xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กมธ.ยกร่างฯ ปล่อยผี !! บ้านเลขที่111 และ 109 สมัครส.ส.ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ย้ายสถานที่ไปประชุมที่โรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา เพื่อพิจารณา ยกร่าง รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยพิจารณา บทบัญญัติ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และระบบผู้นำการเมืองที่ดี ในหมวด 3 ว่า ด้วยรัฐสภา ได้ข้อสรุปที่เกี่ยวกับเกณฑ์การเลือกตั้งส.ส. และ ส.ว. ดังนี้

สภาผู้แทนราษฎร จะมี ส.ส. 450-470 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 250 คน และจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม 200-220 คน จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ให้มีส.ส. 500 คน มาจากแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน และจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ125 คน และการจะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกได้ ต้องมีส.ส.ที่ได้รับการรับรองแล้ว ร้อยละ 85 จากเดิมที่ใช้เกณฑ์ร้อยละ 95

ทั้งนี้ การที่ จำนวนส.ส.แบบสัดส่วนที่กำหนดว่าอยู่ระหว่าง 200-220 คน เนื่องจากว่า การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จะต้องนำคะแนนนิยมที่แท้จริงของประชาชนผู้มาลงเลือกตั้ง ที่นับตามระบบเยอรมนี อาจทำให้ได้จำนวน ส.ส. เกินจากที่กำหนดไว้ไปอีกประมาณ 20 คน

ในที่ประชุมมีผู้ที่เสนอให้ปรับจำนวนส.ส.เขต ให้เป็น 300 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอของพรรคการเมือง ที่ต้องการให้ ส.ส.เขต มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยอ้างถึงการเข้าถึงประชาชนมากกว่า ขณะเดียวกันเห็นว่า ส.ส.สัดส่วนนั้น เป็นระบบที่เอื้อต่อกลุ่มนายทุนพรรคการเมือง ที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์ แต่ กมธ.ยกร่างฯ ส่วนใหญ่เห็นว่าให้คงไว้ตามเดิม เพราะต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหาไม่ให้นายทุนพรรคการเมืองเข้ามาหาประโยชน์นั้น ไม่สามารถทำได้อย่างแท้จริง

สำหรับแนวคิดเรื่องให้มีการสมัครส.ส.ได้โดยอิสระ ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ก็ตกไป แต่เปิดช่องให้สมัครในนามกลุ่มการเมืองได้ โดยให้กลุ่มสมาคม หรือผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันด้านใดด้านหนึ่ง รวมตัวเป็นกลุ่มการเมือง แล้วไปจดทะเบียน กับคณะกรรมการเลือกตั้ง ก็สามารถส่งผู้สมัครเข้าสู่การเลือกตั้งได้ โดยสามารถส่งได้ทั้งส.ส.ระบบเขต และ ระบบสัดส่วน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในภาคประชาสังคม มีผู้แทนฯเข้าไปในสภาได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคการเมือง ซึ่งมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนกว่า
 
เพราะที่ผ่านมา ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ที่อยากเข้ามาทำงานการเมือง มักเจอปัญหาที่ว่า เมื่อไปเสนอตัวกับพรรคการเมือง ก็จะถูกปฏิเสธ ไม่ให้ลงรับสมัครเลือกตั้งในนามพรรค เพราะไม่ใช่นายทุน ไม่ใช่ลูกหลานบุคคลสำคัญในพรรค และไม่ใช่คนดัง มีชื่อเสียง

นอกจากนี้ กรรมาธิการยกร่างฯ ยังได้ขยายเงื่อนไขของการเป็นประธานรัฐสภา จากกรณีประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นประธานรัฐสภา กับประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นรองประธานรัฐสภาไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เหมือนอย่างกรณีที่ผ่านมา ตอนที่ยุบสภาแล้ว ปรากฏว่า นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็จะมีทางออกด้วยการให้ รองประธานสภาผู้แทน และรองประธานวุฒิสภา สามารถทำหน้าที่ ประธานรัฐสภาได้

อีกประการที่เพิ่มขึ้นมาคือ การกำหนดให้การสิ้นสุดของสภาผู้แทนฯ นอกจากครบวาระ หรือนายกรัฐมนตรีให้ยุบสภาแล้ว ในกรณีที่มีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ หากผลโหวตฝ่ายค้านชนะ ต้องยุบสภาไปด้วย จากเดิม ที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดว่า หากฝ่ายค้านชนะโหวต ก็จะให้ผู้ถูกเสนอชื่อแนบไปกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขึ้นทำหน้าที่นายกฯ แทน แต่ผลจากที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้ฝ่ายรัฐบาลเข้มแข็งจนเกินไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แทบไม่เกิดผล จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ 

สำหรับประเด็นสำคัญ ที่เป็นที่จับตาของสังคม ว่า กมธ.ยกร่างฯ จะกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครส.ส. ว่าอย่างไร พวกอดีตนักการเมืองที่ถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี จากคำสั่งยุบพรรค หรือพวกบ้านเลขที่ 111 และ 109 จะลงสมัครได้หรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 35(4)มีการตีความว่า ได้กำหนดข้อห้ามเหล่านี้ไว้ แต่กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า จากคุณสมบัติ ข้อห้ามเดิมที่กำหนดว่า ผู้ที่เคยถูกคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติแล้ว ยังเพิ่มเติมส่วนที่ล้อตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35 (4) โดยระบุว่า ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ว่ากระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม โดยรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ยึดโยง คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นคุณสมบัติของผู้เป็นรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรีด้วย แต่โครงสร้างส่วนนี้ ในการพิจารณาของกมธ. ยกร่างฯ จะต้องรอดูต่อไปเมื่อไปถึงหมวด ครม.

ส่วนกรณีที่มองว่า จะมีผลไปถึงพวก อดีตบ้านเลขที่ 111 และ109 หรือไม่นั้น บทบัญญัติได้ระบุว่า ต้องเป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงผู้ถูก"ใบแดง" เท่านั้น ส่วนผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง เพราะเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วยนั้น น่าจะไม่เกี่ยวข้อง 
 
จึงเท่ากับว่า เป็นการปล่อยผี พวกบ้านเลขที่ 111 และ 109 จะจำกัดอยู่เพียง ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษ ในคดีทุจริต คอร์รัปชัน และผู้ที่เคยถูก กกต. หรือศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง แจกใบแดง เท่านั้น 

กรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกสภานิติบัญญัติลงมติถอดถอนจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ เป็นผู้สมัคร ส.ส.หรือไม่นั้น กรรมาธิการยกร่างฯ ชี้แจงว่า ยังไม่ชัดเจน 100% ว่าเข้าข่ายหรือไม่ แต่กมธ.ยกร่างฯจะหาข้อยุติในเร็ววันนี้

สำหรับในส่วนของสมาชิกวุฒิสภานั้น กำหนดให้มีวุฒิสมาชิกไม่เกิน 200 คน มีวาระ 6 ปี ห้ามเป็นติดต่อกันเกิน 1 วาระ มาจากเลือกตั้งทางอ้อม 5 ช่องทาง เพื่อให้มีความหลากหลาย โดยมาจาก

1. อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ซึ่งพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเกิน 5 ปี เลือกกันเอง ให้ได้ไม่เกิน 10 คน

2. อดีตข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า อดีตข้าราชการทหาร ตำแหน่ง ปลัดกระทรวง ผบ.สูงสุด หรือ ผบ.เหล่าทัพ อดีตพนักงาน เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตำแหน่งหัวหน้าองค์กร ทั้ง 3 ประเภทนี้ เลือกกันเองให้ได้ประเภทละไม่เกิน 10 คน

3. ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ที่มีกฎหมายจัดตั้ง เลือกกันเองไม่เกิน 10 คน

4. องค์กรด้านเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการ ชุมชน ท้องถิ่น ฯลฯ (ยกเว้นองค์กรสื่อมวลชน ) เลือกกันเอง ไม่เกิน 10 คน

5. ให้มีกรรมการสรรหา สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ และคุณธรรมด้าน การเมือง ความมั่นคงการบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การเศรษฐกิจการสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ผังเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ จำนวน 200 คน เพื่อส่งให้ สมัชชาพลเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นทุกประเภท ลงคะแนนเลือกให้เหลือ 100 คน และหากวุฒิสมาชิกเหลืออยู่เกิน 85 % หรือ 170 คน ให้สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ หากน้อยกว่านั้น ต้องดำเนินการให้ได้ในส่วนที่ขาดไป ภายใน 180 วัน

ส่วนคุณสมบัติ และข้อห้ามของส.ว. ตามที่บัญญัติใหม่นี้ มีส่วนที่เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ ห้ามเป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากเป็นอดีตรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่น อดีตผู้มีตำแหน่งในพรรค หรือกลุ่มการเมือง อดีต ส.ส. ต้องพ้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี หากเป็นกรรมการในองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ ต้องพ้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี และต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่นเดียวกับผู้สมัคร ส.ส.

ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นว่า ผู้มีส่วนเลือกกันเองให้เป็นส.ว.ในส่วนข้อที่ 1 เช่น อดีตนายกฯ อดีตประธานรัฐสภา สามารถเป็นได้โดยไม่ต้องยกเว้น 5 ปี และผู้ที่เป็นส.ว.แล้ว จะไปเป็นรัฐมนตรี หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ก็ต่อเมื่อพ้นไปแล้วเกิน 2 ปี

นอกจากนี้ วุฒิสภาชุดใหม่ ยังมีอำนาจตั้ง คณะกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมจริยธรรม ของบุคคลที่ นายกรัฐมนตรี จะเสนอชื่อทูลเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรี รายชื่อปลัดกระทรวง หรือหัวหน้าส่วนราชการ ที่เทียบเท่าปลัด อธิบดี จากนั้นแจ้งให้นายกฯ รับทราบ และประกาศทั่วไปภายใน 15 วัน โดยไม่มีการลงมติ เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น