xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สปช.ทิ้งทวนภารกิจสุดท้าย ส่ง “รธน.เรือแป๊ะ” เทียบท่า ก่อนฝ่าด่าน “ประชามติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและคณะ นำร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณาเสร็จแล้วมอบให้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2558 เพื่อให้ลงมติว่าจะรับหรือไม่รับในวันที่ 6 กันยายน 2558 นี้
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กล้าฟันธงแบบไม่กลัวหน้าแหกว่า หากฟ้าไม่ถล่มดินไม่ทลาย ที่สุดแล้วบรรดาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะโหวตผ่าน “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ 36 อรหันต์ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย “ดร.ปิ๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯประคบประหงมปลุกปั้นมากว่า 150 วันอย่างไม่มีปัญหา

แม้ว่าการโหวตของ สปช.ครั้งนี้อาจจะไม่ชูมือสลอนเป็น “ฝักถั่ว” อย่างที่เคยคาดกันไว้ก็ตาม เพราะยังมีเสียงขู่จาก สปช.บางส่วนที่ประกาศจะลงมติคว่ำ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ด้วย แต่ประเมินดูแล้วกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ว่า คงจะเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

รวมไปถึง สปช.บางส่วนมีความหลัง-ความแค้นส่วนตัวกับ “บวรศักดิ์แอนด์เดอะแก๊ง” แต่ก็คงไม่มีพลังพอที่จะทำแท้งร่างรัฐธรรมนูญของ “ดร.ปิ๊ด” ได้

ตัวเลขสัดส่วน 50-50 ของ สปช.ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่ปล่อยกันออกมา ดูจะมากเกินความเป็นจริงไปอยู่พอสมควร เพราะเป็นไปได้ยากที่ 1 ในแม่น้ำ 5 สาย อย่าง สปช.จะชักใบให้ “เรือแป๊ะ” ล่ม หากไม่มีสัญญาณชัดๆส่งมาถึง ส่วนของการอ้างคำพูด “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ที่เคยระบุในทำนองว่า หากพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอาจมีตำหนิมากว่า เป็นการส่งสัญญาณให้คว่ำร่าง

แต่ก็ไร้น้ำหนักทันทีเมื่อ “วิษณุ” ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวทันควัน

แทบเป็นไปไม่ได้ที่แก๊งคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ที่วันนี้ถูกตั้งฉายาไปแล้วว่า "สปช.นอกคอก" จะสุขสมหวัง จึงฟันธงได้เลยว่าเสียงโหวตร่างรัฐธรรมนูญ "ผ่านฉลุย" เอาช้าง-ม้า-วัว-ควาย มาฉุดก็ไม่อยู่ ยิ่งไม่มีสัญญาณ-ใบสั่งที่ชัดเจน พวกกล่าวอ้างยิ่งไม่มีพลังแล้วกลุ่มคว่ำจะลดน้อยไปเรื่อยๆ

ที่สำคัญบรรดา "สปช.สายสอพลอ" ได้ออกมาเชียร์ร่างรัฐธรรมนูญให้สปช.ช่วยกันโหวต "ผ่านร่าง" มานานแล้ว นับเสียงกันอาจจะเกิน 200 คนด้วยซ้ำ เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับ 220 ที่นั่งใน “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” ซึ่งจะมีการตั้งขึ้นโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ภายหลังการลงมติร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.แล้วเสร็จ ซึ่งส่งผลให้ สปช.สิ้นสภาพไปทันที

การลงมติของ สปช.แง่หนึ่งอาจมองในประเด็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องคำนึงถึงที่ในสภาขับเคลื่อนฯ เพื่อจะได้ติดสอยห้อยตาม “เรือแป๊ะ” ไปต่อ ยังไม่ต้องกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน เพราะในความเป็นจริงแม้ สปช.จะไม่ได้การันตีที่นั่งในสภาขับเคลื่อนฯ แต่หาก สปช.คนไหน “ลองของ” โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีหวังโดน "บิ๊กตู่" กาหัวเขี่ยทิ้ง ไม่ได้ไปต่ออย่างแน่นอน เนื่องจากถือเป็นการแสดงตัวชัดเจนว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช.

คำถามคือ แล้วจะมีใครที่จะกล้าเสี่ยง-กล้าลองของ

อย่าลืมว่ามีตำแหน่งย่อมดีกว่าไม่มีตำแหน่ง ลำพังรายรับเงินเดือน-เบี้ยประชุม-เงินประจำตำแหน่งล่อกันหลักล้านต่อปี แล้วไหนจะผลประโยชน์อื่นที่รอรับแบบเน้นๆ เทียบเชิญจาก คสช. จึงไม่มีใครกล้าปฏิเสธ แล้วจะมาฆ่าตัวตายกับแค่อยากจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญทำไม เพราะรู้ๆอยู่ว่ายังไงก็ผ่านแน่นอน

เวลานี้จึงมองข้ามช็อตไปที่การทำ "ประชามติ" รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะไปกระบวนการต่อไปตามที่แก้ไขเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มากกว่า ซึ่งวันนี้ฝ่าย “กรรมการ” อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ขึงขังเด้งรับลูกทันที หลังว่างงานอยู่นาน มีการประชุมเตรียมความพร้อมแขกข่ายงานกันแทบจะเสร็จสรรพ เรียกว่าหากจะให้ประชามติกันวันนี้พรุ่งนี้ก็พร้อมเสมอ

แต่กระบวนการประชามติครั้งนี้ไม่ได้มีแค่การเปิดคูหาให้ประชาชนมาลงคะแนนเท่านั้น ยังต้องมีในส่วนของการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจในเจตนารมณ์-เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องกำหนดเวลากันให้เป็นกิจลักษณะ เผื่อเวลาให้ประชาชนได้ศึกษาทำความเข้าใจกันให้มากที่สุด

ขณะที่ท่าทีของ “ฝ่ายการเมือง” ก็ต้องบอกว่า ส่ายหัวรับไม่ได้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างพร้อมเพรียง ทั้งขาประจำฝ่ายตรงข้าม คสชง ทั้งพรรคเพื่อไทย และพลพรรคคนเสื้อแดง ที่มีการคอมเมนต์ให้ความเห็นถึงความเลวร้ายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เว้นแต่ละวัน พร้อมประกาศว่า ทันทีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของ สปช.ก็จะชูธงรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเสีย

ทั้งที่รู้เต็มอกว่า ไม่ว่าจะคว่ำหรือทำแท้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “เดอะปึ๊ด” ขั้นตอนไหนก็เท่ากับทดเวลาบาดเจ็บให้ คสช.อยู่ในอำนาจมากขึ้น

แต่ก็ด้วยอำนาจและบทบาทของ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ” หรือ คปป. ที่ถูกศัลยกรรมยัดเข้ามาในช่วงโค้งสุดท้ายของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนางงามจักรวาล ซึ่งถูกมองว่ามีอำนาจครอบ “รัฐบาล-รัฐสภา” อย่างเบ็ดเสร็จ จึงทำให้ “ฝ่ายการเมือง” เกินที่จะรับไหว หลายคนยังประกาศอีกว่า หากมีการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกฎหมายสูงสุด จะไม่ลงเลือกตั้งเด็ดขาด

ไม่เพียงแต่ “ทีมทักษิณ” เท่านั้นที่ไม่เอาด้วย อย่าง “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ประกาศชัดเจนถึงความไม่เหมาะสมที่จะมี คปป.ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถึงขนาดเรียกร้องให้ สปชงลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกมองว่าต้องการเพียงแสดงบทบาทของ “พระเอก” ที่ใช้หลักประชาธิปไตยบังหน้า มากกว่าจะคัดค้านอย่างจริงจัง

ที่น่าจับตามากที่สุดคงเป็น ทิดเทือก - สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส.ที่ไม่สนว่าใครจะว่ายังไง ออกมาชิงธงนำชูรักแร้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญว่าเหมาะสมกับสถานการณ์เป็นที่สุด ส่งสัญญาณให้แม่ยก-พ่อยก กปปส.เตรียมร่วมโบกธงเขียวโอบอุ้มพาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.เข้าเส้นชัยนั่นเอง

ประมาณว่า อยู่ในยุคทหาร ก็ต้องคิดอ่านแบบทหารเข้าคอนเซปต์ “ได้ครับพี่ ดีครับท่าน เหมาะสมครับนาย”

เป็นการชิงจังหวะที่ "แกนนำเพื่อไทย-เสื้อแดง" ยังเมาหมัดหลงเหลี่ยมกดดันไปยัง สปช.จะคว่ำรัฐธรรมนูญ พอสิ้นเสียง “ลุงกำนัน” เท่านั้น คนที่รับลูกไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น "บิ๊กตู่" ที่เล่นคีย์เดียวกันเกือบตลอด แถมยังมีการถ่ายทอดคำพูดของ "ลุงสุเทพ" ในที่ประชุม ครม.แบบละเอียดหยิบ เหมือนหมากทุกตัวถูกวางไว้แล้ว

ขณะที่ "แกนนำเพื่อไทย-เสื้อแดง" ที่ออกมาแสดงจุดยืนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ กลับโดน คสช.ขู่ฝ่อ สั่งห้ามแบบไม่มีเยื่อใย โดย "บิ๊กตู่" ออกมาพูดชัดว่าไม่สามารถเปิดโอกาสให้คนที่มีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับโรดแมปของรัฐบาล-คสช. ออกมาพูดได้

ผิดกับ "ทิดเทือก" ที่มีความเห็นสอดคล้องและไม่กระทบกับโรดแมป ฟังแล้วลื่นหู จึงอนุญาตให้พูดได้

จับสัญญาณจาก "บิ๊กตู่" จึงเป็นที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรคนที่เล่นคีย์เดียวกันพูดได้หมด ผิดกับ "เพื่อไทย-นปช." ที่เล่นคนละคีย์นั้น ไม่มีสิทธิพูด

จังหวะเดียวกับที่กระทรวงการต่างประเทศทำการยกเลิกพาสปอร์ต "จาตุรนต์ ฉายแสง" แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะหนึ่งในผู้นำจิตวิญญาณของพลพรรคเสื้อแดง เท่ากับเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” อย่างชัดเจนว่า หากใครล้ำเส้นมีฮือมีอือ ชะตากรรมก็ไม่ต่างไปจาก "จาตุรนต์"

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ "จาตุรนต์" จึงเป็นการวัดใจ “เพื่อไทย-คนเสื้อแดง-นปช.” ว่ายังจะกล้าพูด-กล้าแสดงความเห็น-กล้าชูธงคว่ำร่างรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่ ไม่เพียงแต่เรื่องพาสปอร์ตซึ่งเป็นของไร้ค่าในยุค คสช. เพราะแต่ละคนก็ถูกสั่งห้ามย่างกรายออกนอกประเทศอยู่แล้ว ที่ต้องหวั่นใจมากกว่านั้นก็บรรดาคดีความต่างที่คั่งค้างกันอยู่ ซึ่งทิศทางของคดีอาจจะอยู่ควาสมประพฤติของแต่ละคนว่าเป็นเด็กดีแค่ไหน

หมากที่ “รัฐบาล คสช.” วางไว้คือตัดทอนกำลังของ "ขั้วตรงข้าม" ให้อ่อนแอมากที่สุด เพราะเมื่อ สปช. โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในวันที่ 6 ก.ย.นี้ โรดแมปตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เริ่มเดินเข้าสู่โหมดประชามติทันที และเหลือเวลาเพียง 4 เดือน ก่อนที่จะเปิดลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ม.ค.59 ตามที่ กกต.กำหนด

ซึ่งคำพูดของ “วิษณุ” เนติบริกรประจำ คสช.ก็สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า “บิ๊ก คสช.” ก็รู้ดีว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ มีจุดอ่อนอยู่หลายมาตรา โดยเฉพาะเรื่อง คปป.ที่แก้ตัวท่าไหนก็ฟังไม่ขึ้นว่า ไม่ได้มีอำนาจเหนือ "รัฐบาล-รัฐสภา"

เมื่อรู้ว่ามีจุดอ่อนให้โจมตี "บิ๊ก คสช." จึงเลือกวิธีปิดปาก "ฝ่ายตรงข้าม" ดีกว่า จะเปิดโอเพ่นให้มีการชำแหละร่างรัฐธรรมนูญที่ย่อมส่งผลกระทบมาถึง คสช.ได้

เมื่อเดิมพันของ "บิ๊กตู่-ขุนทหาร" คือรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ที่เขียนสืบทอดอำนาจไว้อย่างแยบยลแล้ว จึงต้องทำทุกอย่างให้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ผ่านด่าน "ประชาชน" มีผลบังคับใช้ให้ได้ แล้ว "ขุนทหาร" จะถืออำนาจเหนือ "รัฐบาล" ที่มาจากประชาชนต่อไป

ใครหนุน-ใครค้านก็ว่าไปตามเรื่อง แต่เรื่องประชามตินั้น เห็นได้ชัดว่า คสช.ต้องการคุมเกมด้วยตัวเอง จะผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องดูสถานการณ์ในภายภาคหน้าช่องก่อนการลงประชามติอีกครั้ง โดยไม่ต้องการให้เกิด “ปัจจัยภายนอก” อย่างแรงกระเพื่อม-แรงต้านจาก "ขั้วตรงข้าม" โดยเด็ดขาด

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งกับการตั้งข้อสังเกตของ “นิรันดร์ พันธกิจ” สมาชิก สปช. ที่มองว่ามีการ “หมกเม็ด” อยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ โดยมาตรา 37 วรรค 7 ระบุว่า การออกเสียงประชามติ ให้ยึดเสียงข้างมากของ "ผู้มีสิทธิ" ออกเสียง ไม่ใช่ "ผู้มาใช้สิทธิ"ออกเสียง

ดังนั้นการคำนวณในการตัดสินให้ร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านประชามติ คือ เสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของ“ผู้มีสิทธิ”ไม่ใช่ “ผู้มาใช้สิทธิ์” ซึ่งขณะนี้ "ผู้มีสิทธิ" ออกเสียง มีจำนวนประมาณ 47 ล้านคน หากจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ต้องได้เสียง 23.5 ล้านเสียงขึ้นไป ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะหากเทียบกับผลประชามติ เมื่อปี 2550 ที่มีการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2550 พบว่ามีประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เพียง 14 ล้านเสียงเท่านั้น

เรียกได้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากต้องการเสียงถึง 23.5 ล้านเสียงในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเหตุใด คสช.จึงเขียนไว้อย่างนั้น เกิดความผิดพลาด หรือเจตนาที่จะ "วางหมาก" เพื่อการสืบทอด หรือยืดเวลาให้คสช.ได้อยู่ในอำนาจต่อไป

ขณะที่ “วิษณุ” ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ยอมรับว่า ถ้อยคำในมาตรา 37 ทำให้ดูมีปัญหา พร้อมอธิบายว่า คำว่า ”ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบ” ที่ระบุนั้นหมายถึง คะแนนเสียงของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ ส่วนผู้ที่ไม่ได้มาใช้สิทธิ์ถือว่าเป็นศูนย์

“คนที่มาใครมากกว่ากัน วันนั้นมาเท่าไหร่ให้ยึดเสียงข้างมาก" คื่อคำชี้แจงของ “วิษณุ” ที่อ้างด้วยว่า “เทคนิคการเขียนกฎหมายมีหลายวิธี แต่โดยมากเวลาเกิดเรื่องแล้วจึงมาบอกว่าทำไมไม่เขียนให้ชัด ซึ่งตอนเขียนก็นึกว่าชัดไปแล้ว”

พูดง่ายๆจะคำว่า "ผู้มีสิทธิ" หรือ "ผู้มาใช้สิทธิ" ก็เป็นเพียงเทคนิคของการเขียนกฎหมายเท่านั้น

แต่ก็กลัวว่าเมื่อถึงเวลาจริง “เทคนิค” ที่ว่าจะสามารถบิดพลิ้วไปได้อีกตามสถานการณ์ อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญถือเป็น “กฎหมายมหาชน” ซึ่งต้องตีความกันตามตัวอักษร และที่ผ่านมาต่างฝ่ายก็ต่างตีความแตกต่างกัน จนเป็นปัญหามาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม หลายๆปัจจัยสะท้อนให้เห็นว่า คสช.ต้องการคุมเกมให้อยู่หมัด ด้วย “สถานการณ์พิเศษ” ที่ต้อง “ยืดหยุ่น” มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องตัวบทกฎหมายที่วางหมากไว้ว่า ไม่ว่าออกหน้าไหนก็ต้องเข้าทางทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่ในความยืดหยุ่นที่ว่า โจทย์สำคัญคือต้องไม่มีปัจจัยอื่นมาแทรกซ้อน

ไม่เช่นนั้นอาจจะ "เสียของ" กันทั้งขบวน


ทิดเทือกลุยเอง-นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส.ที่ ออกมาชูรักแร้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญว่าเหมาะสมกับสถานการณ์เป็นที่สุด
นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ, นายสมหวัง อัสราษี ตัวแทน นปช. ยื่นหนังสือต่อ คสช. เพื่อขออนุญาตจัดแถลงข่าว เรื่อง ร่าง รธน.ในวันที่ 6 ก.ย.เวลา 14.00 น.ที่รร.อินเตอร์คอนติเนลตัล
กำลังโหลดความคิดเห็น