xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เลื่อนประชุม รอถกลับวันพุธชง 5 - 6 เรื่อง จี้ รบ.ปฏิรูปให้ได้ เชื่อ รธน.ไม่ผ่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
หนังสือด่วน สปช. งดประชุมจันทร์นี้ รอประชุมลับ 24 มิ.ย. ประมวล 5 - 6 เรื่องสำคัญ ชูขึ้นเสนอรัฐต้องปฏิรูปให้ได้ก่อนเลือกตั้ง ไม่สำเร็จให้สังคมตัดสิน ชี้ รบ. นี้ ทำไม่ได้ปฏิรูปคงเกิดยาก แย้ม มีเคลื่อนไหวคนนอกเข้าวงการเมือง ค้าน ลด ส.ส. คงอำนาจ กก.บห. จัด ชี้ วังวนเดิม ยังมีหนุนโอเพ่นลิสต์ ที่มา ส.ว. ยังเสียงแตก เชื่อ มีเสียงค้าน รธน. มากขึ้น สปช. คุมไม่อยู่จนไม่ผ่านความเห็นชอบ กมธ.ยกร่างฯจ่อเจอไล่บี้หนัก


วันนี้ (21 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีหนังสือด่วนมากแจ้งถึงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรณีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีคำสั่งให้งดการประชุมในวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2558 และนัดประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งต่อไปในวันอังคารที่ 23 มิถุนายน เวลา 10 นาฬิกา

นายวันชัย สอนศิริ เลขา วิป สปช. กล่าวถึงเหตุผลที่งดประชุมว่าอาจเป็นเพราะไม่มีวาระและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติจะรอให้มีการประชุมภายในที่โรงแรมรามาการ์เด้น วันที่ 24 มิ.ย. เพื่อประมวลเรื่องสำคัญ 5 - 6 เรื่อง ชูขึ้นมานำเสนอต่อรัฐบาลและสาธารณะ เพราะ สปช. เหลือเวลาอยู่สองเดือนทำภารกิจหลักสองเรื่อง คือ เตรียมสรุปเนื้อหาการปฏิรูปทั้ง 18 คณะ เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็จะบรรจุหีบห่อเตรียมเสนอให้รัฐบาลต่อไป

จากนั้น สปช. จะชูประเด็นสำคัญ 5 - 6 เรื่อง จาก 37 ประเด็น ซึ่งจะสรุปกันในวันที่ 24 มิ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้น และนำ 5 - 6 เรื่องดังกล่าวแถลงต่อสาธารณชนให้รับทราบว่า วาระการปฏิรูป 5 หรือ 6 เรื่องนี้รัฐบาลต้องปฏิรูปให้ได้ และให้ประชาชนช่วยกันเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้การปฏิรูปสำเร็จให้ได้

ทั้งนี้ นายเทียนฉาย ได้ตั้งคณะทำงานชุดเล็กเพื่อเสนอเรื่องเหล่านี้ให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา เช่น การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม การปกครองบริหารท้องถิ่น การบริหารราชการแผ่นดินจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น การปฏิรูปตำรวจ และอาจจะมีเรื่องการศึกษา ซึ่งน่าจะตกผลึกได้ในวันที่ 24 มิ.ย. เสนอต่อรัฐบาลให้ทำให้แล้วเสร็จก่อนเลือกตั้ง แต่ถ้าทำไม่สำเร็จสังคมก็ต้องเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะเป็นโอกาสที่จะทำได้ ถ้าเลยจากรัฐบาลนี้ไปแล้วคิดว่ายากจะเกิดขึ้นเพราะการปฏิรูปบางเรื่องต้องใช้อำนาจพิเศษ

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการปรับแก้รัฐธรรมนูญของกรรมาธิการ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่ในต้นเดือนกันยายนนี้ ดังนั้น แต่ละคณะที่ขอแก้ไขไปก็มีการรวมกลุ่มติดตาม ซึ่งเท่าที่ได้มีการหารือกันสมาชิกแต่ละคนที่ขอแก้ไข เช่น กรณีนายกรัฐมนตรีคนนอก ยืนตามร่างเดิม ให้ส.ส. โหวต คนนอกใช้เสียงสองในสาม ในขณะที่มีการขอให้แก้ไขว่า ให้เป็น ส.ส. เท่านั้น กลุ่มนี้ก็เริ่มมีการขับเคลื่อนเพื่อคัดค้านว่า เปิดช่องให้บุคคลภายนอกเข้ามามีบทบาททางการเมือง

อีกทั้งเรื่องที่มา ส.ส. ที่กำหนด 300 เขต สัดส่วน 150 คน หัวหน้าพรรคกำหนดนั้นก็เห็นว่าไม่มีอะไรใหม่เป็นไปตามแบบเดิม เพียงแค่ลดสัดส่วน ส.ส. ลง 100 คน เป็นการปรับเปลี่ยนตัวเลขเท่านั้น จึงเริ่มมีคนคัดค้านว่าแก้ปัญหาไม่แท้จริง เพราะยังให้อำนาจกรรมการบริหารพรรคเป็นคนจัดระบบสัดส่วน เหมือนอยู่ในวังวนเดิมแค่ลดตัวเลข เพราะบางกลุ่มต้องการให้มี ส.ส. เขตอย่างเดียว แต่ก็มีบางกลุ่มที่เห็นด้วยกับระบบโอเพ่นลิสต์ เพื่อไม่ให้เกิดเผด็จการในสภา กลุ่มนี้ก็ไม่พอใจว่าปรับ เปลี่ยนโดยไม่มีหลักการ เรื่องนี้จึงมีแนวคิดที่กระจัดกระจาย

ส่วนประเด็นที่มา ส.ว. จะใช้การสรรหาและลดบทบาท อำนาจลง ก็มีคนคัดค้านเพราะอยากให้มีการเลือกตั้งอย่างเดียว และ สปช. ต่างจังหวัดที่เห็นว่าควรมีการสรรหาและเลือกตั้งก็เริ่มไม่พอใจการปรับแก้ดังกล่าว ดังนั้น แต่ละกลุ่มจะชูประเด็นที่ไม่เห็นด้วยออกมามากขึ้น หลังจากกรรมาธิการมีการปรับแก้จะมีประเด็นที่ทำให้ สปช. เริ่มไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ได้รับการตอบสนอง จะนำจุดที่เป็นตำหนิ และไม่เห็นด้วยมาชูธงปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้ส่วนดีถูกกลบไปจากสิ่งที่สมาชิกไม่เห็นด้วย

“เชื่อว่า ยิ่งใกล้วันขึ้นก็จะมีเสียงไม่เห็นด้วยมากขึ้น เพราะตอนนี้ก็คุกรุ่นแล้ว เช่น เรื่องที่มา กต. พอผู้พิพากษาค้านก็เปลี่ยนกลับไปเป็นอย่างเดิมไม่ยืนหยัดในหลักการ เพราะบางกลุ่มก็เห็นด้วยว่าควรให้ภาคประชาชนไปตรวจสอบใน กต. แต่ตุลาการต้องการความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง จึงมีทั้งประเด็นที่คนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาการของกรรมาธิการจะสาหัสทีเดียว กระสุนจะตกไปที่กรรมาธิการจำนวนมาก โดยเฉพาะการที่ไม่ยืนตามหลักการเดิมแก้ไขเพื่อให้รัฐธรรมนูญผ่าน” นายวันชัย กล่าว

นายวันชัย ยังคงมั่นใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. และจะเริ่มมีความเคลื่อนไหวทั้งใน สปช. พรรคการเมือง และสังคมภายนอกในการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นจนกลายเป็นห่ากระสุนใส่กรรมาธิการ เริ่มตั้งแต่สัปดาห์หน้าไปเรื่อยๆ เพราะ สปช. มีความเป็นอิสระมากขึ้นในการโหวต จึงเชื่อว่าจะเกิดความเจี๊ยวจ๊าวไม่สามารถคุมได้ ทุกคนจะเป็นตัวของตัวเองเพราะคิดว่ายังไงก็หมดวาระอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น