xs
xsm
sm
md
lg

“จรัญ” ชี้ร่าง รธน.กำหนดนิติธรรม-นิติรัฐชัด รับปรองดองยาก ขออย่าครอบงำฝ่ายนิติฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตุลาการศาล รธน.เผยอำนาจสร้างกฎหมายอยู่ที่องค์บุคคลสังคมวางใจ ยึดหลักนิติธรรม สุจริต ไร้อคติ สัดส่วนพอเหมาะ ติงตั้งข้าราชการ มท.ไม่ควรคำนึงสิงห์ต่างๆ ชี้ร่าง รธน.นี้ กำหนดนิติธรรม-นิติรัฐชัด ผ่านเป็นประโยชน์บ้านเมือง แต่ยังไม่เชื่อมหลักปกครอง ปรองดองยาก แนะฝ่ายนิติบัญญัติมีฝ่ายกฤษฎีกาเป็นของตนเอง ปราศจากการครอบงำ เชื่อ รธน.แก้ปัญหาเลือกปฏิบัติ แบ่งฝ่าย

วันนี้ (1 ก.ย.) นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “หลักนิติธรรมกับการใช้กฎหมาย” ตอนหนึ่งว่า อำนาจในการสร้างกฎหมายอยู่ที่องค์หรือบุคคลที่สังคมไว้วางใจ โดยยึดหลักนิติธรรมที่ประกอบด้วย 1. ความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเป็นปฐมบทแรก แม้จะชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ได้หมายความจะชอบด้วยหลักนิติธรรม 2. หลักสุจริต แม้จะทำไปด้วยความชอบตามกฎหมาย แต่หากทำด้วยความไม่สุจริตก็จะถือว่าไม่ถูกหลักนิติธรรม รวมไปถึงเรื่องประมาทที่แม้จะทำด้วยความไม่ตั้งใจ ไม่มีวาระซ่อนเร้น แต่ก็ถือไม่สุจริต ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรง และหลักนี้เป็นบรรทัดฐานที่นำมาใช้ในศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญผ่านคำวินิจฉัยต่างๆ แม้ไม่ได้ระบุชัดก็ตาม และ 3. หลักความไม่ลำเอียงปราศจากอคติ ตามหลักอคติ 4 คือ รัก โกรธ กลัว และหลง และ 4. หลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรต่อกรณี อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งตำแหน่งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงมหาดไทยไม่ควรไปคำนึงถึงสิงห์แดง สิงห์ดำ สิงห์ขาว สิงห์ทอง การพิจารณาแต่งตั้งตามรุ่นนั้นรุ่นนี้

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเห็นได้ชัดกำหนดหลักนิติธรรม นิติรัฐไว้ชัดเจน เช่น มาตรา 217 เขียนชัดเกี่ยวกับหลักนิติธรรม ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง และหลักนิติธรรม แต่ยังไม่เชื่อมโยงกับหลักธรรมาธิปไตยและหลักการปกครองของไทย ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างความปรองดองได้หรือไม่นั้น ยากมาก เพราะความสามัคคีของคนในชาติไม่ได้สร้างโดยปลายปากกา และกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง ปัญหานี้เป็นเงื่อนไขความเจริญ ความล้มเหลวของประเทศชาติ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการนำหลักอคติทั้ง 4 มาบัญญัติไว้หรือไม่นั้น จะเห็นว่ามีการกำหนดเรื่องสิทธิมนุษยชน การห้ามเลือกปฏิบัติ และเพิ่มมาในเรื่องเพศสภาพ ที่ได้รับการรองรับในรัฐธรรมนูญรวมไปถึงจากเดิมรับรองสิทธิเฉพาะคนไทย แต่ครั้งนี้คนที่ไม่มีสัญชาติไทยก็ยังได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย” นายจรัญกล่าว

นายจรัญกล่าวอีกว่า ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย การปิดทองหลังพระซึ่งมีความสำคัญมาก แต่ไม่ควรให้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายของฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการเข้ามาครอบงำการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะที่ผ่านมาจะไม่มีปัญหาฝ่ายตุลาการ แต่ฝ่ายบริหารมีความคิดเข้ามาครอบงำฝ่ายกฤษฎีกา ประเด็นนี้ฝ่ายนิติบัญญัติควรมีกฤษฎีกาเป็นของตัวเอง แต่จะต้องกำหนดไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อนกัน ผู้บริหารประเทศไม่ควรบอกว่าถ้าไม่เลือกก็ไม่ได้งบประมาณ อย่างนี้เรียกว่าใจแคบ แสดงให้เห็นถึงการมีอัตตา ทั้งที่ประเทศไทยคือเรา เราคือประเทศไทย ฉะนั้นจะต้องดูแลทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ามีการแบ่งสี แบ่งฝ่าย โดยเกิดจากการปลุกระดม โดยการมอมเมา ปลุกระดมมวลชนออกมา ซึ่งมั่นใจว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ตั้งใจจะแก้ปัญหานี้









กำลังโหลดความคิดเห็น