รองนายกรัฐมนตรีย้ำนัดคุยประชามติพรุ่งนี้ แต่ไม่ถกหากผล รธน.ไม่ผ่าน จ่อหยุดราชการวันโหวต เผยนายกฯ กำชับทุกกระทรวงส่งความเห็นรัฐธรรมนูญ ขอดูก่อนบินไปมะกัน บอกไม่ได้บ่นพวกบิดเบือน โยน กรธ.ไล่แจง รอร่างสุดท้ายค่อยช่วย เป็นไปได้แก้ฉบับชั่วคราวมากว่า 1 ครั้ง แต่ถ้าหยิบ รธน.เก่ามาปรับใช้ก็ไม่ต้องทำประชามติ แย้มร่นกฎหมายลูกเหลือแค่ 3 ฉบับ คาดรัฐมนตรีคลังใช้เวลา 7 วันเช็กผลสอบข้อเท็จจริงคดีจำนำข้าว
วันนี้ (9 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.15 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.ได้สอบถามถึงงบประมาณในการจัดทำประชามติ ซึ่งมีสำนักงบประมาณเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากในวันที่ 18 ก.พ. รัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมประจำปี 2559 ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยการทำประชามติจะใช้งบอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 10 ก.พ. เวลา 15.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะเป็นพูดคุยในส่วนของธุรการ เช่น ความชัดเจนในการนับคะแนนเสียงประชามติว่าจะใช้เสียงข้างมากของมาใช้สิทธิ์หรือเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ หากมีความเข้าใจไม่ตรงกัน จะต้องหาความชัดเจนให้ได้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาหรือศาลรัฐธรรมนูญตีความความ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดความชัดเจน ขณะเดียวกันจะหารือเกี่ยวกับงบประมาณที่จะใช้ในการพิมพ์เอกสารแจกประชาชนให้ได้ 80% ของจำนวนครัวเรือน จากนั้นจึงจะกำหนดวันลงประชามติได้ ซึ่งวันลงประชามติสามารถกำหนดได้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้ว่าจะกำหนดวันได้ต่อเมื่อมีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญจนครบ 80% แล้ว แต่ที่แน่ๆ วันลงประชามติจะต้องเป็นวันหยุดราชการ
นายวิษณุกล่าวว่า นอกจากนี้ ในวันที่ 10 ก.พ.เป็นวันสุดท้ายที่กระทรวงต่างๆ จะส่งความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญมายังตนเพื่อรวบรวมให้นายกฯ ลงนาม ขณะนี้มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหมส่งมาแล้ว และรัฐมนตรีหลายกระทรวงระบุว่าได้ส่งความเห็นมาแล้ว ซึ่งนายกฯ กำชับให้ทุกกระทรวงส่งความเห็นมาเนื่องจากต้องการเห็นก่อนเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14-18 ก.พ.
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ เป็นกังวลหรือไม่ หลังจากที่มีบางเว็บไซต์บิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า นายกฯ ไม่ได้บ่น เปรย หรือปรารภ แต่จะกังวลหรือไม่ตนไม่ทราบ นายกฯ บอกว่าการทำความเข้าใจคือ สิ่งจำเป็น วันนี้เป็นเพียงร่างแรก ซึ่งหาก กรธ.ไม่ชี้แจงเองอาจจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้น หากจะให้คนช่วยชี้แจง คงต้องเป็นร่างสุดท้ายที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากนี้ นายกฯ บอกว่าการแสดงความเห็นเป็นเรื่องดี หวังว่า กรธ.จะรับฟัง และ กรธ.เองก็บอกว่าจะรับฟัง
เมื่อถามว่า ในการประชุมเรื่องประชามติจะหารือถึงกรณีหากประชามติไม่ผ่านด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คงไม่ เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะต้องหารือในเวทีดังกล่าว ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยได้หารือเรื่องนี้บ้างแล้วอย่างไม่เป็นทางการ แต่ยังหาสาระที่เป็นทางการและข้อยุติไม่ได้ เพราะมีทางเลือกจะบอกว่าไม่คุยก็เป็นการโกหก มีคนถามมามาก แค่ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน และนายกฯ ยืนยันว่าปี 60 ต้องมีการเลือกตั้งจนได้ เมื่อถามต่อว่า มีความเป็นไปได้ที่จะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมากกว่า 1 ครั้งใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นไปได้ ทั้งแก้ครั้งเดียวและแก้คนละครั้ง ซึ่งการแก้เพื่อทำประชามติเป็นเรื่องด่วนมาก แต่การแก้ว่าจะทำอย่างไรถ้าประชามติไม่ผ่านนั้นยังมีเวลา
รองนายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ การแก้เร็ว แก้ช้า มีข้อดีข้อเสียอยู่ หากแก้เร็วเป็นการบอกให้รู้ว่าถ้าไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร เกิดการเดิมพันและเกิดการเทียบเคียงกันขึ้น เราไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปร แต่ถ้าคิดว่าทำม้วนเดียวจบ ไม่ต้องเสียเวลาสภา ก็ทำม้วนจบ จะได้ไม่เสียเวลาสภาหลายครั้ง แก้เสียเลยก็ได้ มันมีทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อน โดยมีการคำนวณแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งนี้ ใช้เวลา 1 เดือน และไม่ว่าจะแก้ก่อนหรือหลัง ก็ไม่น่าจะทำให้ใครเดือดร้อนอะไร และดีเสียอีก การทำประชามติจะได้เป็นการลงตามความเข้าใจ ความบริสุทธิ์ใจ
“ข้อเสนอที่จะให้เอารัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้มาใช้ จะเอาฉบับไหนมาก็ต้องดูผลประชามติด้วยเช่นกัน หากคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสูงกว่ารับร่างไม่ได้มาก แสดงว่ามีคนเห็นส่วนดีของมัน และจะเป็นตัวชี้วัดอยู่เหมือนกันว่าจะแก้ก่อน หรือแก้หลังประชามติ ถ้าสมมุติใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวทีหลังรู้ผลประชามติ จะต้องใช้เวลา 1 เดือนว่าจะเอาอย่างไร คราวนี้เอาอย่างไรก็อย่างนั้น แต่จะช้าอย่างไรนายกฯ ก็ให้เลือกตั้งในปี 60 ใกล้เคียงกับโรดแมป” นายวิษณุกล่าว
ต่อข้อถามว่า หากใช้วิธีหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับแก้ต้องทำประชามติอีกหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ถ้าหยิบรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาแก้ก็ไม่ต้องทำประชามติอีก ประกาศใช้เลย เพราะถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่รู้จักจบ ตอนนี้มองว่าไม่เยิ่นเยอแล้ว เพราะทุกอย่างโดนบีบเข้ามาตามกระบวนการ
รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ยังกล่าวอีกว่า จุดเดียวที่จะทำให้โรดแมปเร็วขึ้นคือ การร่นเวลาการทำกฎหมายลูก ซึ่งดูไปดูมาการทำกฎหมายลูกอาจจะ 3 ฉบับก็พอ ซึ่งตอนนี้เป็นความคิดที่จะเสนอไปยัง กรธ. แต่ยังไม่ได้เขียน โดยตัวเลขนี้เป็นเพียงการสมมุติ ซึ่งอาจจะฉบับเดียวก็ได้อยู่ที่ว่าจะเอาอะไรมารวมกัน ถ้าเรานึกถึงกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายที่มา ส.ว. กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จะมี 4 ฉบับ อีก 6 ฉบับประกาศเลือกตั้งแล้วก็ทำได้ เพราะกว่าจะหาเสียงและกว่าจะอะไรกันอีกหลายเดือน อีกทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ยังอยู่ เลือกตั้งแล้วกว่าจะมีรัฐบาลมาอีกเป็นเดือน ตอนนี้ตนคิดเองว่ามี 4 ฉบับ แต่หากเอากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายที่มา ส.ว. ไปรวมเป็นฉบับเดียวกัน จะเหลือแค่ 3 ฉบับ แต่หากเอากฎหมายกกต. ไปรวมกับกฎหมายพรรคการเมืองจะเหลือแค่ 2 ฉบับ แต่ถ้าเอาทั้งหมดยำรวมกันเป็นฉบับเดียวจะเหลือ 1 ฉบับ อันนี้เป็นเทคนิคของเขา แต่เรากำลังพูดว่าอะไรคือสาระที่ต้องการ
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าวได้ส่งผลสอบข้อเท็จจริงไปให้ รมว.คลังเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง รมว.คลังจะต้องตรวจสอบ เพราะเอกสารที่ส่งมาหนามาก โดยใช้เวลา 7 วัน พอ รมว.คลังทำความเห็นเสร็จจะเสนอไปที่นายกรัฐมนตรีเพื่อลงนาม จากนั้นจะส่งไปที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน โดยคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งจะเป็นผู้สรุปตัวเลข ซึ่งใช้สำนวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดประกอบการพิจารณา และมีคำสั่งออกมา