xs
xsm
sm
md
lg

“สุเทพ” ถอดผ้าเหลืองแล้ว อย่าลืมทวงถามปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มื่อเช้าวันอังคารที่ 28 ก.ค. พระสุเทพ ปภากโร หรือ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ลาสิกขาหลังบวชเป็นพระอยู่ที่วัดธารน้ำไหล (สวนโมกข์พลาราม) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มาร่วมปี เป็นการลาสิกขาก่อนเข้าเทศกาลเข้าพรรษาในช่วงปลายสัปดาห์นี้นั่นเอง

พระสุเทพได้เข้าอุปสมบทที่วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 ก.ค. 2557 ได้ฉายาว่า พระปภากโร ซึ่งหมายถึงผู้กระทำซึ่งแสงสว่าง เท่ากับพระสุเทพอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์รวม 1 ปี 13 วัน

มีแกนนำ กปปส. รวมถึงแกนนำพรรคประชาธิปัตย์เดินทางไปร่วมงานในวันดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก เพราะด้วยบารมีทางการเมืองของอดีตเลขาธิการ กปปส.ที่เป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์มาหลายปี งานใหญ่แบบนี้ หากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ อดีตเครือข่าย กปปส. อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอดีต ส.ส.ภาคใต้ไม่ไปคงไม่ได้แน่นอน

หลังพระสุเทพลาสิกขาแล้วมีการเปิดให้สัมภาษณ์ สุเทพบอกว่า หันหลังให้พรรคประชาธิปัตย์แล้วจึงไปแถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ ต้องใช้สถานที่สะดวกกันไปก่อน ทิดสุเทพประกาศแล้วว่าจะไม่เล่นการเมืองอีก จะทำงานการเมืองภาคประชาชน คนก็ต้องสงสัยกันว่ากับภารกิจประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน กปปส.ที่พระสุเทพจะไปเป็นประธานและเป็นเอ็นจีโอเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปเป็นธงนำนั้น สุเทพจะพอใจแค่นี้จริงหรือ แล้วมูลนิธิดังกล่าวจะมีภารกิจหลักๆ คืออะไร ทางประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนก็จะต้องพูดอย่างเป็นทางการไปสักที

สำหรับอดีตเลขาธิการ กปปส.แล้ว ในทางการเมืองแบบเปิดหน้าก็พอเข้าใจอยู่ว่าคงยากจะได้เห็นที่อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ไปเล่นบทคอยกำกับดูแลสมาชิก-ส.ส.ของประชาธิปัตย์ หรือไปรับตำแหน่งการเมืองใดๆ อีก เพราะเมื่อประกาศไปแล้วว่าไม่เล่นการเมืองอีก หากบิดพลิ้วก็คงทำให้ กปปส.เสียโดยรวมไปด้วย อันนี้ก็เชื่อว่าอดีตเลขาธิการ กปปส.คงไม่ทำ

แต่ในทางการเมืองแบบไม่เปิดหน้านั้น...อย่างไร? บารมีการเมืองของอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนนี้ในพรรคประชาธิปัตย์ก็มีมากกว่า ทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และ จุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรครวมกัน ยังไงเสียคนในพรรคก็ยังต้องให้อดีตเลขาธิการพรรคนามสุเทพคอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ แน่นอน

น่าติดตามว่า บทบาทของอดีตเลขาธิการ กปปส.หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะกับภารกิจเฉพาะหน้า ที่สำคัญคือ การติดตามทวงถามทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ - สภานิติบัญญัติแห่งชาติ - กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ - คณะ คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเรื่อง “การปฏิรูป” ที่ กปปส.เคยชูไว้ภายใต้สโลแกนปฏิรูปก่อนเลือกตั้งซึ่งวันนี้หลายเรื่องไม่คืบหน้า นอกจากตัวใหญ่ๆ ใน กปปส.ไม่แตะไม่พูดถึงแล้วยังไม่สนใจอีกต่างหาก

หลายคนโดยเฉพาะอดีตมวลมหาประชาชนทั้งหลายที่เคยเห็นด้วยกับ กปปส.ในเรื่องการปฏิรูปประเทศ ก็อยากเห็นบทบาทในส่วนนี้ของอดีตเลขาธิการ กปปส.อย่างมากว่า เมื่อสึกออกมาแล้วจะกระทุ้งและติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจังและได้ผลแค่ไหน เพราะขนาดคนใน กปปส.เองหลายคนก็ยอมรับและออกมาวิพากษ์วิจารณ์แม่น้ำ 5 สาย คสช.อย่างต่อเนื่องว่าเรื่องปฏิรูปประเทศผ่านมาแล้ว 1 ปี ยังวกวนไม่ชัดเจน ไร้ข้อสรุปและทิศทางที่เป็นรูปธรรม

ทวนความจำกันให้ก็ได้ว่า ประเด็นปฏิรูปหลักๆ ที่ กปปส.เคยชูขึ้นมาในช่วงการชุมนุมใหญ่ที่มีประเด็นหลัก มีดังนี้

1. ปฏิรูปการเมือง เช่น การทำให้พรรคการเมืองปลอดจากระบบทุนสามานย์ ทุนผูกขาด ที่ทำให้ ส.ส.เป็นแค่พนักงานบริษัท โดยต้องทำให้พรรคเป็นของประชาชน และสมาชิกพรรคอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้มีการถอนทุนการเมืองหลังเลือกตั้ง

2. กระจายอำนาจ โดยเฉพาะการชูเรื่อง “การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง” ในจังหวัดที่มีความพร้อม รวมถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับชั้นอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้อำนาจถูกผูกขาดไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป

3. ปฏิรูปตำรวจ ที่ กปปส.เสนอแนวทางเรื่องการกระจายอำนาจและสายการบังคับบัญชาจากส่วนกลางออกไปสู่จังหวัด โดยลดโครงสร้างระบบตำรวจที่รวมศูนย์ไว้ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการภาคมากเกินไป เพื่อทำให้ลดระบบการเล่นพรรคเล่นพวกในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทั่วประเทศ จะได้ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง

4. การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการให้โอกาสกับคนในสังคมกลุ่มต่าง ๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงเรื่องต่างๆ เช่น การศึกษา การใช้ทรัพยากรประเทศ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแบบเท่าเทียม เป็นต้น

5. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เสนอให้มีการใช้ยาแรงมากขึ้น เช่น คดีทุจริตต้องมีเครื่องมือที่เป็นยาแรงมากขึ้น เช่น ไม่มีอายุความ การให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตมากขึ้น

6. การปฏิรูปพลังงาน ที่เข้ามาช่วงท้ายๆ ในการชูประเด็นการปฏิรูปของ กปปส.

ถ้าไล่เรียงประเด็นความคืบหน้าของแต่ละเรื่อง ก็จะเห็นความจริงว่าหลายเรื่องไม่มีอะไรคืบหน้าเลย เช่นการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งดูแล้ว รัฐบาล คสช.คงซื้อเวลาไม่ทำอะไรในเรื่องนี้แน่นอน ทั้งที่เรื่องปฏิรูปตำรวจ เป็นประเด็นการปฏิรูปที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยมากสุด แต่รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่ได้ขยับอะไรเลยแม้แต่น้อย

ขณะที่บางเรื่องอย่างเช่น “ปฏิรูปพลังงาน” ก็กลายเป็นว่าคนที่เคยขึ้นเวทีฝ่าย กปปส. และเป็นตัวหลักในเรื่องนี้ อย่าง ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ วันนี้ คสช. ก็ตั้งให้เป็นประธานบอร์ด ปตท.ไปแล้ว โดยที่เรื่องปฏิรูปพลังงานก็เห็นแล้วว่า ไม่ได้มีอะไรคืบหน้าเลยนอกจากความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันโครงการต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ หรือความพยายามที่จะเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ขณะที่เข็มทิศในการปฏิรูปพลังงานว่าประเทศไทยจะเดินไปในทางไหน กลับเงียบหายไป

ประเด็นความไม่คืบหน้าในเรื่องการปฏิรูป น่าจะเป็นการบ้านหลักเรื่องแรกๆ ที่อดีตลุงกำนันต้องมาสะสางเรื่องนี้ให้มวลชน กปปส.ได้รับรู้ว่า สุดท้ายลุงกำนันยังจะเอาจริงเรื่องปฏิรูปอยู่หรือไม่ แล้วกล้าติดตามทวงถามความคืบหน้าจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช.หรือไม่

หรือจะลืมๆ กันไปแล้วกับข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปประเทศ ทั้งที่เห็นอยู่ชัดๆ ว่า ทุกเรื่องที่ กปปส.เคยชูขึ้นมา ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเลยแม้แต่น้อยกับเวลาที่ผ่านไป 1 ปีของ คสช.
กำลังโหลดความคิดเห็น