xs
xsm
sm
md
lg

“พระสุเทพ” ติง นักการเมืองเห็นแก่ตัว หนุน พรรคเป็นของ ปชช.ค้านกลุ่มการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระสุเทพ ปภากโร (แฟ้มภาพ)
อดีตกำนันเทือก ชี้ พรรค - นักการเมือง เห็นแก่ตัวเกินไป ควรนึกถึงชาติ หนุน เขียนใน รธน. สิทธิพลเมืองจัดตั้งพรรคการเมือง บริหารเอง กันไม่ให้ใครหรือครอบครัวใดเป็นเจ้าของ คนบริจาคไม่มีสิทธิบริหาร ยึดไพรมารี่โหวตให้แต่ละพื้นที่ถกกันเลือกผู้สมัคร เลิกให้บิ๊กของพรรคเลือก ชี้ ตั้งกลุ่มการเมือง ส่งผลร้าย แนะ แก้เลือกตั้งด้วยต้องบริสุทธิ์ ซื้อเสียงถือว่าทำลายปชต.มีความผิด

วันนี้ (7 พ.ค.) พระสุเทพ ปภากโร (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เวลานี้มีปัญหา เรื่องความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในบางมาตราโดยเฉพาะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองคิดเรื่องตัวเองมากเกินไป เห็นแก่ตัววันนี้นักการเมืองและพรรคการเมือง ควรคิดเรื่องประเทศชาติ ยกตัวอย่างนะว่า เช่นเราเคยพูดกันใน กปปส. ว่า กติกาบ้านเมืองต่อไปถ้าจะต้องแก้ก็ต้องแก้ว่า ต่อไปนี้พรรคการเมืองที่จะมีในประเทศไทย จะมีได้เฉพาะพรรคการเมืองที่มีประชาชนเป็นเจ้าของพรรคเท่านั้น หมายความว่า ประชาชนที่มีอุดมการณ์ มีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเดียวกันสามารถรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองได้ ประชาชนกลุ่มนั้น จะต้องมีจำนวน ไม่น้อยกว่า 2 - 3% ของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทั้งประเทศ เช่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยมี 4 ล้านคน อย่างน้อย 3% ก็ต้องมี 1.2 ล้านคน รวมตัวกันเป็นเจ้าของพรรค

“ความเป็นเจ้าของพรรค ไม่ใช่เป็นสมาชิกพรรคอย่างที่เราเคยเห็นมา ไม่ใช่คนมีเงินแล้วมาตั้งพรรคการเมืองแล้วไปกวาดเอาคนมาเป็นสมาชิกพรรค แต่ที่เรากำลังพูดถึงคือลงหุ้นกัน เป็นเจ้าของพรรค ประชาชนที่รวมกันตั้งพรรคการเมืองจะต้องร่วมกันรับผิดชอบเรื่องการบริหารพรรค การกำหนดนโยบาย การกำหนดตัวบุคคลที่จะมาบริหารพรรค มากำหนดกันเลยว่าบุคคล หรือ คณะบุคคลที่จะเข้ามาบริหารจัดการพรรคต้องมาจากการลงคะแนนโดยตรงของบรรดาเข้าของพรรค โดยเขาจัดการกันภายใน เพื่อป้องกันไม่ไห้เอานโยบายบ้าบอ อะไรมาไม่รู้ แล้วทำให้ประเทศชาติเสียหาย เพื่อป้องกันไม่ให้คนใดคนหนึ่ง หรือ ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง เข้ามาครอบงำพรรคการเมือง” พระสุเทพ กล่าว

พระสุเทพ กล่าวต่ออีกว่า เจ้าของพรรคจะต้องมีความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นเจ้าของพรรค คือ คุณต้องลงทุนด้วยเงินของคุณ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของพรรค เช่นอาจจะต้องกำหนดในกฎหมายเลย ว่า คนที่เป็นเจ้าของพรรคการเมืองที่เข้าชื่อกันจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองจะต้องมีความรับผิดชอบว่า คุณจะต้องสละรายได้ เป็นค่าบริหารจัดการพรรค ทำแบบนี้คนที่มีรายได้ต่างกันก็มีสิทธิ์เท่ากันในพรรคการเมือง และจะต้องมีกฎหมาย กติกาบอกเลยว่า คนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของพรรค ต้องการบริจาคเงินในพรรคตามฤดูกาล ได้ แต่จะไม่มีสิทธิ์ เข้ามามีส่วนในการบริหารพรรค เพราะคุณบริจาคด้วยความชอบ แต่ก็ต้องมีจำนวนจำกัด ใครทำผิดไปจากนี้ให้เงินใต้โต๊ะ ผิดไปจากนี้ พรรคการเมืองนั้นจะต้องถูกยุบพรรคทันที ประชาชนต้องจัดการเอาผู้บริหารพรรคออก และเวลาที่มีการเลือกตั้ง เจ้าของพรรคแต่ละพื้นที่ก็ต้องประชุมกันเลือกว่าจะเอาใครเป็นตัวแทนของพรรคของแข่งขันในนามของพรรค เหมือนระบบไพรมารี่โหวตของอเมริกา ไม่ใช่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ที่หัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการพรรคเลือกมาจากกรุงเทพว่าจะเอาคนนั้นคนนี้ลง อย่างที่ผ่านมาบางพรรคมีการเอาคนขับรถมาลงสมัครก็เคยมี

เมื่อถามว่าตรงนี้จะต้องเขียนกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญเลยหรือไม่ พระสุเทพ กล่าวว่า ใช่ตรงนี้จะต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญที่ว่า ด้วยสิทธิพลเมืองในการจัดตั้งพรรคการเมือง แล้วสิทธิ์นี้จะต้องได้รับการเคารพ แล้วไปเขียนกฎหมายพรรคการเมืองให้ได้ตามที่เราต้องการ แล้วจะทำให้ได้นักการเมืองที่ดีขึ้น เดี๋ยวนี้ คนทำอาบ อบ นวด ร่ำรวยมา ก็ไปตั้งพรรคการเมืองได้ มันไม่สง่างาม แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในรัฐธรรมนูญยังไม่ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ นี่คือความเห็นส่วนตัวและ พรรคการเมืองจะต้องเป็นของประชาชนบริหารโดยประชาชน เรากับ กปปส. มีความคิดเห็นเช่นนี้ แต่เราไม่มีที่ไปแสดง เราก็เฉยๆ

เมื่อถามว่าในร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนที่ออกมาจะมีคำว่า พรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง นั้น พระสุเทพ กล่าวว่า “เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาต้องการอะไร ประเทศต้องไปด้วยการการเมือง การทำการเมืองต้องทำด้วยพรรคการเมือง ในรูปแบบพรรคการเมือง ใครจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ในที่สุดมันก็คือพรรค และถ้าปล่อยให้คน 5 คน 8 คน รวมตัวกันเป็นกลุ่มการเมืองได้ก็จะทำให้การเมืองไม่แข็งแรง เกิดความเละเทะทางการเมืองเป็นผลร้ายต่อสังคมไทย”

พระสุเทพ กล่าวต่อว่า นอกจากแก้เรื่องพรรคการเมืองแล้ว ก็ต้องแก้เรื่องการเลือกตั้ง ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญเลยว่า สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิของพลเมืองถ้าผู้ใดจะละเมิดบิดเบือนทำให้เกิดความสูญเสียบริสุทธิ์ไม่ได้ เป็นสิทธิที่ได้แสดงออกด้วยความบริสุทธ์และประโยชน์ของชาติและประชาชนชน ไม่ใช่ไปบิดเบือนผลของการแสดงออก ซึ่งสิทธิของประชาชน เช่น การซื้อสิทธิขายเสียง การโกงการเลือกตั้ง การชี้ อิทธิพลไปบังคับ อย่างนี้ผิด ก็ต้องไปเขียนกฎหมายเลือกตั้งใหม่ ว่า การเลือกตั้งต้องบริสุทธิ์ การซื้อสิทธิข่ายเสียงเป็นการทำลายหลักการของประชาธิปไตย ถือว่ามีความผิด คนที่ทำลายหลักการประชาธิปไตย คนซื้อ และคนขายสิทธิจะต้องมีความผิด ถ้าใครรู้เห็นเพราะฉะนั้น เรื่องการปฏิรูปการเมือง เรื่องหลักควรเริ่มจาก พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น