xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

"หลวงลุง" ถลกจีวรเชียร์ !! "บิ๊กตู่"อยู่อีก3ปี5ปีก็ไม่เห็นน่ารังเกียจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ณ วันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อการประกาศใช้ หรือไม่

แม้วว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะออกมาส่งสัญญาณว่าไม่ขัดข้องหากสังคมต้องการให้มีการทำประชามติ แต่ตัวเองจะไม่เป็นคนตัดสินใจ โดยโยนให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสภาปฏิรูปแห่งชาติไปหารือกัน หากได้ข้อสรุปว่าจะทำประชามติ ก็ให้เสนอเรื่องขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาเพื่อดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม เรื่องการจะทำประชามติหรือไม่ ไม่ได้อยู่ในอำนาจการตัดสินใจโดยตรงของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นผู้ตัดสินใจ

ซึ่งท่าทีของ ครม.และคสช. ในขณะนี้ก็ยังเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องใจร้อน รีบตัดสินใจ เพราะยังเพิ่งอยู่แค่ชั้นรวบรวมความคิดเห็น เพื่อเสนอคำแปรญัตติ ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ของสภาปฏิรูปฯ จากนั้นคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยังต้องใช้เวลาปรับแก้ ก่อนที่จะส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริง ให้สภาปฏิรูปฯโหวต ว่าเห็นชอบหรือไม่ ในวันที่ 6 ส.ค. 58

ขณะที่ฝ่ายนักการเมือง ที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญร่างแรก ได้พยายามเสนอความคิดเห็นผ่านสื่อ เพื่อให้มีการแก้ไข ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตัวเอง คือ เรื่องที่มาส.ส. ที่มาส.ว. นายกรัฐมนตรีคนนอก การให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเสนอกฎหมายพิเศษ ตามมาตรา181,182 แต่ก็เกรงว่า กรรมาธิการยกร่างฯ จะยังคงยืนยันหลักการเดิม ไม่ยอมปรับแก้ จึงหวังจะใช้การทำประชามติมาเป็นเงื่อนไขกดดัน

ยอมที่จะให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดการเดิมตามโรดแมป เพราะหากมีการทำประชามติ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ ซึ่งทั้งสองขั้นตอนนี้คาดว่าจะใช้เวลา 4-5 เดือน การเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 59 ก็จะต้องเลื่อนไปเป็นกลางปี หรือปลายปี

นั่นเป็นกรอบกว้างๆ ของการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าลงในรายละเอียดแล้วยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกมาก เช่น จะทำประชามติโดยให้ประชาชนให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้ทั้งฉบับ หรือ ทำเฉพาะบางมาตราที่เห็นว่าเป็นปัญหา หรือจะมีการนำเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับเก่า อย่างปี 2540 และ 2550 หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในช่วงที่ต้องให้ความรู้กับประชาชน ก่อนลงประชามติ ซึ่งเป็นช่วงที่ถือว่ามีความอ่อนไหว ในแง่ของความมั่นคง เพราะต้องยอมรับความจริงว่า 1 ปี ที่ คสช.ยึดอำนาจมานี้ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความแตกแยกของกลุ่มการเมือง ที่แบ่งพวก แบ่งสี ได้อย่างแท้จริง ที่ดูเหมืองสงบในตอนนี้ เป็นเพียงแค่เพลาๆ การเคลื่อนไหว เพราะถูกคำสั่งคสช. กดหัวไว้ ถ้าถึงช่วงนั้นที่จะมีการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้ คสช.ยกเลิก หรือผ่อนคลายคำสั่งเพื่อให้บรรยากาศของการแสดงออกมีมากกว่านี้ 

และนั่นเป็นสิ่งที่คสช. กังวลมาตลอด เพราะถ้ามีการผ่อนคลายให้มีการเคลื่อนไหว อาจมีเหตุแทรกซ้อนขึ้นมาได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า คดี ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่องจำนำข้าว ที่มีการฟ้องทั้งอาญา ทั้งฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายหลายแสนล้าน เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอการกดรีโมต

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้มีข้อเสนอจาก ไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่โยนออกมาในเชิงความเห็นส่วนตัวว่า จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เกี่ยวกับการทำประชามติ ว่า ควรกำหนดไว้ในส่วนของ บทเฉพาะกาล มาตรา 308 ให้มีการทำประชามติ หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ไปแล้ว ภายใน 90 วัน โดยจะทำเป็นรายมาตรา ในประเด็นสำคัญ ที่เกี่ยวกับ ที่มา ส.ส.- ส.ว. รวมทั้งให้ประชาชนกำหนดด้วยว่า จะให้ปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อน หรือจะเลือกตั้งก่อน

โดยอ้างว่า ที่เสนอเช่นนี้ เพราะไม่อยากให้รัฐบาล และคสช.ต้องลำบากใจ ในการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพราะจะทำให้เวลาตามโรดแมปต้องยืดเยื้อออกไป ดังนั้นจึงควรทำตามโรดแมปเดิมให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วค่อยทำประชามติ

ซึ่งข้อเสนอนี้ค่อนข้างจะซับซ้อนและเป็นไปได้ยาก เพราะถึงแม้จะทำประชามติในช่วงหลังการใช่รัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขตามความต้องการของประชาชนได้ทันที ต้องรอเวลาให้ผ่านไป 5 ปีก่อนจึงจะแก้ไขได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้เขียนล็อกไว้แล้ว

ยิ่งถ้าเพิ่มประเด็นที่ว่า จะให้ปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อน หรือจะเลือกตั้งก่อน ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันหนัก ฝ่ายที่ถือหางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมมีความเห็นว่าควรปฏิรูปประเทศก่อน ส่วนฝ่ายกลุ่มการเมืองย่อมต้องขอเลือกตั้งก่อนแน่ ภาพความขัดแย้งก็จะลอยเด่นขึ้นมาทันที

ขณะที่ พงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาดักคอว่า คงไม่มีการทำประชามติ เพราะ การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ดูตามเนื้อหาที่ออกมานั้น ไม่ได้ร่างตามความต้องการของประชาชน แต่เป็นการร่างตามความต้องการของคนกลุ่มเล็กๆ ตามคำกล่าวที่ว่า "ลงเรือแป๊ะ ก็ต้องตามใจแป๊ะ" ถ้าจะต้องมาทำประชามติ ก็จะไม่ใช่รัฐธรรมนูญของแป๊ะ

พระสุเทพ ปภากโร อดีตแกนนำ กปปส. ก็มีความเห็นเรื่องประชามติ ไม่ประชามติเหมือนกัน โดยออกตัวว่า เป็นความเห็นของผู้ที่ตัดขาดจากการเมืองแล้ว เพราะได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว

"หลวงลุงสุเทพ" บอกว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการลองใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปก่อนเป็นเวลา5 ปี แล้วค่อยมาปรับปรุงแก้ไขกันใหม่ แต่ควรทำรัฐธรรมนูญให้ดี ให้เหมาะสมกับคนไทย ก่อนการประกาศใช้ และคนที่จะทำรัฐธรรมนูญให้ดีได้ ตอนนี้ก็เห็นมีแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น เพราะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ และเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง

 เมื่อได้รัฐธรรมนูญที่ดี ที่เหมาะสมกับคนไทยแล้ว ก็ไม่ต้องไปทำประชามติให้เสียเวลา เสียงบประมาณ เพราะพวกพรรคการเมืองเขาจะไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่ดี แต่เขาจะเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่เขาได้ประโยชน์

" ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ อยู่แล้วแก้ปัญหาประเทศได้ ทำให้ประเทศดีขึ้น ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะอยู่อีก 3 ปี 5 ปี ก็ไม่เห็นน่ารังเกียจอะไรเลย ไม่ใช่เอาแต่ความเท่ เอาแต่ยี่ห้อ แล้วก็กินไม่ได้ แบบนี้ไม่ได้ รูปแบบเป็นประชาธิปไตย แต่ประชาชนร้องไห้ น้ำตาไหล จะมีความหมายอะไร ตรงนี้ก็แล้วแต่ใครจะคิด " 

สัญญาณ จากหลวงลุงสุเทพ เหมือนจะบอกกับคนที่เคยอยู่ฟากฝั่งเดียวกันว่า ไม่ต้องรีบร้อนเลือกตั้ง ยอมอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร ยังดีกว่าปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาครองอำนาจ !!



กำลังโหลดความคิดเห็น