ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่ใช่เรือแป๊ะคว่ำ แต่เป็นเพราะแป๊ะยังไม่อยากถึงฝั่ง เลยเลือกถีบฝีพาย ลง จากเรือ
ถือว่าเซอร์ไพรส์กันพอสมควรเมื่อ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติทำแท้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนางงามของ “อ.ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และทีมงาน 35 ชีวิต ด้วยมติขาดวิ่น 135 เสียง ต่อ 105 เสียง และงดออกเสียง 7เสียง
ตอกย้ำ “สัญญาณพิเศษ” จาก “แป๊ะ” ที่ส่งซิกให้สมาชิก สปช. คว่ำว่า เป็น ของจริง ไม่ใช่มโน
“เดอะปื๊ด” จบแบบเจ็บๆ
ยิ่งเช็กชื่อ “นายพล” ในคราบ สปช. ก็พบว่าแถวตรงโหวตไม่เห็นชอบอย่างพร้อมเพรียง ยกเว้น3 ขุนพลที่สวนทางกันอย่าง “เสธ.อู้” พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช - พล.ท.นคร สุขประเสริฐ ที่เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามธรรมเนียมต้องเห็นชอบกับร่างที่ตัวเองร่วมยกมากับมือ อีกรายก็ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตนายทหารคนสนิท “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
ขณะที่ พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ เป็นหนึ่งเดียวใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เลือก “งดออกเสียง” เท่ากับเป็นการตอกฝาโลงว่าการทำแท้งครั้งนี้มี “ใบสั่ง”
จับอารมณ์ “อ.ปื๊ด” ที่ไม่ขอรับตำแหน่งแห่งหนใดๆ พร้อมกับเหน็บแนม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคนหนึ่งซึ่งเป็นพลเอกหมาดๆที่งดออกเสียงว่า “ต้องทำตามผู้ใหญ่ของเขา” งานนี้สะท้อนเลยว่า ทีมงานอรหันต์ถูกหักหลัง ไม่ใช่การสมยอมเล่นละครร่วมกันแน่ แต่เป็นรายการเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล
แม้จะแจกพระรุ่นโล่งใจ ยิ้มได้เมื่อภัยมาเหมือนที่ “เนติบริกรผู้พี่” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีบอก แต่เชื่อขนมกินได้ “อ.ปื๊ด” เก็บอาการกระอักเลือดอยู่ข้างใน เพราะสำหรับนักกฎหมายมหาชน ได้รับการยกย่องว่า เป็นซือแป๋กฎหมายนัมเบอร์ต้นๆ ของประเทศ การร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านเป็นอะไรที่เสียเซลฟ์มหันต์
โดยเฉพาะเมื่อครั้งหนึ่งตนเองเคยเป็นเลขานุการกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ชุดที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ฉบับที่ใครหลายคนยกย่องว่า เป็นฉบับที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย แต่ไม่มีน้ำยายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปให้ผ่านความเห็นชอบจาก สปช.ไปได้
ไม่ได้เจ็บเพราะร่างรัฐธรรมนูญแท้ง เพราะคนไม่ยอมรับเนื้อหา แต่เจ็บเพราะร่างรัฐธรรมนูญต้องมีอันเป็นไปเพียงแค่ “ใครคนหนึ่ง” ยังไม่พร้อมที่จะให้ผ่านตอนนี้
ตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนร่วงทั้ง คสช.
หากชำแหละเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนางงาม ในสายตานักการเมืองแล้วเป็นฉบับที่น่ารังเกียจเพราะมีกลไกป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวงจำนวนมากจนไม่สามารถขยับตัวได้ แถมมี “โปลิตบูโร” แบบไทยๆอย่าง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ” ที่ยังไม่ทันไรก็มีคนตั้งชื่อย่อให้เสร็จสรรพว่า “คปป.”
ด้วยอำนาจของ คปป.ที่คัดลอกมาจากมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แทบทุกคำ เปรียบเสมือน “รัฐซ้อนรัฐ” กดทับเอาไว้ หลักสากลถือว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ในสายตา “แป๊ะ” แล้ว ความสุดโต่งมันยังน้อยไปด้วยซ้ำหากวัดจากความต้องการจริงๆ
กลไกที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สร้างขึ้นเอาไว้ใน 285 มาตรา ล้วนเป็นการแตกยอดจากธงในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558 ทั้งสิ้น หรือแม้แต่ คปป.เองก็เป็นความต้องการของ “แป๊ะ” ที่อยากให้มีองค์กรหรือคณะกรรมการชุดหนึ่งของมานั่งถ่วงดุลเอาไว้ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี
สาเหตุการคว่ำไม่ใช่เพราะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปรุงมารสชาติห่วยไม่ถูกใจ ซึ่งจะว่ากันจริงๆ สิ่งที่ “แป๊ะ” ต้องการมีมากกว่านี้ด้วยซ้ำ อดีต กมธ.ยกร่างฯคนหนึ่งจากสายวิชาการยังบ่นว่า นี่ขนาดแก้ไขจากที่มีการเสนอเข้ามาแล้ว คปป.ยังถูกมองว่ามีอำนาจล้นประเทศ ถ้าเห็นร่างเดิมก่อนแก้ไขแล้วจะหนาว
หากแต่เป็นเพราะ “แป๊ะ” ยังไม่พร้อมที่จะทำประชามติ นั่นเพราะความพ่ายแพ้ในการทำประชามติ ไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นหมันเท่านั้น แต่มันอาจหมายถึงจุดจบของ “แป๊ะ” ด้วย การปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญที่มีการบรรจุเนื้อหาการปฏิรูปและ คปป.ที่เป็นเหมือนเครื่องหมายการค้าของรัฐบาลทหาร ไม่ต่างจากการปฏิเสธการอยู่ต่อของ คสช. เป็นปรากฏการณ์สะท้อนอารมณ์ว่า ทุกคนไม่ได้แฮปปี้กับสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่
มันอาจถูกนำไปดิสเครดิตให้ คสช.อยู่ยากขึ้นในนาทีนั้นได้ เหตุผลในการคว่ำมันจึงเป็นเรื่องความไม่พร้อมของฝ่ายอำนาจล้วนๆ
เปิดสเปก “21 อรหันต์ทองคำ”
เก่าไป ใหม่มา แม่น้ำ 2 สาย 247 สปช.กับ 36 กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีอันต้องตายตกไปตามกัน ถึงเวลาของแม่น้ำสายใหม่ 21 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กับ 200 สภาขับเคลื่อนปฏิรูปแห่งชาติ ต้องมาแทนที่
ซึ่งอย่างหลังไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจเท่าไร เพราะอำนาจหน้าที่แทบไม่มี ออกแนว “ไม้ประดับ” มากกว่า 200 เก้าอี้ในสภาขับเคลื่อนปฏิรูปฯน่าจะเป็นสถานที่รองรับบรรดาอดีตสมาชิก สปช. ที่เป็นพวกผึ้งงานของ “แป๊ะ” คอนโทรลได้ กับสถานพักฟื้นอดีตนายทหารที่เกษียณอายุราชการ และข้าราชการบำนาญ ในสาย คสช. ขณะที่งานหลักๆ คือ รับใบสั่งมาปฏิรูป ขายฝันไม่ได้เหมือน สปช.ที่วาง “พิมพ์เขียว” ไว้เรียบร้อยแล้ว
ไฮไลต์น่าจะอยูที่ “21 อรหันต์ทองคำ” เพราะต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของหัวหน้า คสช.ในการแต่งตั้ง ไม่มีการเสนอชื่อเป็นโควต้าเหมือน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หากร่างเสร็จจะต้องแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบโดยเร็วเพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติทันที
ดังนั้น ฉบับนี้จึงน่าจะเป็นฉบับที่สะท้อนเจตนารมณ์และความต้องการที่แท้จริงของ “แป๊ะ” ได้ดีที่สุดว่า ต้องการให้กติกาสูงสุดของประเทศเป็นอย่างไร มันจะรวมตัวอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งหมด และมีความเป็นไปได้ว่า อาจสุดโต่งกว่าฉบับเดิมก็เป็นไปได้
อย่าลืมว่า ร่างรัฐธรรมนูญนางงามที่ถูกคว่ำไม่ใช่เพราะเนื้อหา แต่คว่ำเพราะ “แป๊ะ” ยังไม่พร้อม ซึ่งทุกวันนี้ทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ต่างก็พูดโทนเสียงเดียวกันว่า คณะกรรมการลักษณะเดียวกับ คปป. จำเป็นต้องมี เพียงจะทำในรูปแบบใดให้คนยอมรับ
การร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นฉบับที่ต้องตามใจ “แป๊ะ” ทุกอย่าง ดังนั้น สเปกของบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ยกร่างใหม่ แน่นอนว่า จะต้องเป็นคนที่ “แป๊ะ”ไว้ใจได้เป็นลำดับแรก รองลงมาคือ เขียนกฎหมายเป็น มีความเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทย ที่สำคัญรู้ความต้องการของ “แป๊ะ” เป็นอย่างดี
เปิดโผทีมงาน “เนติบริกร” ชุดใหม่
โผที่ปรากฏออกมาก่อนหน้านี้ เป็นไปในลักษณะทายใจ “แป๊ะ” กันเป็นส่วนใหญ่ มักพุ่งเป้าไปที่นักกฎหมายที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ พี่ใหญ่ก๊วนเนติบริกร นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอดีตรองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นายจรูญ อินทจาร อดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นอดีตเลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือแม้แต่ “ยาสามัญประจำบ้าน” อย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540
เลยเถิดไปถึง “2 ซือแป๋ประจำ คสช.” อย่าง “วิษณุ” หรือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวกันมา
สำหรับทีมงานเนติบริกร 3 พี่น้อง “มีชัย - วิษณุ - บวรศักดิ์” แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะ “แป๊ะ” เพิ่งจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของเนติบริกรน้องเล็กสุด ไป คงไม่เรียกใช้ทีมเดิมอีก ตัว “มีชัย” เองก็ปฏิเสธไม่รับเก้าอี้ใดๆ มาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะแฮปปี้ดีกับบทบาทเบื้องหลังในฐานะสมาชิก คสช.คนหนึ่ง
ขณะที่ “วิษณุ” ตัดบทตั้งแต่แรก แถมยังเปรียบเปรยเรื่องตัวเองกับ “อ.ปื๊ด” เหมือนรามเกียรติ์ตอนฆ่าทศกัณฐ์
“มีคนบอกให้ทศกัณฐ์ยอมแพ้ลาออกเสียแล้วเอาเมืองมา เพื่อจะตั้งยักษ์อีกตนไปเป็นเจ้าเมืองแทน ซึ่งตัวพี่นั้นก็เลยถามว่า ลงกาเป็นสองเมืองหรือ เพราะลงกาเป็นเมืองเดียว มีน้องครองอยู่แล้วจะยึดจากน้องมาให้พี่ครองได้หรือ ซึ่งคำพูดนี้เคยมีการพูดถึงแล้วครั้งหนึ่งว่า เอารัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ออกแล้ว เอารัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กลับเข้ามา ผลัดกันเป็นสองคนพี่น้อง อย่างนี้ถ้ายึดจาก อ.บวรศักดิ์มาให้ผม ก็เข้าลักษณะเดียวกันนั่นแหละ”
เมื่อตัดก๊วนเนติบริกรออก สเปกที่ใกล้ชิด คสช.จะเหลือแค่นักกฎหมายฝั่ง “พรเพชร” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิพากษา และบุคคลในองค์กรอิสระ โดยเฉพาะบุคคลที่ผ่านการศึกษาอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ “วปอ.รุ่น 41” ที่ “พรเพชร” ไปเรียน และมีเพื่อนร่วมรุ่นดังๆ อย่าง นายสุพจน์ ไข่มุก อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550
หรือหลักสูตร ปปร. รุ่น 11 จากสถาบันพระปกเกล้า ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นดังๆ มาจากศาลฎีกาเหมือนกันอย่าง นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อดีตรองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือแม้แต่ชื่อของ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตรองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นศิษย์เอกนิติศาสตร์ รั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเหมือนกัน
กระทั่ง นายจรูญ อินทจาร อดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่เพิ่งยุบไป ก็เป็นคนที่ “พรเพชร” โทรศัพท์ไปหาเพื่อชักชวนให้มาเป็นเขียนกฎหมายในตอนตั้ง 36 อรหันต์ สำหรับตัวพรเพชรเองก็คงไม่มานั่งเล่นเอง ละเลงบทอยู่ข้างหลังดีอยู่แล้ว ที่สำคัญ หากจะมาคงมาตั้งแต่ทีแรกแล้ว
ในรายของจรัญเอง อย่างที่รู้กันเป็น “สายป๋า” และยังไม่หมดวาระ หากจะมาต้องลงทุนลาออกจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่ใช่ไม่มีความเป็นไปได้ เพราะเหลือวาระ 2 ปี ซึ่งพอๆ กับอายุของคสช. ตอนนี้งานในศาลรัฐธรรมนูญก็ค่อนข้างว่าง เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จ รัฐธรรมนูญจะเสร็จพอๆ กับวาระของจรัญ เรื่องนี้จึงน่าจะอยู่ที่ตัวเองเป็นผู้ตัดสินใจ
สำหรับ “วิชา” กำลังจะว่างงาน เพราะจะหมดวาระในเดือนกันยายนนี้แล้ว รู้เรื่องอุปสรรคและปัญหาในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต น่าจะเป็นตัวเชื่อมได้
แม้ทั้งคู่จะดูสุดโต่งไป แต่หากใช้ประสบการณ์ถือว่าผ่าน
ขณะที่ก๊วนธรรมศาสตร์ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ “สมคิด” ปฏิเสธขอโลว์โปรไฟล์ เพราะแบกมาหลายฉบับแล้ว
ส่วน นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตสมาชิก สปช. ชื่อเริ่มมาแรงเพราะเป็นสายตรง “ทิดเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.ดูแล้วมีลุ้น แต่ไม่น่าถึงขั้นนั่งประธาน เพราะเป็นสายล่อฟ้าเกินไป
อีกคนที่ได้รับการยอมรับ แต่มักพูดถึงกันน้อยคือ นายอมร จันทร์สมบูรณ์ นักกฎหมายชั้นครู อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาชื่อก้อง ที่มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ในสนช. สปช. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามากมาย ชื่อชั้นไม่เป็นรองใคร แต่ติดอยู่ตรงอายุที่มากขึ้นทุกวัน
อย่างไรก็ดี ในจังหวะที่หลายคนมองไปแต่ตัวนักกฎหมายเด่นๆ ดังๆ อาจกำลังหลงทางเช่นเดียวกัน เพราะหากมองย้อนกลับไปถึงตัวประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่ง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ก็ไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ทำงานด้านความมั่นคงมาตลอดชีวิต
ดังนั้น มันจึงไม่ใช่สูตรตายตัว เพราะคราวนี้อาจจะเป็นทหารหรือใครก็ได้ที่ไม่ใช่นักกฎหมาย เพียงแต่ต่อติดกับ คสช.และทำงานตามสั่งได้
ในคณะกรรมการ่างรัฐธรรมนูญมีนักกฎหมายเพียง 4 - 5 คนก็เพียงพอแล้ว โดยเฉพาะคนเป็นเลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย เพราะต้องเป็นคนยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเบื้องต้น เหมือนปี 2540 ที่มี “บวรศักดิ์” และปี 2550 ที่มี “สมคิด”
แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังพบอุปสรรคสำคัญ ไม่ค่อยมีใครกล้าเสี่ยง เพราะกลัวจะหลังหักเหมือนกับที่ “อ.ปื๊ด” ถูก “แป๊ะ” กระทำ หวั่นว่าจะนำชื่อเสียงมาทิ้งเปล่าๆ หากวันหนึ่ง “แป๊ะ” เกิดเปลี่ยนใจอยากอยู่ต่อขึ้นมาอีก
ปัญหาจึงอยู่ที่ “หัว” ว่า คราวนี้จะเป็นใครก่อน ขายได้หรือไม่ เมื่อได้แล้วบรรดาหางจะค่อยๆ มา
แน่นอนรอบนี้ คสช.ไม่สนหน้าตาเท่าไร แม้จะต้องถึงขั้นร้อง “ยี้” ก็ตาม
สำคัญแค่ว่า คนที่พร้อมจะมาขึ้นเรือ ต้องตามใจ “แป๊ะ” และห้ามขัดใจ “แป๊ะ” ไม่เช่นนั้นอาจถูกถีบตกเรืออีกก็เป็นได้
ยาวไปๆ เอาที่พี่สบายใจเลยครับ
การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากของอดีต สปช.เท่ากับว่าต้องมานับหนึ่งเริ่มต้นกระบวนการร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศกันใหม่ เป็นการยืดอายุ Roadmap ของ คสช.ออกไปแบบเนียนๆอีกครั้ง หลังจากที่เคยแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวยืดเวลาการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯและแทรกกระบวนการทำประชามติเข้ามาแล้วครั้งหนึ่ง
ถือได้ว่าเป็นการยืดอายุ Roadmap ก๊อกสาม ซึ่งใช้เวลามากไปอีกเกือบ 2 ปี ตามสูตร “6-4-6-4” คือ คณะกรรมการร่างฯใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน หากประชามติผ่านจะใช้เวลาทำกฎหมายลูกและให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 6 เดือน ต่อจากนั้นอีก 4 เดือนสำหรับการเลือกตั้ง รวมแล้ว 20 เดือน ตามที่ “วิษณุ” ได้อธิบายไว้ ตามสูตรนี้จะมีการเลือกตั้งเร็วที่สุดก็ปาเข้าไปช่วงกลางปี 2560
แม้ Roadmap จะถูกยืดออกไปอีก แต่ก็น่าแปลกใจไม่น้อย ที่กระแสต่อต้านแทบไม่มี หรือจุดไม่ติดเลย เรียกได้ว่า “ราบรื่น” จนผิดปกติ ทั้งฝ่ายการเมือง ดูจะพอใจที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ดร.ปื๊ด” ถูกลบหายออกไปจากสารบบ เพราะรับไม่ได้กับเนื้อหาในหลายประเด็น
ข้างมวลชนฝ่าย “ระบบทักษิณ” ก็นิ่งสงบในที่ตั้ง จะมีก็เพียงการออกมาเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาปัดฝุ่นใช้ใหม่ เพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ของ “หัวโจก” ไม่กี่คน ซึ่งแน่นอนไม่ได้มีการรับลูกใดๆจาก คสช.
ขณะที่กลุ่ม “คนกลางๆ” ก็จะออกไปแนว “โล่งใจ” ที่ คสช.ตัดสินใจถอดสลักร่างรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง ดีกว่าปล่อยไปให้ถึงขึ้นตอนประชามติที่ส่อให้เห็นชนวนความขัดแย้งระลอกใหม่ เช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนจะยังพอใจในผลงานบริหารประเทศของ คสช. อีกทั้งบางส่วนก็ยังรู้สึกเข็ดขยาดกับบ้านเมืองในยุดที่ “นักการเมือง” เป็นใหญ่ จึงดูไม่รู้สึกรู้สากับการที่มี คสช.อยู่เช่นนี้ หรืออีกมุมก็ตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก
ดูภาพรวมก็เท่ากับวินๆ สมประโยชน์ แฮปปี้กันทุกฝ่าย
ทิศทางลมตอนนี้ก็เท่ากับว่า คสช.จะยังคงแล่น “เรือแป๊ะ” ต่อไปได้อย่างสะดวกโยธิน แม้ที่ผ่านมาจะ “ขับอ้อม” แวะเกาะแก่งข้างทางเสียเวลาไปบ้าง แต่ “ผู้โดยสาร” กลับไม่บ่นสักแอะ
แต่การที่ “ผู้โดยสาร” ไม่บ่นเสียงดัง ก็ต้องจับตาว่า “บิ๊ก คสช.” จะกระหยิ่มยิ้มย่องในใจ พาลหาเรื่องขยาย Roadmap ยืดอายุก๊อกสี่-ห้า หรือจัดโปรโมชั่นอยู่ต่อแบบอันลิมิตออกมาหรือไม่ โดยเฉพาะในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งคาดว่าต้องมีการนำขึ้นมารื้อกลบ “ช่องโหว่” อย่างน้อย 2 ประเด็นในเร็วนี้
ทั้งเรื่องผลประชามติที่ต้องมีความชัดเจนว่า ยึดเกณฑ์ของ “ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง” หรือ “ผู้มาใช้สิทธิ์” ในการตัดสินใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านไม่ผ่าน รวมทั้งเรื่องกระบวนการภายหลังจากการทำประชามติ ที่หากไม่ผ่านแล้วจะไปทิศทางไหนต่อไป ซึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวล่าสุดยังไม่ได้มีระบุไว้ ทำให้เข้าใจได้ว่า หากถึงขั้นประชามติแล้วเกิดคว่ำร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีก ก็ต้องกลับมานับหนึ่งตามสูตร “6-4-6-4” อีกไม่จบไม่สิ้น
เมื่อ คสช.เลือกที่จะแล่น “เรือแป๊ะ” ไปอย่างชิลล์ๆ ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง มีโอกาสแวะได้เป็นแวะแบบนี้ คนเป็น “ผู้โดยสาร” ก็ได้แต่บ่นพึมพำ “ยาวๆไปเลยครับพี่”