ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายเตรียมหารือ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ถกคำขอแปรญัตติแก้ร่าง รธน. รับเห็นตรงกันควรแก้ทั้งฉบับให้กระชับ เน้นแก้ภาค 2 ปมที่ ส.ว.-ส.ส.-กลุ่มการเมือง แต่รับยังเห็นต่างกัน รับยังไม่เห็นทิศทางปฏิรูปเสร็จอย่างไร เสี่ยงล้มเหลว กลัวเสียของ
วันนี้ (27 เม.ย.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่า ในวันที่ 28 เม.ย. ตนจะร่วมหารือกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาถึงการทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ โดยตนและนายสมบัติมีความเห็นตรงกันว่าควรจะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับ เพราะมีเนื้อหาและรายละเอียดมากเกินไป ควรแก้ไขให้กระชับ สั้นลง เนื้อหาที่แก้ไขส่วนใหญ่จะอยู่ในภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ซึ่งเห็นตรงกันว่าจะแก้ไขในประเด็นหลักๆ เช่น ที่มาของ ส.ว., ที่มา ส.ส., กลุ่มการเมืองแต่ในรายละเอียดที่จะทำเป็นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมคงต้องไปหารือกัน เพราะในบางประเด็นยอมรับว่าทั้ง 2 คณะยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เช่น การแก้ไขที่มา ส.ส.ซึ่ง กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ มองว่าควรมี ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่านั้น และให้ตัด ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อออกไป แต่ กมธ.ปฏิรูปการเมืองเห็นว่าควรมีส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่ ดังนั้นต้องมาพิจารณาเหตุผล และหากมีข้อเสนอ ที่เป็นการประณีประนอม เช่น ให้มี ส.ส.ทั้ง 2 แบบ แต่ลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลงก็พอที่จะรับฟังกันได้ แต่หากสมาชิกในกลุ่มยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน อาจต้องขอให้ถอนชื่อออกจากกลุ่ม และไปหากลุ่มอื่นเพื่อขอยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่างหาก ในการทำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่จะส่งให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเบื้องต้น ตนจะส่งให้กับ ครม., คสช.และ สนช.ให้พิจารณาในเนื้อหาและเหตุผลด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์และหลากหลาย
นายเสรีกล่าวด้วยว่า วันนี้ครบ 10 วันของการพิจารณาเสนอแนะ หรือให้ความเห็นของ สปช.ต่อร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำมา บอกตามตรงว่ายังไม่เห็นทิศทาง หรือไม่เห็นความชัดเจนของการปฏิรูปประเทศว่าจะทำให้แล้วเสร็จได้อย่างไร คงจะรอแต่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งเท่านั้นไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งยังไม่อาจตอบโจทย์ว่าเป็นการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จอย่างที่คาดหวังไว้
“ข้อเรียกร้องของประชาชนที่ว่าต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ดูท่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่อาจตอบโจทย์ได้ว่าการจะปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จควรทำอย่างไร เมื่อใด หรือจะดำเนินการอย่างไร ที่เป็นรูปธรรม เป้าหมายยังไม่ชัดเจน หวั่นเกรงว่าการปฏิรูปประเทศคราวนี้มีโอกาสจะล้มเหลวสูง เพราะที่ผ่านมาก็ไม่สามารถจะกำหนดทิศทางให้การปฏิรูปประเทศคราวนี้ประสบความสำเร็จได้ โอกาสที่จะปฏิรูปประเทศให้สำเร็จเช่นนี้ไม่มีอีกแล้ว น่าเสียดายจริงๆ ตนกลัวจะเสียของ” นายเสรีกล่าว