“สุเทพ” นำมูลนิธิ กปปส.แถลงหนุนร่างรัฐธรรมนูญ ระบุมีหลักประกันการปฏิรูป เห็นแสงสว่างในอนาคต ทั้งเรื่องความมั่นคงปลอดภัย และชีวิตที่ดีขึ้น วอนขอโอกาสประชาชนตัดสินใจด้วยตัวเองโดยการทำประชามติ ส่วนรัฐบาลแห่งชาติไม่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์
ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร ราชประสงค์ วันนี้ (1 ก.ย.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย แถลงจุดยืนของมูลนิธิฯต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีกรรมการมูลนิธิ อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายอิสสระ สมชัย, นายพุทธิพงษ์ ปุณกันต์, นายชุมพล จุลใส, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร พร้อมทั้งนายอุทัย ยอดมณี อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลยสุตย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมการแถลงข่าว
นายสุเทพกล่าวว่า มุมมองของมวลมหาประชาชนที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยสำนึกที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยมองว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้เปิดโอกาสให้เจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปประเทศไทยเกิดขึ้นได้หรือไม่ เมื่อดูในประเด็นนี้ในสายตาของมวลมหาประชาชนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีพอที่จะนำไปให้ประชาชนให้ลงประชามติ คนที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือประชาชนทั้งประเทศ ผ่านการทำประชามติ
สำหรับมวลมหาประชาชนเรียกร้องและแสดงเจตนารมณ์มาตลอดว่าต้องปฏิรูปประเทศไทย ประชาชนคาดหวังเอาไว้ ทำอย่างไรจะให้กระบวนการในการปฏิรูปประเทศไทยดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศของเรามีความมั่นคง มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน ทั้งการปฏิรูปการเมือง โดยต้องปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นพรรคของประชาชน ไม่ต้องการให้เป็นพรรคของนายทุนที่เข้ามาหาผลประโยชน์ และเราอยากเห็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม รวมทั้งการปฏิรูปการกระจายอำนาจ ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข การศึกษา โดยมีเป้าหมายสำคัญในการแก้ปัญหาคนจน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และประการสุดท้ายคือต้องการให้ปฏิรูปตำรวจ เราต้องการให้ตำรวจเป็นตำรวจของประชาชน เมื่อมองจากการปฏิรูปทั้ง 5 ข้อนี้ มวลมหาประชาชนจึงเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญดีพอ เพราะมีหลักประกันว่าเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านและมีการประกาศใช้แล้วการปฏิรูปประเทศไทยจะมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
นายสุเทพกล่าวอีกว่า การปฏิรูปทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาล ส่วนราชการ ประชาชน องค์กรต่างๆ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีเจ้าภาพให้เห็น เพราะการปฏิรูปถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติ และคนที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ก็คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง (คปป.) ซึ่งจะดำเนินการให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็น และเชื่อว่าจะทำให้การปฏิรูปเดินหน้าต่อไปได้ และที่สำคัญมวลมหาประชาชนผ่านวิกฤติมาด้วยความเจ็บปวด เสียเลือดเนื้อเสียชีวิตในการต่อสู้เพื่อประเทศ แต่ก็ไม่มีทางออก จนนำมาสู่การยึดอำนาจ ซึ่งคนที่ไม่เคยอยู่ในวิกฤตนี้ด้วยตัวเองจะคิดและจินตนาการไม่ถึง
นายสุเทพชี้ว่า วันนี้รัฐธรรมนูญได้ระบุองค์กรบุคคลที่แก้ปัญหานี้ในอนาคต และร่างรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดทางออกวิกฤตเอาไว้ และไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะใช้อำนาจได้เต็มที่ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่าถ้าต้องการใช้อำนาจต้องปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด และทำแล้วต้องรายงานต่อสภาผู้แทน วุฒิสภา รายงานต่อประชาชน มุมมองอย่างนี้ประเด็นอย่างนี้พวกตนก็ยอมรับว่าอาจมีคนอื่นเห็นเป็นอย่างอื่น มองเป็นอย่างอื่น นี่ก็เป็นเสรีในทางความคิด แต่ประชาชนก็มองอย่างนี้
“เรียกร้องว่าขอโอกาสให้ประชาชนทั้งชาติได้ตัดสินใจ ให้ประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ได้มีโอกาสตัดสินใจอนาคตของประเทศบ้าง ที่ให้ทำประชามติ หวังที่สุดว่า ทุกฝ่ายได้เคารพมติของประชาชน มีโอกาสดีช่วงบวชสัมผัสประชาชน ติดตามสถานการณ์ผ่านทางประชาชน พูดได้เต็มปาก พูดในฐานะร่างทรงของมวลมหาประชาชน”
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีข้อเสียเลยใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า พวกตนมองทุกอย่างตามสภาพความเป็นจริง มองว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นของประเทศ ส่วนความบกพร่องก็มีเป็นธรรมดาไม่สมบูรณ์ วันข้างหน้าก็แก้ไขได้ จะให้ถูกใจ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่สาระสำคัญคือเป็นหลักประกันว่าอนาคตของประเทศไทย เราเห็นแสงสว่าง เราเห็นการพัฒนา เราเห็นโอกาสที่ประชาชนจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ประเทศมั่นคงปลอดภัย
ส่วนที่มีการมองว่าเป็นรัฐซ้อนรัฐนั้น แต่ละคนมุมมองไม่เหมือนกัน พวกตนมองว่าอยู่ที่ผลได้ผลเสียของประเทศที่จับต้องได้คือการปฏิรูป เราเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นตัวตั้ง เมื่อจะปฏิรูปประเทศต้องลงทุน อย่างไรก็ตามในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี่เรายังรู้สึกขาดคือการปฏิรูปตำรวจที่ยังน้อยไป ต้องฝากความหวังกับ คสช. ว่าประชาชนต้องการเห็นการปฏิรูปตำรวจ ทำได้ทันทีเดี๋ยวนี้ก็ได้ ม.44
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการรับร่างรัฐธรรมนูญและมีการทำประชามติ มูลนิธิจะเคลื่อนไหวอย่างไร นายสุเทพกล่าวว่า ยังไม่ได้คิดอะไร ประชาชนยังไม่ได้บอกว่าให้ทำอะไร แต่ก็ดูไปตามสถานการณ์และทุกอย่างที่ทำ มุ่งที่จะให้บ้านเมืองเรียบร้อย ขอโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจ
เมื่อถามอีกว่าเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ตนไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ เพราะยังไม่ชัดเจน ตนเคยมีประสบการณ์เห็นรัฐบาลผสมมาหลายยุคหลายสมัย จึงไม่ค่อยน่าเชื่อว่ารัฐบาลแห่งชาติจะเป็นประโยชน์ เพราะเป็นนามธรรมเกินไป และคิดว่ากลไกของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้น่าจะมีรัฐบาลของประชาชนได้