xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พ.ร.ป.(ตีตรวน)พรรคการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้เผยแพร่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับเบื้องต้นออกมา และได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนพรรคการเมืองไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น 

ปรากฏว่า มีอยู่ 4 ประเด็นหลักๆ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก คือ 1. จำนวนสมาชิกพรรคการเมือง ที่กำหนดว่าพรรคการเมืองต้องหาสมาชิกให้ได้อย่างน้อย 5,000 คนในปีแรก และต้องเพิ่มเป็น 2 หมื่นคน ภายใน 4 ปี 2. เรื่องทุนประเดิมในการก่อตั้งพรรคของผู้ริเริ่มคนละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท 3. สมาชิกพรรคต้องเสียค่าบำรุงพรรคคนละ 100 บาทต่อปี และ 4. บทกำหนดโทษ สำหรับผู้กระทำผิดตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ รุนแรงเกินไปหรือไม่ เพราะมีอัตราโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

ในเรื่องจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองนั้น ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดไว้ว่า ในการเริ่มต้นก่อตั้งพรรคนั้นต้องมีสมาชิกขั้นต่ำ 500 คน จากนั้นภายใน 1 ปี พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกขั้นต่ำ 5,000 คน และ ภายใน 4 ปี ต้องมีสมาชิกขั้นต่ำ 20,000 คน โดยเฉพาะมีการกำหนดไว้ด้วยว่า ห้ามพรรค หรือผู้ใดให้สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือเงิน หรือผลประโยชน์ เพื่อจูงใจให้คนเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งของเดิม กฎหมายพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 นั้นใช้แค่ 15 คน ก็สามารถเข้าชื่อขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองได้แล้ว

หมายความว่า หลังจากก่อตั้งพรรคได้แล้ว ทางพรรคจะต้องหาสมาชิกเพิ่มให้ได้เฉลี่ยปีละ 5,000 คน ซึ่งมีการมองว่า เงื่อนไขเช่นนี้ จะทำให้มีการตั้งพรรคการเมืองยาก เมื่อตั้งได้แล้วก็จะอยู่ยาก เพราะคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค ยังต้องมีองค์ประกอบเรื่องเงินค่าบำรุงพรรคเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กลุ่มที่มีแนวคิด มีอุดมการณ์เฉพาะทาง หรือผู้ที่คิดจะตั้งพรรคทางเลือก ตามอุดมการณ์เพื่อแก้ปัญหาสังคม หรือชุมชนในในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ จะมีโอกาสจัดตั้งและดำรงอยู่ได้ยาก

ส่วนเรื่องทุนประเดิมในการตั้งพรรค คนละ 2,000-500,000 บาทนั้น ถูกมองว่า มากเกินไปหรือไม่ และช่วงระหว่างขั้นต่ำกับขั้นสูงสุดนั้นห่างกันมากเกินไปหรือไม่ มีการเสนอว่าขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ 1,000 บาท เพื่อให้ผู้ต้องการร่วมก่อตั้งพรรคแต่มีปัญหาเรื่องเงินได้เข้าร่วมได้ ส่วนขั้นสูงสุดนั้นควรจะจำกัดไว้แค่ 200,000 บาท เพื่อมิให้ผู้ที่มีเงินทุนเข้ามามีอิทธิพลในพรรคมากเกินไป

ทั้งนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ได้เคยชี้แจงถึงหลักการที่ต้องให้สมาชิกพรรคการเมืองจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคการเมือง ที่ต้องจ่ายเงินประเดิม 2,000 บาท ว่า ถ้าจะมาตั้งพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมือง แต่ไม่มีเงินมาเป็นทุนเลย จะดำเนินการทางการเมืองได้อย่างไร การตั้งพรรคการเมือง จะต้องมีทุนพอสมควร และถ้าจะตั้งพรรคการเมืองโดยให้คนเพียง 2-3 คน เป็นผู้จ่ายเงิน แล้วจะเป็นพรรคการเมืองของประชาชนได้อย่างไร กรธ.ได้รับฟังจากทุกภาคส่วนแล้ว จึงอยากให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน จึงเห็นว่าการที่พรรคการเมืองจะเป็นของประชาชนได้ ประชาชนก็ต้องร่วมลงทุน เพราะขนาดจะทอดกฐินที่วัด คณะกรรมการร่วมทำบุญ ยังต้องออกเงินใส่ซองกันเลย

สำหรับข้อกำหนดที่สมาชิกพรรค ต้องชำระค่าธรรมเนียมการเป็นสมาชิกทุกปี ไม่น้อยกว่า 100 บาท หากไม่ชำระค่าสมาชิก 2 ปีติดต่อกัน จะขาดจากสมาชิกภาพนั้น เรื่องนี้ตัวแทนพรรคการเมืองไม่ค่อยมีใครเห็นด้วย มีการยกเอาภาวะเศรษฐกิจมาเป็นข้อโต้แย้งว่าเงิน 100 บาท สำหรับต่ออายุการเป็นสมาชิกพรรคนั้น ไม่ใช่เงินเล็กน้อยสำหรับคนจน และการที่ต้องชำระค่าสมาชิกทุกปี น่าจะเป็นเงื่อนไขที่จะขัดขวางความเข้มแข็ง ความมั่นคงของพรรคการเมืองได้ หรืออาจเป็นการเปิดโอกาสให้เป็นนายทุนของพรรค จ่ายเงินแทนสมาชิกพรรค ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ดังนั้น กรธ.ควรคำนึงถึงการเข้ามีส่วนร่วมด้วยความสมัครใจ มากกว่าจะเอาตัวเงินมาเป็นตัวตั้ง

ในส่วนของบทกำหนดโทษของร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมถึง 32 มาตรา ด้วยบทกำหนดโทษที่รุนแรง มีทั้งจำคุก 10 ปี 20 ปี จำคุกตลอดชีวิต ไปจนถึงประหารชีวิต ซึ่งก็มีหลายมาตรา ที่พรรคการเมืองอาจจะทำผิดโดยไม่เจตนา หรืออาจถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายตรงข้าม เช่น มาตรา 22 บัญญัติว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสมาชิก ให้กรรมการบริหารพรรค มีหน้าที่ควบคุม และกำกับดูแลไม่ให้สมาชิก หรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการในลักษณะที่อาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม หรืออาจเป็นคุณ หรือเป็นโทษ แก่บุคคลใดไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ถ้ากรรมการบริหารควบคุมสมาชิกไม่ได้ จนทำความผิด กรรมการบริหารต้องพ้นจากตำแหน่ง และห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรค 20 ปี และอาจถูกลงโทษจำคุกอีก 10 ปีก็ได้ ถ้าพรรคใดมีสมาชิกนับล้านคน กรรมการบริหารพรรค จะควบคุมสมาชิกอย่างไร หรือ อาจถูกฝ่ายตรงข้ามแฝงตัวเข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อทำผิดจนเป็นเหตุให้กรรมการบริหารพรรคต้องออกจากตำแหน่ง และถูกลงโทษจำคุกด้วย

อีกมาตราหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากคือ มาตรา 45 ไม่ให้พรรค ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค หรือสมาชิกพรรค เรียกรับสินบนจากผู้ใด เพื่อแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะแต่งตั้งให้ผู้นั้นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีการกำหนดโทษไว้อย่างรุนแรง คือ จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตนั้นถูกมองว่าอัตราโทษรุนแรงเกินไป จะเกิดการกลั่นแกล้งกัน มีคดีให้สอบสวนกันไม่หวาดไหว ทั้งจากคนในพรรคเดียวกันและจากพรรคอื่น เนื่องจากวันนี้คนไทยยังแย่งอำนาจกันอยู่ การกลั่นแกล้งกัน ต้องเกิดแน่ และมีวิธีการที่แยบยลมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง การไม่ยอมให้มีการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งจะทำให้เสียงข้างน้อยจะไม่มีทางไปต่อกรกับเสียงข้างมากได้ ซึ่งนอกจากจะขัดกับหลักประชาธิปไตยแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ เพราะสิทธิในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น การที่ กรธ.ระบุเรื่องที่ประชาชนออกมาชุมนุม ถือว่าผิดกฎหมาย และผิดระบบพรรคนั้น เท่ากับไม่ยอมรับหรือไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตยของโลก 
 
ในเวทีที่กรธ. เปิดรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ไม่มีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมสังฆกรรมด้วย โดยอ้างว่าถึงเสนอความเห็นไปก็ป่วยการ กรธ.คงไม่ฟัง เพราะได้ออกแบบตามพิมพ์เขียวที่คสช.กำหนดไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ผ่านทางสื่อมวลชน เพื่อสะท้อนความเห็นไปยังกรธ. โดยนายคณิน บุญสุวรรณ ประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ได้สรุปในประเด็นที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็คล้ายๆ กับสมาชิกพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เสนอใน 4 ประเด็น ที่กล่าวมาข้างต้น แต่จะมีเพิ่มเติม อาทิ

บทเฉพาะกาล มาตรา 112(4 ) บังคับให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้ว จัดให้สมาชิกพรรคการเมืองที่ประสงค์จะยังเป็นสมาชิกต่อไปชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พ.ร.ป.ใช้บังคับ มิฉะนั้นสมาชิกผู้นั้นจะพ้นจากสมาชิกภาพ และให้พรรคการเมืองแจ้งต่อ กกต. พร้อมแสดงหลักฐานการชำระค่าบำรุงภายใน 15 วัน และถ้าสมาชิกพรรคมีเหลือไม่ถึง 5,000 คน ให้พรรคการเมืองนั้นเป็นอันสิ้นสภาพไป ถือว่าไล่สมาชิกพรรคทางอ้อม พรรคขนาดเล็ก ขนาดกลาง ที่มีอยู่แล้ว ต้องสิ้นสภาพพรรคการเมืองไปเกือบหมดแน่ เพราะจะเหลือสมาชิกพรรคไม่ถึง 5,000 คน

การบังคับให้พรรคที่มีสมาชิกในจังหวัดใดเกินกว่า 100 คน ต้องตั้งตัวแทนพรรค ประจำจังหวัด และถ้าไม่ตั้งจะถูกปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องนั้น จะเป็นเงื่อนไขที่ขัดขวางไม่ให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง

การกำหนดว่า พรรคการเมืองจะต้องสิ้นสภาพพรรคการเมือง ถ้าไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไปสองครั้งติดต่อกัน หรือเป็นเวลา 8 ปี ติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากันนั้น มองผิวเผินอาจจะเห็นว่าดี เพราะพรรคการเมืองจะได้มีน้อยพรรค แต่ถ้าพิจารณาตามหลักการที่ว่า พรรคการเมืองเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ ทางการเมืองของประชาชนแล้ว ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะการสะท้อนเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนนั้น ทำได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นจะต้องส่งสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น อาจจะสะท้อนให้เห็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก็ได้ ประชาชนจะใช้ พรรคการเมืองทำอะไรในทางการเมืองก็ได้ ถ้าพรรคการเมืองนั้นไม่ถนัด หรือไม่สนใจ หรือไม่พร้อมที่จะส่งสมัครรับเลือกตั้ง ก็สมควรให้พรรคนั้นดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไป ไม่ใช่ให้สิ้นสภาพพรรคการเมืองไป

ประเด็นสำคัญคือ หลักการและสาระสำคัญส่วนใหญ่ของร่าง พ.ร.ป.นี้ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ" เพราะการตั้งกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ มากมาย รวมทั้งบทกำหนดโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุนั้น ถือว่าขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้ นายมีชัย ได้อธิบายถึงขั้นตอนหลังจากนี้ว่า กรธ.จะไปพิจารณา ปรับปรุงเนื้อหา ตามที่ได้รับฟังความคิดเห็นมา ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ทันทีที่รัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้ โดยสนช.จะมีเวลาพิจารณา 60 วัน 

แต่อย่าได้คาดหวังไว้สูงว่าจะมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง "ปลดล็อก" ไปตามข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองเสียทั้งหมด เพราะหลักการและเป้าประสงค์ ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการสิ้นสภาพของพรรคการเมือง และบทลงโทษต่างๆ นั้น "ถูกล็อก" ไว้แล้ว โดยร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านการทำประชามติ



กำลังโหลดความคิดเห็น