ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ติงท่าทีรัฐควรใช้แบบพ่อแม่ ต่อเด็กต้าน ไม่ลุแก่อำนาจ จะประคองความเห็นต่างได้ ชมใช้ ม.44 อย่างชาญฉลาด แต่ต้องพอเหมาะพอควร บอกดำเนินคดีสู่ศาลทหารถือเป็นจุดอ่อน หวั่นเป็นช่องทางของผู้ไม่หวังดี ชี้นำขึ้นศาลพลเรือนทำได้ ชาติไม่เสียหาย แนะแก้กฎหมายใส่ข้อยกเว้นเพิ่มเติม มั่นใจศาลยุติธรรมดูแลบ้านเมืองได้ แต่ถ้าเริ่มใช้อาวุธเมื่อไหร่ค่อยนำขึ้นศาลกองทัพ
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เวทีความคิด ทางสถานีวิทยุคลื่น 96.5 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ถึงกรณีที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และกลุ่มดาวดิน 14 คน ถูกจับกุมกรณีรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาล ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. และถูกควบคุมตัวดำเนินคดีในศาลทหาร โดยระบุว่า ตอนนี้คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการรักษาความสงบเรียบร้อยในบรรยากาศทางการเมือง อะไรที่ขัดแย้งกันเอาไว้ก่อนเพื่อใช้เวลาปฏิรูปประเทศ แก้ปัญหาเก่าๆ ที่หมักหมม ข้อนี้เข้าใจได้ และทุกคนก็เข้าใจ แต่เมื่อมีกรณีคนที่ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษา ส่วนตัวคิดว่า ท่าทีของรัฐบาลจะต้องไม่ใช่ท่าทีของผู้ทรงอำนาจ น่าจะเป็นท่าทีของพ่อแม่กับลูกหลาน ครูอาจารย์กับลูกศิษย์ หรืออย่างน้อยที่สุดผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าทำไม่ดีจะเกิดความเสียหาย ก็ต้องดุ ต้องว่า ต้องติ ต้องลงโทษตามสมควร ซึ่งทั้งหมดต้องทำโดยชัดเจนว่าเพื่อประโยชน์ที่ใหญ่ของส่วนรวม แต่ต้องไม่เกินเลย ไม่แสดงลุแก่อำนาจ จะต้องรักษาภาพนี้เอาไว้ให้ได้ จึงจะสามารถประคับประคองความเห็นที่แตกต่างกันในจุดนี้ให้ผ่านไปได้อย่างราบรื่นที่สุด
นายจรัญ อธิบายว่า จุดหนึ่งคิดว่าทิศทางของรัฐบาลที่จะใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ ถือว่าเป็นท่าทีที่ชาญฉลาดมาก เข้าใจว่า รัฐบาลก็ใช้ตรงนี้อย่างสร้างสรรค์ แต่ต้องทบทวนว่าภาพที่ออกมานั้นหนักไปนิดหนึ่ง ตรงที่นำเข้าไปสู่การพิจารณาของศาลทหาร ทำให้เปิดช่องว่างให้ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้มารุกเร้ารัฐบาลได้
“ในช่วงนี้ ต้องปรับตรงนี้ ว่าถ้ายืนบนหลักการ ต้องใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ แต่ต้องพอเหมาะพอควร ต้องปรับตัวได้ อย่าปล่อยให้หลุดไปอยู่ทางตัน อย่างเวลานี้กำลังเข้าไปอยู่ในช่องที่เสียเปรียบ เพราะการทำอะไรที่หนักเกินไป จะมีแรงกระแทกกลับมาได้โดยไม่จำเป็น ทุกคนเข้าใจว่า สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้มันจำเป็น แต่ก็ต้องยอมรับว่าระบอบทั้งหมดของประเทศเรา มันไม่ใช่เผด็จการเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยังต้องพยายามประคับประคองบรรยากาศของสิทธิเสรีภาพให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และใช้อำนาจพิเศษเฉพาะที่จำเป็นและสร้างสรรค์ ต้องรักษาแนวนี้ไว้ และการส่งเรื่องที่ไม่จำเป็นเข้าสู่ศาลทหาร ถือเป็นจุดอ่อน” ศาสตราจารย์จรัญ กล่าว
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การใช้ศาลพลเรือน สามารถทำได้ เพราะไม่ได้ทำให้มาตรการของการดูแลรักษาประเทศต้องเสียหาย จะบอกว่า กฎหมายเวลานี้ ต้องไปศาลทหาร แต่กฎหมายเวลานี้ก็เขียนได้ ปรับได้ โดยการเพิ่มเติมข้อยกเว้น ว่า ถ้ามีกรณีที่ไม่เหมาะสมที่จะส่งเข้าไปศาลทหาร ก็ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเข้าระบบศาลยุติธรรม ส่วนตัวมั่นใจศาลยุติธรรมจะดูแลรักษาบ้านเมืองรักษาความถูกต้องเป็นธรรม รักษากฎหมาย ไม่มีอะไรเสียหาย ก็ดูได้ว่าถ้าเริ่มนำอาวุธมา เริ่มสร้างความรุนแรง จะจารกรรม จะวินาศกรรม เรื่องนี้ต้องเด็ดขาด อย่างนี้ต้องขึ้นศาลทหาร
“ในการปฏิวัติสมัยก่อนๆ คณะปฏิวัติก็ยังไม่ส่งไปศาลทหารทั้งหมดเลย ก็ประกาศให้ศาลพลเรือน ให้ศาลยุติธรรมทำหน้าที่อย่างศาลทหาร มันมีช่องทางยกเว้นได้ อย่าปล่อยให้ประเทศตกเข้าไปอยู่ในทางตันเพราะกฎหมาย นั่นจะเป็นช่องทางให้คนไม่หวังดีต่อบ้านเมืองเรา หรือคนที่มองแตกต่างจากเรา หยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุโจมตีบรรยากาศในปัจจุบัน” ศาสตราจารย์จรัญ กล่าว