“สปช.วันชัย” เผยสมาชิกหลายคณะเตรียมศึกษาเนื้อหารัฐธรรมนูญแล้ว ระบุ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กับ ปฏิรูปกฏหมาย หัวหอกพิจารณารายประเด็นอย่างใกล้ชิด นำประมวลประเมินทั้งหมด ดูจุดดีเด่นด้อยรับได้รับไม่ได้ ก่อนแถลง รับ 2 กลุ่มประสานกลุ่มอื่นๆ อยู่ตลอด เชื่อหลัง 13 ส.ค.คงเถียงกันแรงขึ้น พร้อมเรื่องใหญ่ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือไม่ แย้มที่มา ส.ส.-ส.ว.-นายกฯ จุดชี้ชะตาโหวตผ่านหรือไม่
วันนี้ (26 ก.ค.) นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ สปช.ต่อร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ว่า งานปฏิรูปประเทศของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภาปฏิรูปแห่งชาติเริ่มจะงวดเข้ามาทุกทีและคงจะเสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 10 ส.ค.นี้ กรรมาธิการบางคณะก็เสนองานปฏิรูปต่อที่ประชุมสปช.เสร็จไปแล้ว จึงเหลือในส่วนของคณะอื่นๆไม่มากนัก ดังนั้น สปช.ในหลายคณะกรรมาธิการเตรียมมาติดตามศึกษาต่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่จะเสนอต่อสภาปฏิรูปในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เรียกได้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมการศึกษาประสานแนวร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแต่ละกลุ่มแต่ละคณะ ทั้งนี้เท่าที่ติดตามดูและมีการปรึกษาหารือร่วมกันโดยเฉพาะกลุ่มปฏิรูปทางการเมืองและกลุ่มปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้มีการเตรียมการวางแผนเป็นหัวหอกในการศึกษาและพิจารณาประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด มีการติดตามแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นกลุ่มแกนนำในการประมวลและประเมินรัฐธรรมนูญทั้งหมด จะชี้ให้เห็นถึงจุดใดที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร จุดดี จุดเด่น จุดด้อย จุดบกพร่อง จุดใดรับได้ จุดใดรับไม่ได้ จากนั้นจะนำข้อพิจารณาทั้งหมดแถลงให้ประชาชนได้รับทราบ จะได้มีส่วนอย่างสำคัญให้เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง อีกทั้งจะเป็นข้อประกอบการพิจารณาของ สปช.ว่าประชาชนเขามีความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญอย่างไรและเขาต้องการอย่างไร อันจะมีส่วนอย่างสำคัญที่จะให้ สปช.พิจารณาในการโหวตรัฐธรรมนูญ คำนึงถึงความต้องการของประชาชน และเสียงสะท้อนของประชาชน
นายวันชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้กลุ่มปฏิรูปการเมืองและกลุ่มปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้มีการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ สปช.กลุ่มต่างๆ ทั้งรายกลุ่มและรายบุคคลอยู่ตลอดเวลา เช่น กลุ่ม สปช.จังหวัด กลุ่ม สปช.สายอดีตข้าราชการทั้งพลเรือน ทหาร กลุ่ม สปช.สายนักวิชาการ สายเอ็นจีโอ และกลุ่ม สปช. ที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน ได้มีการปรึกษาหารือผ่านแกนแต่ละกลุ่มอยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะเคลื่อนไหวไปในแนวทางเดียวกันที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน จึงเชื่อว่าหลังเสร็จภารกิจเรื่องงานปฏิรูปประเทศและแถลงการปฏิรูปประเทศต่อประชาชนของสภาปฏิรูปฯ ในวันที่ 13 ส.ค.แล้ว คงจะมีการเคลื่อนไหวในเรื่องรัฐธรรมนูญมีการถกแถลงกันแรงขึ้น อันจะทำให้หาแนวทางร่วมกันว่าเห็นควรจะให้รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน โดยจะต้องมีคำตอบอย่างชัดเจนให้แก่ประชาชนว่าที่ให้ผ่านนั้นด้วยเหตุผลใด และที่ไม่ให้ผ่านนั้นก็ด้วยเหตุผลใดเช่นกัน ตรงนี้จะเป็นคำตอบที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมพิจารณา เพราะเป็นข้อเรียกร้องของประชาชนจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั่นก็คือจะต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และวันนี้จนกระทั่งที่จะมีการโหวตให้รัฐธรรมนูญผ่านนำไปสู่การเลือกตั้งได้มีการปฏิรูปประเทศเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง หรือจะปล่อยให้มีการเลือกตั้งแล้วค่อยไปปฏิรูป ประเด็นนี้คงจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กลุ่มต่างๆ จะนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจของสมาชิกควบคู่ไปกับการโหวตรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ
“เท่าที่มีการปรึกษาหารือกันในเบื้องต้น เกือบจะทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีความเห็นพ้องต้องกันว่า หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าตัวการเมือง นักการเมืองดีเสียแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างตามร่างรัฐธรรมนูญก็คงจะดีไปหมด ถ้านักการเมืองไม่ได้เรื่อง ไม่ดี ทุกสิ่งทุกอย่างก็คงจะบิดเบี้ยวไปหมด จึงต้องพิจารณาประเด็นนี้กันอย่างละเอียดรอบคอบ พูดง่ายๆ ก็คือไล่เรียงกันอย่างถี่ยิบ จุดดี-จุดเด่น-จุดด้อย เอามาเปรียบเทียบกันในแบบขึงพืดให้เห็นกันอย่างชัดเจน ณ ขณะนี้เฉพาะประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี การเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วนผสมและที่มา ส.ว.ก็วิพากษ์วิจารณ์กันชนิดที่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็อยู่ตรงประเด็นนี้แหละ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกันอย่างมากมาย แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิมเลย และก็ไม่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาของประเทศได้เฉพาะ 2-3 เรื่องนี้ก็น่าคิดแล้ว ถ้าวิเคราะห์เจาะลึกเข้าไปละเอียดทุกมาตราผสมกับเรื่องที่ว่านี้แล้วก็ยิ่งจะไปกันใหญ่ ยิ่งใกล้วันส่งรัฐธรรมนูญและใกล้วันโหวตผมก็พลอยวิตกกังวลไปกับกรรมาธิการยกร่างฯ ด้วยเหมือนกัน” นายวันชัยกล่าว