xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

"สุเทพ"ถอดผ้าเหลืองแล้ว อย่าลืมทวงถามปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อเช้าวันอังคาร 28ก.ค. พระสุเทพ ปภากโร หรือ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ลาสิกขาหลังบวชเป็นพระอยู่ที่วัดธารน้ำไหล (สวนโมกข์พลาราม) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มาร่วมปี เป็นการลาสิกขาก่อนเข้าเทศกาลเข้าพรรษาในช่วงปลายสัปดาห์นี้นั่นเอง

พระสุเทพ ได้เข้าอุปสมบทที่วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 ก.ค.57 ได้ฉายาว่า พระปภากโร ซึ่งหมายถึงผู้กระทำซึ่งแสงสว่าง เท่ากับพระสุเทพ อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์รวม 1 ปี 13 วัน

มีแกนนำ กปปส. รวมถึงแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปร่วมงานในวันดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก เพราะด้วยบารมีทางการเมืองของอดีตเลขาธิการ กปปส. ที่เป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์มาหลายปี งานใหญ่แบบนี้ หากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์-อดีตเครือข่าย กปปส.-อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอดีต ส.ส.ภาคใต้ไม่ไป คงไม่ได้แน่นอน

หลังพระสุเทพ ลาสิกขาแล้ว มีการเปิดให้สัมภาษณ์ ตอนนี้สุเทพ บอกว่า หันหลังให้พรรคประชาธิปัตย์แล้ว จึงไปแถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ ก็ต้องใช้สถานที่สะดวกๆ กันไปก่อน
 
ทิดสุเทพ ประกาศแล้วว่า จะไม่เล่นการเมืองอีก จะทำงานการเมืองภาคประชาชน คนก็ต้องสงสัยกันว่า กับภารกิจประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน กปปส. ที่พระสุเทพ จะไปเป็นประธาน และเป็นเอ็นจีโอ เคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปเป็นธงนำนั้น สุเทพ จะพอใจแค่นี้จริงหรือ แล้วมูลนิธิฯดังกล่าว จะมีภารกิจหลักๆ คืออะไร ทางประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ก็จะต้องพูดอย่างเป็นทางการไปสักที

สำหรับ อดีตเลขาธิการ กปปส.แล้ว ในทางการเมืองแบบเปิดหน้า ก็พอเข้าใจอยู่ว่า คงยากจะได้เห็นที่อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ไปเล่นบทคอยกำกับดูแล สมาชิก-ส.ส.ของประชาธิปัตย์ หรือไปรับตำแหน่งการเมืองใดๆ อีก เพราะเมื่อประกาศไปแล้วว่า ไม่เล่นการเมืองอีก หากบิดพลิ้ว ก็คงทำให้ กปปส. เสียโดยรวมไปด้วย อันนี้ก็เชื่อว่า อดีตเลขาธิการ กปปส. คงไม่ทำ

แต่ในทางการเมืองแบบไม่เปิดหน้านั้น ยังไงบารมีการเมืองของอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนนี้ในพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีมากกว่าทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และ จุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรครวมกัน ยังไงเสีย คนในพรรค ก็ยังต้องให้อดีตเลขาธิการพรรค นามสุเทพ คอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ แน่นอน
 
น่าติดตามว่า บทบาทของอดีตเลขาธิการ กปปส. หลังจากนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะกับภารกิจเฉพาะหน้า ที่สำคัญคือ การติดตามทวงถามทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ -กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ- คณะคสช. และรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่อง"การปฏิรูป" ที่ กปปส.เคยชูไว้ ภายใต้สโลแกน ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งวันนี้หลายเรื่องไม่คืบหน้า นอกจากตัวใหญ่ๆ ใน กปปส. ไม่แตะ ไม่พูดถึงแล้ว ยังไม่สนใจอีกต่างหาก

หลายคนโดยเฉพาะอดีตมวลมหาประชาชนทั้งหลาย ที่เคยเห็นด้วยกับ กปปส.ในเรื่องการปฏิรูปประเทศ ก็อยากเห็นบทบาทในส่วนนี้ ของอดีตเลขาธิการ กปปส.อย่างมาก ว่าเมื่อสึกออกมาแล้ว จะกระทุ้งและติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง และได้ผลแค่ไหน เพราะขนาดคนใน กปปส.เองหลายคนก็ยอมรับและออกมาวิพากษ์วิจารณ์แม่น้ำ 5 สายคสช. อย่างต่อเนื่องว่า เรื่องปฏิรูปประเทศ ผ่านมาแล้วหนึ่งปี ยังวกวนไม่ชัดเจน ไร้ข้อสรุป และทิศทางที่เป็นรูปธรรม

ทวนความจำกันให้ก็ได้ว่า ประเด็นปฏิรูปหลักๆ ที่กปปส. เคยชูขึ้นมาในช่วงการชุมนุมใหญ่ ที่มีประเด็นหลักๆ เลยก็มีดังนี้

1. ปฏิรูปการเมือง เช่นการทำให้พรรคการเมืองปลอดจากระบบทุนสามานย์ ทุนผูกขาด ที่ทำให้ ส.ส.เป็นแค่พนักงานบริษัท โดยต้องทำให้พรรคเป็นของประชาชน และสมาชิกพรรคอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้มีการถอนทุนการเมืองหลังเลือกตั้ง

2. กระจายอำนาจโดยเฉพาะการชูเรื่อง "การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง" ในจังหวัดที่มีความพร้อม รวมถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับชั้นอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้อำนาจถูกผูกขาดไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป

3. ปฏิรูปตำรวจ ที่ กปปส. เสนอแนวทางเรื่องการกระจายอำนาจและสายการบังคับบัญชาจากส่วนกลางออกไปสู่จังหวัด โดยลดโครงสร้างระบบตำรวจที่รวมศูนย์ไว้ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการภาคมากเกินไป เพื่อทำให้ลดระบบการเล่นพรรคเล่นพวกในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทั่วประเทศ จะได้ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง

4. การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการให้โอกาสกับคนในสังคมกลุ่มต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงเรื่องต่างๆ เช่น การศึกษา การใช้ทรัพยากรประเทศ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแบบเท่าเทียม เป็นต้น

5. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่เสนอให้มีการใช้ยาแรงมากขึ้น เช่น คดีทุจริตต้องมีเครื่องมือที่เป็นยาแรงมากขึ้นเช่น ไม่มีอายุความ การให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตมากขึ้น

6.การปฏิรูปพลังงาน ที่เข้ามาช่วงท้ายๆ ในการชูประเด็นการปฏิรูปของ กปปส.

 ถ้าไล่เรียงประเด็นความคืบหน้าของแต่ละเรื่อง ก็จะเห็นความจริงว่า หลายเรื่องไม่มีอะไรคืบหน้าเลย เช่น การปฏิรูปตำรวจ ซึ่งดูแล้ว รัฐบาล คสช. คงซื้อเวลาไม่ทำอะไรในเรื่องนี้แน่นอน ทั้งที่เรื่องปฏิรูปตำรวจ เป็นประเด็นการปฏิรูปที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยมากสุด แต่รัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่ได้ขยับอะไรเลยแม้แต่น้อย

ขณะที่บางเรื่อง อย่างเช่น ปฏิรูปพลังงาน ก็กลายเป็นว่าคนที่เคยขึ้นเวทีฝ่าย กปปส. และเป็นตัวหลักในเรื่องนี้ อย่าง ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ วันนี้คสช. ก็ตั้งให้เป็นประธานบอร์ด ปตท.ไปแล้ว โดยที่เรื่องปฏิรูปพลังงานก็เห็นแล้วว่า ไม่ได้มีอะไรคืบหน้าเลย นอกจากความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันโครงการต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ หรือความพยายามที่จะเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ขณะที่เข็มทิศในการปฏิรูปพลังงานว่า ประเทศไทยจะเดินไปในทางไหน กลับเงียบหายไป

ประเด็นความไม่คืบหน้าในเรื่องการปฏิรูป น่าจะเป็นการบ้านหลักเรื่องแรกๆ ที่ อดีตลุงกำนัน ต้องมาสะสางเรื่องนี้ ให้มวลชน กปปส.ได้รับรู้ว่า สุดท้าย ลุงกำนัน ยังจะเอาจริงเรื่องปฏิรูปอยู่หรือไม่ แล้วกล้าติดตามทวงถามความคืบหน้าจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. หรือไม่
 
หรือจะลืมๆ กันไปแล้ว กับข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปประเทศ ทั้งที่เห็นอยู่ชัดๆ ว่า ทุกเรื่องที่ กปปส.เคยชูขึ้นมา ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเลยแม้แต่น้อย กับเวลาที่ผ่านไปหนึ่งปีของ คสช.


กำลังโหลดความคิดเห็น