจริต-ค้ายา-หมิ่นสถาบัน “สดศรี” ชี้ กกต.ทำหน้าที่เหมือนเป็นกึ่งผู้พิพากษา แนะตั้งศาลเลือกตั้งแบ่งเบาภาระ พ้นครหาเลือกข้าง

วันนี้ (8 ก.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงข้อเสนอในการปฏิรูปการเมืองการเลือกตั้งที่ กกต.สรุปเสนอคณะทำงานด้านการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเลือกตั้งว่า หลังจากเสนอข้อสรุปดังกล่าวไปแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.จะพิจารณา และไม่ว่า คสช.จะให้ กกต.เข้าไปร่วมเป็นกรรมการปฏิรูปหรือร่วมในสภาร่างกฎหมายหรือไม่ก็ตาม กกต.ก็พร้อมที่จะทำงานสนองนโยบาย คสช.ตามเจตนาที่ต้องการให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบ ด้วยการปฏิรูปกฎหมายที่คิดว่าเป็นอุปสรรค ปิดช่องไม่ให้คนทุจริตเข้ามาสู่อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ทั้งหมด กกต.และสำนักงาน กกต.พร้อมให้ความร่วมมือในการชี้แจงข้อมูลต่างๆ ในชั้นที่จะมีการยกร่างกฎหมาย หากมีการขอ แต่ทั้งนี้คิดว่าข้อเสนอที่ กกต.ส่งไปนั้นมีการตอบคำถามที่ชัดเจนในทุกประเด็นแล้ว แต่ปัญหาของการเลือกตั้งและปัญหาของบ้านเมืองมันยังมีอีกมาก ข้อเสนอครั้งนี้คงยังแก้ไม่หมด เพราะมันละเอียดอ่อน และหลายจุดยังไปโยงกับการทำงานของฝ่ายอื่น จึงต้องค่อยๆ แก้กันไป ซึ่งหลังจากที่ตอบคำถามไปแล้ว กกต.ก็จะเสนอการแก้กฎหมายล็อตใหญ่ว่าควรจะทำยังไง ต้องแก้ตรงไหน

ประธาน กกต.ยังกล่าวว่า แนวคิดในการให้ได้คนดีเข้ามาบริหารบ้านเมืองว่า ที่ กกต.เสนอไปได้ขอให้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะคนที่เคยทุจริตการเลือกตั้ง เคยค้ายาเสพติด หมิ่นสถาบันจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คิดว่าจำเป็นต้องกำจัดคนเหล่านี้ให้พ้นจากวงการเมือง แต่จะทำได้แค่ไหนอยู่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ส่วนการส่งเสริมคนดีเข้าสภานั้นก็จะให้ช่วยสนับสนุนในเรื่องของการหาเสียง ให้ผู้สมัครที่มีเงินหรือไม่มีเงิน ก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในการหาเสียง เพราะคนมีความรู้ความสามารถหลายคน ก็ไม่ได้ร่ำรวย กกต.ก็มีแนวคิดว่าอาจจะจัดสถานที่ปิดป้าย สถานที่หาเสียงเหมือนญี่ปุ่น ไม่ใช่ปล่อยให้คนมีเงินติดป้ายได้มากกว่า ติดได้ทุกที่อย่างที่ผ่านมา

“ถ้าถามว่ารูปแบบการเลือกตั้งของประเทศไหนดี ก็ต้องบอกว่ายังไม่มีของประเทศไหนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย เราจึงต้องเอาวิธีของเรามาใช้ เพียงแต่เอาบางส่วนของต่างประเทศมาประกอบ ที่ผ่านมาเราปฏิรูปกันมาตั้งแต่ปี 2475 มาปี 2540 และปี 2550 หยิบของประเทศนั้นประเทศนี้มาใช้ ที่สุดก็ยังต้องมาปรับแก้ให้เข้ากับวัฒนธรรมของบ้านเรา” นายศุภชัยกล่าว

ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ประธาน กกต.จะลงนามหนังสือข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือกตั้งในบ่ายวันนี้ (8 ก.ค.) ถึงคณะทำงานด้านการปฏิรูปของ คสช. โดยหนังสือจะมีเนื้อหาประมาณ 10 หน้า เสนอข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทางของกฎหมายแต่ละฉบับว่าควรมีการปรับปรุงอย่างไรบ้าง ไม่ได้มีการฟันธง เช่น ในเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี ก็เสนอทั้งข้อดีข้อเสียนายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และการสรรหาผ่านระบบรัฐสภา หรือการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เสนอให้มีการหาสมาชิกพรรคให้ครบ 5 พันคน จัดตั้งสาขาพรรคใน 4 ภาค ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะรับจดแจ้งจัดตั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเพื่อให้การตั้งพรรคทำได้ยาก แต่เห็นว่าควรมีการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ให้สมบูรณ์เสียก่อน เพื่อพรรคจะได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ของนายทุน ซึ่งในการพิจารณา กกต.ก็ได้นำรูปแบบของประเทศเยอรมันที่พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมาศึกษาด้วย เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กกต.ก็จะเร่งในการพิจารณาปรับปรุงข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญรวม 5 ฉบับ ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุด แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต.ต่อไปที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเลือกตั้ง และจะรีบนำเสนอต่อ คสช.ต่อไป

ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต.เปิดเผยถึงกรณีที่ กกต.เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้แก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อนำไปใช้ในสภาปฏิรูปว่า การแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งต้องไปแก้ที่ตัวบุคคล ตัวนักการเมืองหรือผู้ลงสมัครเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ก็ถือว่าดีอยู่แล้วในระดับหนึ่ง อาจมีการต้องปรับปรุงเรื่องการบริหารภายในของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับชาติ โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ประจำจังหวัด คงต้องมีการอบรมกันมากกว่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้การเมืองท้องถิ่นเข้าไปมีอิทธิพลกับ กกต.ประจำจังหวัด

ทั้งนี้ เห็นว่าขณะนี้ กกต.มีอำนาจและภาระมากเกินไป เพราะต้องคอยจัดการเลือกตั้งที่มีตลอดทั้งปี และยังต้องคอยพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง หรือพิจารณาคำร้องที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ซึ่ง กกต.ทำหน้าที่เหมือนเป็นกึ่งผู้พิพากษา ดังนั้นเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของ กกต.จึงเห็นว่าน่าจะมีการจัดตั้งศาลเลือกตั้ง ให้เป็นศาลพิเศษที่คอยพิจารณาคำร้องคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และยังเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการพิจารณาคำร้อง อีกทั้งหากมีศาลเลือกตั้งซึ่งแยกตัวออกมาจาก กกต.ก็น่าจะทำให้ กกต.พ้นจากข้อครหาว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะขณะนี้น่าจะมีการปฏิรูปเรื่องกระบวนการยุติธรรม แยกแยะอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน จะได้ไม่มีข้อกล่าวหาว่าสองมาตรฐาน


กำลังโหลดความคิดเห็น