รองนายกฯ เผย ใกล้ AEC แต่การเมืองยังวุ่น รับ รธน.หนามยอกอก เร่งแก้ กม.เพื่อความเป็นธรรม แย้มไม่ทันส่อโดนใบเหลือง 15 ใบ แจง เส้นตาย 6 ส.ค.กมธ.ยกร่างฯ ส่ง รธน.ให้ สปช.ชี้ชะตา ถ้าผ่านคาดได้รัฐบาล พ.ค.ปีหน้า ยังไม่ฟันธงประชามติเหตุต้องทุ่มงบถึง 3 พันล้าน-ยืดเวลาเลือกตั้ง แต่ถ้า ปชช.ว่าคุ้มก็ไร้ปัญหา รับ สอบรายชื่อ ขรก.โกงแล้ว รอชง “ประยุทธ์” แนะ ศอตช.บัญชีต้องเรียบร้อยกว่านี้
วันนี้ (8 พ.ค.) ที่ห้องแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “โรดแมปเศรษฐกิจ-การเมืองไทย” ว่าการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน มีจำนวนมากที่ปรับตัวไม่ได้ต้องพ่ายแพ้ บางคนจมลง บางคนท้อถอย บางคนหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ขณะที่ประเทศไทยถึงช่วงจุดเปลี่ยน เหลือเวลาอีก 7 เดือนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ยังไม่ได้ทำอะไร เพราะมัวแต่คิดเรื่องการเมือง รัฐธรรมนูญที่เป็นหนามยอกอกให้เสร็จ ขณะที่ คสช.เข้ามากำหนดวาระแห่งชาติกำหนดกฎหมายที่ต้องเร่งแก้ โดยเฉพาะกลุ่มกฎหมายกระบวนการยุติธรรม ที่นายกฯเร่งเพราะเป็นรากเหง้าของความเป็นธรรมในสังคม ต้นเหตุความขัดแย้ง และกฎหมายที่ต่างชาติประเทศเข้าคิวทวงถาม อาทิ การเซ็นสัญญาเรื่องข้าวกับประเทศจีน เรื่องกรมการบินพลเรือน การค้างาช้าง การค้ามนุษย์ หากผลักดันไม่ทันอาจได้รับใบเหลืองพร้อมๆ กันถึง 15 ใบ
นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯ ได้ส่งร่างแรกไปให้ทุกส่วนดู กำหนดส่งกลับวันที่ 25 พ.ค.หลังจากนั้น กมธ.ยกร่างฯ มีเวลา 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.ถึง 23 ก.ค.พิจารณาข้อแก้ไข และอีก 15 วันจนถึงวันที่ 6 ส.ค. กมธ.ยกร่างฯ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายให้ สปช.ลงมติ หากลงมติว่าไม่รับร่าง ทุกอย่างก็จะคว่ำหมดและเริ่มใหม่ แต่งตั้ง กมธ.ยกร่างฯ และ สปช.ใหม่ โดยที่คนเก่าทั้งหมดไม่มีสิทธิกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีก แต่หาก สปช.ลงมติให้ผ่าน ก็ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยวันสุดท้ายคือวันที่ 4 ก.ย.ที่คาดว่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายวันดังกล่าว หากพระราชทานลงมาในเดือน ก.ย.ก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง ต้องออกกฎหมายลูก คือกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมาย กกต. คาดว่าเสร็จเดือน ธ.ค.จากนั้น ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 3 เดือน คือ มี.ค.59 รู้ผลเลือกตั้งเดือน เม.ย. 59 จากนั้นเปิดสภาผู้แทนราษฎร คาดเดือน พ.ค. 59 จะมีรัฐบาลใหม่ และหลังจากรัฐบาลใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณเรียบร้อย รัฐบาลชุดนี้และคสช.ต้องสิ้นสุดการทำงาน
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนการทำประชามติที่ คสช.และครม.ยังไม่ตัดสินใจเพราะมีจุดอ่อนและจุดแข็ง จุดอ่อนคือต้องใช้งบประมาณถึง 3,000 ล้านบาท ต้องจ่ายค่าดำเนินการเลือกตั้งอีก 3,000 ล้านบาท หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะเหมือนที่ผ่านมาก็ต้องเสียเงินอีก 3,000 ล้านบาท ต้องยืดเวลาเลือกตั้งออกไปอีก 3 เดือน ประมาณเดือน ส.ค. หรือ ก.ย. 59 ถ้าประชาชนคิดว่าทนได้กับการเสียเงิน 3,000 ล้านบาทและยืดเวลาเลือกตั้งไป 3 เดือนแล้วคุ้มก็ไม่ว่าอะไร แต่หากทำประมาติไม่ผ่านก็ต้องกลับมาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ซึ่งอาจยาวนานกว่า 3 เดือนแล้วหากมีการทำประชามติอีกครั้งก็ต้องใช้เวลาอีก ส่วนจุดแข็งคือ ตอบสนองความต้องการของประชาชน สร้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญ เป็นเกราะคุ้มกันให้แก้ไขได้ยากขึ้น ในวันที่ 19 พ.ค.ประชุมร่วม ครม.และคสช.จะมีการตัดสินใจว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือไม่ แต่ยังไม่มีการพูดถึงการทำประชามติ ถ้าตัดสินใจว่าไม่แก้ไขคือปิดประตูทำประชามติ
นายวิษณุยังกล่าวถึงการตรวจสอบบัญชีรายชื่อข้าราชการที่พัวพันการทุจริตชุดแรก ตามที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.พิจารณาว่า ตนได้ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ตามที่นายกฯ มอบหมาย แต่ยังไม่ได้ส่งกลับไปที่นายกฯเพียงแต่เมื่อวันที่ 6 พ.ค.รายงานทางวาจาให้นายกฯ ทราบเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อส่งกลับไปที่นายกฯ ก็ไม่ต้องดูรายละเอียดอะไรอีก เซ็นได้เลย อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบบัญชีแรกพบว่ามีปัญหาหลายจุด ได้เตือนทาง ศอตช.ว่าบัญชีชุดที่สองต้องจัดระเบียบให้ดีกว่านี้ เพราะบางคน เพราะบางคนตอนทำผิดอยู่อีกจังหวัดหนึ่ง แต่ขณะนี้ย้ายไปประจำอีกจังหวัดหนึ่ง หากถึงเวลาจัดการจะไปออกคำสั่งย้ายจากจังหวัดเดิมไม่ได้