ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทางความคิดที่ดำรงอยู่ใน สังคมไทยได้อย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มพลังอำนาจต่างๆในสังคม ทั้งยังบ่งบอกถึงความไม่ลงตัวของการจัดสรรอำนาจที่ได้รับการออกแบบเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญคือยังมีนัยที่ทำให้เห็นร่องรอยความไม่สอดประสานกันภายในกลุ่มอำนาจนำที่ยึดครองรัฎฐาธิปัตย์อยู่ด้วย
กลุ่มที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญมีความคิดว่าภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกคว่ำมีเนื้อหาสำคัญที่ได้รับการสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการเมืองในอดีต ทั้งยัง สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายของการปฏิรูปการเมืองและการปรับดุลยภาพของโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย รวมทั้งมีกลไกการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปอย่างสมเหตุสมผลพอสมควร
ขณะที่กลุ่มที่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญมีความพยายามอธิบายเหตุผลของการคว่ำร่าง รัฐธรรมนูญหลากหลายเหตุผลขึ้นอยู่กับว่าจุดยืนทางการเมืองของแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร กระนั้นก็ดีการอธิบายเหตุผลของการคว่ำรัฐธรรมนูญต่อสาธารณะกับเหตุผล แท้จริงที่อยู่เบื้องลึกอันเป็นสาเหตุจูงใจให้เกิดการคว่ำรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ จำเป็นต้อง มีการตีความ เพราะดูเหมือนว่ามีความไม่กลมกลืนของเหตุผลต่างๆที่ใช้อยู่มากพอดู
กลุ่มนักการเมืองและเครือข่ายให้เหตุผลในการคว่ำร่างรับธรรมนูญต่อสาธารณะว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่บ่งถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยในมุมมองของกลุ่มนี้ หลักๆก็คือ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. การมีสมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหา และการมี คปป. ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปและบริหารจัดการประเทศในยามวิกฤติซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของกลุ่มอำนาจนำในปัจจุบัน
ผมประเมินว่า เหตุผลเบื้องหลังที่แท้จริงซึ่งนักการเมืองไม่พูดออกมา ซึ่งทำให้พวกเขาคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ มาตรการต่างๆจำนวนมากที่กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ซึ่งเปรียบเสมือนมนตราคาถาที่สะกดข่มไม่ให้เหล่าภูตผีออกมาอาละวาดสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนในสังคมได้อย่างเป็นอิสระ เสรีอีกต่อไป อย่างเช่น การสมัครรับเลือกตั้งต้องยื่นรายการเสียภาษี การใช้นโยบายประชานิยมหาเสียงก็ทำได้ยากขึ้นเพราะต้องบอกแหล่งและวิธีการในการหางบประมาณมาด้วย งบประมาณที่จัดสรรให้ ส.ส. ใช้สำหรับทำโครงการหาเสียงหาเงิน ก็ทำไม่ได้ รวมทั้งการกำหนดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอย่างเข้มข้นอีกด้วย
เรียกได้ว่ามาตรการต่างๆที่เขียนในร่างรัฐธรรมนูญวางแนวป้องกันพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนของส.ส. อย่างหนาแน่น จนทำให้ผู้ที่เคยเป็นส.ส. มาก่อน หรือผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งหรือตั้งพรรคการเมืองในอนาคต แต่เคยหรือคิดจะทำในสิ่งไม่ถูกต้อง เกิดความรู้สึกว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ทั้งปิดกั้นทางทำมาหากินและไม่เอื้อประโยชน์ใดๆต่อพวกเขาเลย ผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกนักการเมืองบงการเครือข่ายของพวกเขาที่เป็น สปช. ให้คว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสีย
แล้วสิ่งที่นักการเมืองต้องการละคืออะไร พวกเขาต้องการรัฐธรรมนูญแบบปี 2540 ที่ให้เสรีภาพและความเป็นอิสระในการใช้อำนาจแก่นักการเมืองและนักเลือกตั้งอย่างเต็มที่ และมีการตรวจสอบจากภาคประชาชนน้อยๆ ครับ
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญจนทำให้ร่างรัฐธรรมนูญต้องคว่ำไปคือ เครือข่ายกลุ่มอำนาจนำในปัจจุบัน พวกเขาให้เหตุผลในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญต่อ สาธารณะว่า “กลัวว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว เมื่อนำไปลงประชามติจะสร้างความขัดแย้ง และหากประชาชนไม่รับประชามติ ก็จะทำให้ยิ่งสูญเสียความชอบธรรมในการครองอำนาจมากยิ่งขึ้น จึงคว่ำรัฐธรรมนูญเสียตั้งแต่ขั้นสภาปฏิรูปนี่แหละ”
การอธิบายเหตุผลแบบนี้ผมเห็นว่าเป็นการใช้เหตุผลแบบเอาสีข้างเข้าถูและเอาแต่ได้ถ่ายเดียวครับ และหากผู้อำนาจรัฐเป็นผู้อธิบายเหตุผลนี้ก็เห็นได้ชัดว่าพวกเขาขาดความรับผิดชอบ และเปี่ยมไปด้วยเล่ห์เพทุบายบางอย่างแอบแฝงอยู่
ประการแรก พวกเขาเป็นกลุ่มที่ตั้งคณะกรรมาธิการร่างชุดนี้ด้วยตนเอง และมีอิทธิพลต่อการกำหนดความคิดและแนวทางต่างๆในการร่างอย่างมีระดับนัยสำคัญซึ่งทำให้สามารถชี้นำทิศทางและมาตรการหลักของรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นหากเขาเห็นว่ามีเรื่องใดในร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งในช่วงลงประชามติ ดังที่พวกเขาทำนายหรือคิดเอาเองล่วงหน้า พวกเขาก็สามารถเชิญคณะกรรมาธิการมาพูดคุยและให้ปรับปรุงเสียก่อนจะส่งไปที่ สปช. ก็สามารถทำได้ แต่พวกเขากลับไม่ทำ
ประการที่สอง การที่พวกเขาไม่เลือกให้คณะกรรมาธิการร่างปรับปรุงก่อนส่งไปที่ สปช. แต่กลับเลือกการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแทน ย่อมทำให้คนจำนวนมากตีความได้หลายแง่มุม ในแง่มุมหนึ่งคือความประสงค์ในการยืดระยะเวลาในการครองอำนาจของกลุ่มตนเองออกไป แต่จะใช้เวลาแห่งอำนาจทำอะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถัดมาอีกแง่มุมหนึ่งคือ มีความเป็นไปได้ว่าเครือข่ายอำนาจนำบางกลุ่มมีความประสงค์จะตั้งพรรคการเมืองและเล่นการเมืองในอนาคต และเห็นว่าข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญจำนวนมาก อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในอนาคตของตนเอง
ใครอ้างว่าหากการลงประชามติแล้วจะสร้างความขัดแย้งในสังคม แล้วนำมาเป็นเหตุในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่น่าอับอายมากครับ เพราะว่าภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน หากมีการนำร่างรัฐธรรมนูญไปลงประชามติ ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มความขัดแย้งจะเกิดขึ้นมีสูงยิ่ง ไม่ว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญจะมีทิศทางอย่างไร ดังนั้นการนำเหตุผลนี้มาเป็นข้ออ้างจึงฟังไม่ขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หากจะนำรัฐธรรมนูญไปลงประชามติต้องยอมรับความจริงในเรื่องความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการลงประชามติครับ หากไม่ต้องการความขัดแย้ง ก็ไม่ต้องดัดจริตเอารัฐธรรมนูญไปลงประชามติให้เสียเวลาและงบประมาณ
ในการลงประชามตินั้น หากเนื้อหารัฐธรรมนูญมีทิศทางปฏิรูปการเมืองย่อมกระทบกับผลประโยชน์ของนักการเมือง กลุ่มทุนการเมือง และเครือข่ายอำนาจนำในระบบราชการ ดังนั้นจึงมีโอกาสสร้างความขัดแย้งสูง เพราะเครือข่ายอำนาจเหล่านั้นย่อมไม่อยากสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ พวกเขาก็ย่อมรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาการของการปฏิรูปอย่างแน่นอน
แต่หากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีทิศทางแบบประชาธิปไตย “เสื้อโหล” เพื่อเอาใจนักการเมือง นักเลือกตั้ง กลุ่มทุนสามานย์ หรือกลุ่มอำนาจนำในระบบราชการ ประชาชนที่ปรารถนาการปฏิรูปการเมืองก็ย่อมไม่พอใจ เพราะพวกเขาเสียสละเลือดเนื้อ ชีวิต และทรัพย์สินมาหลายครั้งหลายคราเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองที่ยังประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม ดังนั้นหากนำร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาที่เอาใจนักการเมือง ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นสูงเช่นเดียวกัน
ได้ยินมาว่ากลุ่มอำนาจนำที่ครองรัฏฐาธิปัตย์ในปัจจุบันก็มีความคิดไม่สอดประสานกันนัก ระหว่างกลุ่มที่มีแนวความคิดที่เอาใจนักการเมืองและคงระบบการเมืองแบบเดิมๆเอาไว้ กับกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปการเมือง แต่จากการคว่ำ รัฐธรรมนูญ ในครั้งนี้สะท้อนว่าพลังอำนาจของกลุ่มความคิดที่เอาใจนักการเมืองมีอิทธิพลสูงกว่ากลุ่มความคิดปฏิรูปการเมือง แต่สถานการณ์จะพัฒนาการต่อไปอย่างไรในอนาคตเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่งครับ
หลังจากการคว่ำรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าสถานการณ์ของกลุ่มอำนาจนำที่ครอง รัฏฐาฎิปัตย์จะเผชิญหน้ากับความยากลำบากและถูกท้าทายจากกลุ่มพลังต่างๆในสังคมมากขึ้น แน่นอนว่ากลุ่มที่จะออกมาท้าทายมากที่สุดก็คงเป็นกลุ่มทุนการเมืองและเครือข่ายมวลชนที่อยู่ภายใต้การจัดตั้ง ประเด็นที่กลุ่มเหล่านี้นำมาบั่นทอนความชอบธรรมของกลุ่มอำนาจนำที่ครองรัฏาธิปัตย์ คงมีหลากหลายประเด็น เช่น ความไม่ชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญ การหักหลังคนที่ตนเองใช้ทำงาน การสืบทอดอำนาจ การเป็นเผด็จการ เป็นต้น
เมื่อถูกท้าทายและอาจรวมถึงมีการเคลื่อนไหวยั่วยุทางการเมือง กลุ่มอำนาจนำที่ครองรัฏฐาธิปัตย์จะดำเนินการจัดการอย่างไร จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ หรือ จะทำให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นการปะทะกันกลางเมืองอีกครั้ง ต่างก็มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น
ขณะเดียวกันประชาชน โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่เคยสนับสนุนกลุ่มอำนาจนำที่ครองรัฏฐาธิปัตย์ ก็อาจเกิดความสงสัยถึงความจริงใจและตั้งใจในการปฏิรูปประเทศของกลุ่มอำนาจนำ โดยเฉพาะหากซีกของกลุ่มที่มีความคิดเอาใจนักการเมืองยังคงมีอิทธิพลสูงในกลุ่มอำนาจนำ ความไว้วางใจที่ประชาชนมีก็อาจถดถอยลงไปได้
การปรองดองเพื่อเอาใจคนทุกฝ่ายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากครับภายใต้สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน ความเป็นจริงประการนี้ต้องรับให้ได้เสียก่อน กระบวนทัศน์ในการแก้ปัญหาจึงจะมีทิศทางที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่หากทึกทักเอาว่าความคาดหวังหรือความฝันของตนเองคือความเป็นจริง ก็ยากที่จะหาแนวทางที่ถูกต้องในการจัดการกับปัญหาและบริหารประเทศได้ครับ