xs
xsm
sm
md
lg

"สุเทพ"ออกโรงหนุนร่างรธน. "ตู่"ขอคสช.แถลงสวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ ( 1 ก.ย.) ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ ราชประสงค์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ได้แถลงจุดยืนของมูลนิธิฯ ต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีกรรมการมูลนิธิฯ อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายอิสสระ สมชัย, นายพุทธิพงษ์ ปุณกันต์, นายชุมพล จุลใส, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร พร้อมทั้ง นายอุทัย ยอดมณี อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมการแถลงข่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า มุมมองของมวลมหาประชาชน ที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยสำนึกที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้เปิดโอกาสให้เจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปประเทศไทยเกิดขึ้นได้หรือไม่ เมื่อดูในประเด็นนี้ในสายตาของมวลมหาประชาชน เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดีพอที่จะนำไปให้ประชาชนลงประชามติ คนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้าย คือ ประชาชนทั้งประเทศ ผ่านการทำประชามติ
สำหรับมวลมหาประชาชนเรียกร้อง และแสดงเจตนารมณ์มาตลอดว่า ต้องปฏิรูปประเทศไทย ประชาชนคาดหวังเอาไว้ ทำอย่างไรจะให้กระบวนการในการปฏิรูปประเทศไทยดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศของเรามีความมั่นคง มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน ทั้งการปฏิรูปการเมือง โดยต้องปฏิรูปพรรคการเมือง ให้เป็นพรรคของประชาชน ไม่ต้องการให้เป็นพรรคของนายทุนที่เข้ามาหาผลประโยชน์ และเราอยากเห็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ และยุติธรรม รวมทั้งการปฏิรูปการกระจายอำนาจ ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข การศึกษา โดยมีเป้าหมายสำคัญในการแก้
ปัญหาคนจน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และประการสุดท้ายคือ ต้องการให้ปฏิรูปตำรวจ เราต้องการให้ตำรวจเป็นตำรวจของประชาชน เมื่อมองจากการปฏิรูปทั้ง 5 ข้อนี้ มวลมหาประชาชน จึงเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญดีพอ เพราะมีหลักประกันว่า เมื่อรัฐธรรมนูญผ่าน และมีการประกาศใช้แล้ว การปฏิรูปประเทศไทยจะมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
นายสุเทพ กล่าวว่า การปฏิรูปทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาล ส่วนราชการ ประชาชน องค์กรต่าง ๆ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็มีเจ้าภาพให้เห็น เพราะการปฏิรูปถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติ และคนที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ก็คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูป และปรองดอง (คปป.) ซึ่งจะดำเนินการให้รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็น และเชื่อว่าจะทำให้การปฏิรูปเดินหน้าต่อไปได้ และที่สำคัญมวลมหาประชาชน ผ่านวิกฤติมาด้วยความเจ็บปวด เสียเลือดเนื้อเสียชีวิตในการต่อสู้เพื่อประเทศ แต่ก็ไม่มีทางออก จนนำมาสู่การยึดอำนาจ ซึ่งคนที่ไม่เคยอยู่ในวิกฤตินี้ด้วยตัวเอง จะคิดและจินตนาการไม่ถึง วันนี้รัฐธรรมนูญได้ระบุองค์กรบุคคลที่แก้ปัญหานี้ในอนาคต และ ร่างรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดทางออกวิกฤติเอาไว้ และไม่ใช่ว่า อยู่ๆ จะใช้อำนาจได้เต็มที่ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่า ถ้าต้องการใช้อำนาจต้องปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด และ ทำแล้วต้องรายงานต่อสภาผู้แทน วุฒิสภา รายงานต่อประชาชน มุมมองอย่างนี้ ประเด็นอย่างนี้ พวกผมก็ยอมรับว่า อาจมีคนอื่นเห็นเป็นอย่างอื่น มองเป็นอย่างอื่น นี่ก็เป็นเสรีในทางความคิด แต่ประชาชน ก็มองอย่างนี้
"เรียกร้องว่า ขอโอกาสให้ประชาชนทั้งชาติได้ตัดสินใจ ให้ประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ได้มีโอกาสตัดสินใจอนาคตของประเทศบ้าง ที่ให้ทำประชามติ หวังที่สุดว่าทุกฝ่ายได้เคารพมติของประชาชน มีโอกาสดีช่วงบวช สัมผัสประชาชน ติดตามสถานการณ์ผ่านทางประชาชน พูดได้เต็มปาก พูดในฐานะ ร่างทรงของมวลมหาประชาชน" นายสุเทพ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่มีข้อเสียเลยใช่หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า พวกตนมองทุกอย่างตามสภาพความเป็นจริง มองว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นของประเทศ ส่วนความบกพร่อง ก็มีเป็นธรรมดาไม่สมบูรณ์ วันข้างหน้าก็แก้ไขได้ จะให้ถูกใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ แต่สาระสำคัญคือ เป็นหลักประกันว่าอนาคตของประเทศไทย เราเห็นแสงสว่าง เราเห็นการพัฒนา เราเห็นโอกาสที่ประชาชนจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ประเทศมั่นคงปลอดภัย
ส่วนที่มีการมองว่า เป็นรัฐซ้อนรัฐนั้น แต่ละคนมุมมองไม่เหมือนกัน พวกตนมองว่าอยู่ที่ผลได้ผลเสียของประเทศที่จับต้องได้ คือ การปฏิรูป เราเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้ง เมื่อจะปฏิรูปประเทศต้องลงทุน อย่างไรก็ตามในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรายังรู้สึกขาดคือการปฏิรูปตำรวจที่ยังน้อยไป ต้องฝากความหวังกับคสช. ว่า ประชาชนต้องการเห็นการปฏิรูปตำรวจ ทำได้ทันที เดี๋ยวนี้ก็ได้ ใช้ ม. 44
เมื่อถามว่า หากมีการรับร่างรัฐธรรมนูญ และมีการทำประชามติ มูลนิธิฯ จะเคลื่อนไหวอย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า ยังไม่ได้คิดอะไร ประชาชนยังไม่ได้บอกว่าให้ทำอะไร แต่ก็ดูไปตามสถานการณ์ และทุกอย่างที่ทำ มุ่งที่จะให้บ้านเมืองเรียบร้อย ขอโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจ
เมื่อถามอีกว่า เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ เพราะยังไม่ชัดเจน ตนเคยมีประสบการณ์ เห็นรัฐบาลผสมมาหลายยุคหลายสมัย จึงไม่ค่อยน่าเชื่อว่า รัฐบาลแห่งชาติจะเป็นประโยชน์ เพราะเป็นนามธรรมเกินไป และคิดว่ากลไกของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ น่าจะมีรัฐบาลของประชาชนได้

** "ตู่"เตรียมขอคสช.แถลงสวนสุเทพ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เมื่ออ้างว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุญาตให้แถลงข่าวได้ ถือเป็นสิทธิของนายสุเทพ และพวกได้แสดงความคิดเห็น เป็นสิ่งดี ที่คนไทยจะได้รู้แนวทางของแต่ละฝ่าย คนไทยทุกฝ่ายมีสิทธิ์จะได้แถลงเช่นกัน ซึ่งทางนปช. จะทำหนังสือขออนุญาตแถลงข่าวกับคสช.เช่นเดียวกัน เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ตามวิถีทางประชาธิปไตย เห็นด้วยก็ถือว่าเป็นความเห็นด้านหนึ่ง ทางนปช.ไม่เห็น ด้วย ก็มีแถลงอีกด้านหนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ก็ไม่มีปัญหา ทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ไม่แตกแยก
"ผมจะทำหนังสือถึงคสช. ขออนุญาตแถลงข่าว จะใช้สิทธิแบบนายสุเทพ หวังว่าจะได้รับสิทธิเช่นเดียวกันกับที่นายสุเทพได้รับจากคสช." นายจตุพร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่ขณะนี้มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย กับร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น นายจตุพร กล่าวว่า เชื่อว่าขณะนี้ในสปช. รวมไปถึงแม่น้ำ 5 สาย ไม่มั่นใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ ถ้าผ่านไปถึงประชาชนแล้วถูกคว่ำ จะเกิดแรงกระทบมากกว่าสปช. คว่ำเอง จากเดิมที่ว่า เสียงค้านมีไม่ถึง 20 เสียง พอตอนนี้บอกสูสีแล้ว ตนมองว่า กลุ่มที่จะคว่ำในสปช. นั้นมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่จะคว่ำโดยบริสุทธิ์ใจ เมื่อดูเนื้อหา กับกลุ่มที่จะคว่ำเพื่อรักษาสถานะ การแถลงข่าวของนายสุเทพ ถ้ามองทั่วไปก็คิดว่าเป็นการสนับสนุน ร่าง รัฐธรรมนูญ ธรรมดา แต่ถ้ามองให้ลึก อาจเป็นข้ออ้างให้สปช.บางคน อ้างว่าเกรงจะทำให้เกิดความแตกแยกต่อไป แล้วหยิบยกมาใช้เป็นเหตุผลในการให้สปช.คว่ำร่างเอง ซึ่งส่วนตัวนั้น ต้องการให้ประชาชนเป็นผู้คว่ำเอง ให้ประชาชนตัดสิน หากสปช.ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชน ก็ไม่มีสิทธิออกเสียง

**"จรัญ"ชี้ร่างรธน.มีหลักนิติธรรม-นิติรัฐ ชัด

วานนี้ (1 ก.ย.) นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ "หลักนิติธรรมกับการใช้กฎหมาย" ตอนหนึ่งว่า อำนาจในการสร้างกฎหมาย อยู่ที่องค์กร หรือบุคคลที่สังคมไว้วางใจ โดยยึดหลักนิติธรรมที่ประกอบด้วย
1. ความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเป็นปฐมบทแรก แม้จะชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความจะชอบด้วยหลักนิติธรรม
2. หลักสุจริต แม้จะทำไปด้วยความชอบตามกฎหมาย แต่หากทำด้วยความไม่สุจริต ก็จะถือว่าไม่ถูกหลักนิติธรรม รวมไปถึงเรื่องประมาทที่แม้จะทำด้วยความไม่ตั้งใจ ไม่มีวาระซ้อนเร้น แต่ก็ถือไม่สุจริต ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรง และหลักนี้เป็นบรรทัดฐาน ที่นำมาใช้ในศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านคำวินิจฉัยต่างๆ แม้ไม่ได้ระบุชัดก็ตาม
3. หลักความไม่ลำเอียงปราศจากอคติ ตามหลักอคติ 4 คือ รัก โกรธ กลัว และ หลง
4. หลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรต่อกรณี
อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งตำแหน่งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย ไม่ควรไปคำนึงถึง สิงห์แดง สิงห์ดำ สิงห์ขาว สิงห์ทอง การพิจารณาแต่งตั้งตามรุ่นนั้น รุ่นนี้
"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเห็นได้ชัด กำหนดหลักนิติธรรม นิติรัฐ ไว้ชัดเจน เช่น มาตรา 217 เขียนชัดเกี่ยวกับหลักนิติธรรม ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน จะเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง และ หลักนิติธรรม แต่ยังไม่เชื่อมโยงกับหลักธรรมาธิปไตย และหลักการปกครองของไทย ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะสร้างความปรองดองได้หรือไม่นั้น ยากมาก เพราะความสามัคคีของคนในชาติ ไม่ได้สร้างโดยปลายปากกา และกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง ปัญหานี้เป็นเงื่อนไขความเจริญ ความล้มเหลวของประเทศชาติ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการนำหลักอคติทั้ง 4 มาบัญญัติไว้หรือไม่นั้น จะเห็นว่า มีการกำหนดเรื่องสิทธิมนุษยชน การห้ามเลือกปฏิบัติ และเพิ่มมาในเรื่องเพศสภาพ ที่ได้รับการรองรับในรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงจากเดิมรับรองสิทธิเฉพาะคนไทย แต่ครั้งนี้คนที่ไม่มีสัญชาติไทย ก็ยังได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย" นายจรัญ กล่าว
นายจรัญ กล่าวอีกว่า ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย การปิดทองหลังพระ ซึ่งมีความสำคัญมาก แต่ไม่ควรให้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายของฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการ เข้ามาครอบงำการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะที่ผ่านมา จะไม่มีปัญหาฝ่ายตุลาการ แต่ฝ่ายบริหารมีความคิดเข้ามาครอบงำฝ่ายกฤษฎีกา ประเด็นนี้ฝ่ายนิติบัญญัติ ควรมีกฤษฎีกาเป็นของตัวเอง แต่จะต้องกำหนดไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อนกัน ผู้บริหารประเทศ ไม่ควรบอกว่าถ้าไม่เลือกก็ไม่ได้งบประมาณ อย่างนี้เรียกว่า ใจแคบ แสดงให้เห็นถึงการมีอัตตา ทั้งที่ประเทศไทยคือ เรา เรา คือประเทศไทย ฉะนั้นจะต้องดูแลทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีการแบ่งสี แบ่งฝ่าย โดยเกิดจากการปลุกระดม โดยการมอมเมา ปลุกระดมมวลชนออกมา ซึ่งมั่นใจว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ตั้งใจจะแก้ปัญหานี้

** ยันศาลรธน.ไม่เคยชี้ "คำปรารภ"

นายจรัญ ยังกล่าวถึงที่มีการถกเถียงถึงความสมบูรณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติในวันที่ 6 ก.ย. โดยไม่มีคำปรารภ ว่า ถ้าตามกระบวนการที่เราเคยทำกันมา เราถือว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดในเนื้อหา เรื่องนี้เป็นเพียงวิธีการ
" คำปรารภไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของหลักการ เพราะหลักการของกฎหมาย เริ่มที่เนื้อหาของกฎหมาย แต่ไม่เป็นรูปแบบว่า รัฐธรรมนูญต้องมีคำปรารภด้วย ส่วนคำตอบของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ไม่เคยมีบรรทัดฐานมาก่อน จึงคิดว่า ควรมีการหารือกันให้ได้ข้อสรุป และข้อยุติร่วมกัน"
เมื่อถามว่า มีสมาชิก สปช. อ้างว่า คำปรารภเป็นส่วนสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ เมื่อปี 2556 นายจรัญ กล่าวว่าไม่ได้บอกอย่างนั้น เพราะบอกแค่เพียงว่า คำปรารภของรัฐธรรมนูญอาจถูกนำไปใช้เป็นเหตุผลประกอบการตีความรัฐธรรมนูญได้ เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่าเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่า คำปรารภเป็นสาระสำคัญ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถรับกรณีนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยได้หรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า เป็นปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยในอนาคต ซึ่งไม่สามารถให้คำตอบในเวลานี้ได้

** "เทียนฉาย"โยนครม.ตัดสินยื่นตีความ

นายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่สมาชิก สปช. ยื่นหนังสือ ขอให้ประธาน สปช. ส่งเรื่องต่อไปยัง ครม.เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เรื่องร่างรัฐธรรมนญ ยังไม่มีคำปรารภ ว่า ได้แจ้งต่อสมาชิก สปช. ที่ยื่นเรื่องดังกล่าวแล้วว่า ประธาน สปช.ไม่มีสิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากจะให้ตนยื่น ต้องเป็นมติของที่ประชุมสปช. ซึ่งต้องไปยื่นต่อครม.โดยตรง ทราบว่าสมาชิกสปช. ที่มีความจำนงได้ยื่นไปที่ครม.เเล้ว จึงเป็นอำนาจของ ครม. ที่จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
"ผมเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตีความก่อนวันที่ 6 ก.ย. จะตีความตอนไหนก็ได้ แต่ต้องทำก่อน การทำประชามติ เพื่อไม่ต้องเสียงบประมาณไปกว่า 3 พันล้านบาท ส่วนกรณีที่ 21 กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิกสปช. จะสามารถลงมติร่างรัฐธรรมนูญได้ หรือไม่นั้น ผมในฐานะประธานสปช. ไม่มีสิทธิห้าม เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดบังคับไม่ให้ลงมติ ดังนั้นเป็นสิทธิของแต่ละคนจะลงมติเช่นไร อาจจะไม่ออกเสียงหรือไม่รับร่างก็ได้ อย่าเพิ่งไปคาดเดา" นายเทียนฉาย กล่าว

** "วันชัย"ชี้ร่างรธน.ผ่านไปวุ่นวายแน่

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปช.ระดับหัวกะทิของกลุ่มต่าง อาทิ สายจังหวัด สายปกครองส่วนท้องถื่น สายการเมือง สายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สายวิชาการ และ อดีตข้าราชการบางส่วน ได้มีการปรึกษาหารือกันถึงการพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญที่จะลงมติในวันที่ 6 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ จากพูดคุยพวกเราได้มีขอสรุปร่วมกัน 3 ข้อคือ
1 . เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหา และมีสิ่งที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) และถ้ายังฝืนให้มีต่อไป จะก่อให้เกิดปัญหาต่อบ้านเมือง และจะก่อวิกฤตอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศ
2. หากสปช.ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน เพื่อไปทำประชามติ จะก่อให้เกิดความแตกแยก และทำให้เกิดความระส่ำระสายในบ้านเมืองขึ้นถึงขั้นที่รัฐบาลจะควบคุมไม่อยู่ และวิกฤตจะยิ่งบานปลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน สปช. และ ไปถูกคว่ำในชั้นประชามติ รัฐบาล กับ คสช.จะเสียคน และจะเป็นข้ออ้างให้เกิดการขับไล่ จนทำให้ไม่สามารถอยู่ในอำนาจต่อไปได้ โดยมีต้นเหตุมาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
3. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ว่าจะมีส่วนดี แต่มีส่วนเสียที่ถือว่าเป็นอันตรายใหญ่หลวง ซึ่งควรจะนำมาปรับปรุบแก้ไขให้ดีกว่าเดิม
โดยสปช.ที่มาหารือกัน เห็นควรว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และเกิดวิกฤตดังกล่าวขึ้น จึงไม่ควรจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยเด็ดขาด ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มกำลังประสานความร่วมมือกับสมาชิก สปช. ที่มีแนวคิดตรงกัน โดยมั่นใจว่า จะมีเสียง สปช. ให้การสนับสนุนจนสามารถดับวิกฤตของบ้านเมืองด้วยการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อไม่ให้ไปถึงการทำประชามติถามประชาชนได้

** "บิ๊กตู่"แจงเหตุที่ต้องมี คปป.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวภายหลังการประชุม ครม. ถึงท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตนและรัฐบาล ต้องอยู่ในบทบาทที่เหมาะสม เพราะมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ไม่ควรนำมาเป็นความขัดแย้งแล้วต่อต้านกันอีก เพราะส่วนหนึ่งต้องการประชาธิปไตย 100% ส่วนอีกพวกต้องการให้มีมาตรการแก้ไขปัญหา เพราะความขัดแย้งเกิดมา 8 ปี มีการประท้วงมา 700 กว่าวัน และก่อนวันที่ 22 พ.ค. มีความรุนแรง มีคนตาย บาดเจ็บ แต่ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนี้มีปัญหา เจอการประท้วง แก้ปัญหาไม่ได้ เลือกตั้งไม่ได้ จะทำอย่างไร นี่คือส่วนหนึ่งของเหตุผล ที่มีความจำเป็นต้องมีอะไรเข้ามากำกับดูแลเรื่องเช่นนี้ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ถ้ามีได้ ก็มีไป แต่ถ้ามีไม่ได้ แล้วเกิดสถานการณ์ที่ประเทศติดล็อกเดินหน้าไม่ได้ รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณไม่ได้ ลาออกก็ไม่ลาออก อย่างที่ผ่านมา จะทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องกำหนดกติกาขึ้นมา
" ผมไม่ได้หมายความว่า เขาจะให้รัฐบาลต้องอยู่ต่อ หรือไม่อยู่ต่อ ไม่มันเกี่ยวกับผม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชามติ ผมจะไปชี้ชัดอะไรมากไม่ได้ เพราะมอบหมายความรับผิดชอบให้เขาไปแล้ว ผมมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย เดินหน้าประเทศ วางพื้นฐานประเทศ และคิดว่าจะปฏิรูปประเทศอย่างไรในระยะยาว ซึ่งถ้าเลือกตั้งแล้วมั่นใจว่า ไม่มีปัญหาก็ทำไป แต่ถ้าไม่ไว้ใจก็รับฟังข้อเสนอมา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การสร้างความเข้มแข็งเชิงโครงสร้างให้กับประเทศ ต้องทำต่อในช่วงของการปฏิรูปหากรัฐบาลใหม่รับรองว่าจะทำการปฏิรูป แต่เวลานี้ ตนกลับยังไม่ได้ยินใครพูดเรื่องการปฏิรูป และเขายังไม่รู้เลยว่า การปฏิรูป คืออะไร สื่อมวลชนต้องไปถามว่า ถ้าจะอาสาสมัครมาดูแลประชาชน ต้องพูดว่าจะปฏิรูปอย่างไร มีแผนหรือไม่ และสิ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำวันนี้ มีแผนการทั้งหมด แต่ไม่ได้เขียนกรอบระยะเวลา ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้าต้องไปทำแผนมา ไม่ใช่ตน และถ้ามี คปป. ก็มีหน้าที่จะดูว่าการปฏิรูปนั้นว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ และประชาชนจะเป็นผู้ ตัดสินว่าพึงพอใจหรือไม่ มิเช่นนั้น จะไม่มีการประเมิน หากทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป รัฐบาลหน้าต้องมาสายงานต่อที่ตนได้ทำไว้ ซึ่งอยู่ที่ว่าวันนี้เราได้กำหนดกฎเกณฑ์อะไรไว้บ้าง
"ผมไม่อยากให้คำพูดว่า ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน แล้ว คสช.จะได้ประโยชน์ และที่ว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านก็มี คปป. อีก ถามว่า คปป.ให้ประโยชน์ตรงไหน ผมอยากจะรู้ว่า ประโยชน์ที่ว่ากันนั้น คืออะไร หากประโยชน์คือ อำนาจและผลประโยชน์ ผมไม่มีผลประโยชน์ และอำนาจ ผมก็ไม่ได้อยากได้ แต่เมื่อประชาชนเดือดร้อน ผมจึงเข้ามา เรื่องของ คปป.นั้น อำนาจไม่ได้ทับซ้อนกับรัฐบาล และไม่ได้มีอำนาจทางบริหาร หรือนิติบัญญัติ จะมีอำนาจต่อเมื่อเกิดสถานการณ์ และเข้ามาแก้ปัญหาความรุนแรง เพราะถ้าไม่มี ถ้าเจ้าหน้าที่ทำอะไรลงไปอาจจะติดคุกได้ เช่นเดียวกับที่ผมเข้ามา โดยต้องมีอำนาจตามกฎอัยการศึก จะได้ไม่ถูกไล่ล่า" นายกฯ ระบุ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ตนเข้ามาไม่ได้ต้องการอะไร มีเพียงกฎอัยการศึกอย่างเดียว ที่จะหยุดความรุนแรงและเดินหน้าประเทศได้ ยอมรับว่าตนเข้ามาไม่ถูกต้อง เพราะอย่างไรเสียประชาธิปไตยต้องดีกว่าอยู่แล้ว แต่ควรจะเป็นแค่ไหน ระยะเวลาใด ควรมีใครมากำกับดูแลหรือไม่ โดยไม่ทับอำนาจรัฐบาล รัฐบาลจะมีอำนาจเต็มจนกว่าจะเกิดวิกฤต ถ้าไม่เช่นนั้น ใครจะมาแก้ จะให้ทหารปฏิวัติอีกหรือ ตรงนี้ที่เขาทำมาคือ ไม่ต้องการให้มีการปฏิวัติอีก สิ่งเหล่านี้ต้องให้ประชาชนเข้าใจว่า เขาตั้งใจเขียนถึงอำนาจ คปป.ไว้เช่นไร ที่ผ่านมานักการเมืองชี้นำไปเรื่อย ในจุดที่เขาไม่เห็นด้วย โดย จะให้ประชาชนไม่เห็นด้วยตามไปด้วย ถ้ารัฐบาลในอนาคตสามารถทำได้ตามที่สัญญาไว้ ตนก็ไม่ได้อยากเกี่ยวข้อง เพียงแต่ห่วงว่าวันหน้าจะมีปัญหาเหมือนเดิมขึ้นมาอีกไหม ถ้าคิดว่าปัญหาไม่เกิด ก็เป็นเรื่องของคน เลือกตั้งได้ก็เลือกไป แต่ถ้าไม่มั่นใจจำเป็นต้องดูแลหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขอให้สื่อที่นำเสนอเรื่องคปป.แล้ว ขอให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดอื่นๆ ด้วย ในทุกมาตรา ตนกลุ้มใจที่ผลสำรวจออกมาว่า ประชาชนไม่รู้จัก สปช. สนช. ว่ามีหน้าที่ทำอะไรกัน ซึ่งตรงนี้สื่อจะช่วยได้มาก อย่าเขียนแต่เรื่องเดิมๆ ที่เป็นความขัดแย้ง เช่นตั้งทหาร ตำรวจ มีพรรค มีพวก ตนไม่ได้ต้องการพวก มีแต่จะต้องทำงานร่วมกันให้ได้ ไม่แสวงหาผลประโยชน์ จะเอาอะไรกันนักหนา ถามว่าคนที่มีเงินหมื่นล้าน แสนล้านได้ใช้เงินกันบ้างหรือไม่
เมื่อถามต่อถึงกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ออกมาระบุว่า การปฏิรูป น้อยไป โดยเฉพาะเรื่องตำรวจ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนรับทราบเรื่องดังกล่าว แต่ต้องมีการขับเคลื่อนกันต่อให้ทำทีเดียวจะสำเร็จหรือไม่ เราไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาสั้น เพราะมีความขัดแย้ง ถ้าบ้านเมืองสงบก็ทำได้เร็ว ทุกอย่างต้องเริ่มที่วุฒิภาวะ ของคนก็ต้องเริ่มที่การศึกษา การจะเอาคนไปเป็น ทหารตำรวจ ต้องมีจิตสำนึก
กำลังโหลดความคิดเห็น