xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ร่างรธน.ว่าด้วย “องค์กรบริหารท้องถิ่น” กับ เงินโบนัส 196 ล้าน ให้คนท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ก่อนราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กถ.) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นรางวัลสําหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจูงใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของท้องถิ่นปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ลงนามโยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กถ.)

เป็นไปตามที่ได้กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นรางวัลสําหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ที่มีการบริหารจัดการที่ดี จํานวน 196 ล้าน บาท

แบ่งเป็นประเภทโดดเด่น จํานวน 78 ล้านบาท และประเภททั่วไป จํานวน 118 ล้านบาท ได้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครและเทศบาลเมืองเทศบาลตําบล และองค์การบริหารส่วนตําบล

มีการกำหนดคุณสมบัติของอปท.ที่สมัคร ในประเภทโดดเด่น ต้องมีคะแนนผลการประเมินการปฏิบัติราชการ ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ด้านการบริหารจัดการที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดําเนินการโดยคณะทํางานของจังหวัด (Core Team) ร้อยละ 90 ขึ้นไป ส่วนประเภททั่วไป ต้องมีคะแนนผลการประเมิน ร้อยละ 85 ขึ้นไป

มีการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรร เกณฑ์ชี้วัดการประเมินวิธีการคัดเลือกกำหนดให้สถาบันการศึกษาดําเนินการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานเรียงลําดับคะแนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเภทโดดเด่นและประเภททั่วไป ทั้งสองประเภทจะมีคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อคัดเลือก มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากองค์กร จำนวน 7-8 คนจาก สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คณะอนุกรรมการกําหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนฯ สมาคมของ อปท. และผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จำนวนเงิน 78 ล้านบาทนี้ในประเภทโดดเด่น มีทั้งสิ้น 11 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลที่ 1 จํานวน 16 ล้านบาท รางวัลที่ 2 จํานวน 12 ล้านบาท รางวัลที่ 3 จํานวน 10 ล้านบาท รางวัลชมเชย 8 รางวัล ๆ ละ 5 ล้านบาทรวมจํานวนเงิน 40 ล้านบาท

ประเภททั่วไป 118 ล้านบาท จัดสรรเป็นเงินรางวัล จํานวนทั้งสิ้น 26 รางวัล ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ (องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครและเทศบาลเมือง) จํานวน 4 รางวัล รวมเป็นเงิน 28 ล้านบาท รางวัลที่ 1 จํานวน 10 ล้านบาท รางวัลที่ 2 จํานวน 8 ล้านบาท รางวัลที่ 3 จํานวน 6 ล้านบาท รางวัลชมเชย 1 รางวัล จํานวน 4 ล้านบาท

ตําบล จํานวน 11 รางวัล รวมเป็นเงิน 45 ล้านบาท รางวัลที่ 1 จํานวน 9 ล้านบาท รางวัลที่ 2 จํานวน 7 ล้านบาท รางวัลที่ 3 จํานวน 5 ล้านบาท รางวัลชมเชย 8 รางวัล ๆ ละ 3 ล้านบาทรวมจํานวนเงิน 24 ล้านบาท

องค์การบริหารส่วนตําบล จํานวน 11 รางวัล รวมเป็นเงิน 45 ล้านบาท รางวัลที่ 1 จํานวน 9 ล้านบาท รางวัลที่ 2 จํานวน 7 ล้านบาท รางวัลที่ 3 จํานวน 5 ล้านบาท รางวัลชมเชย 8 รางวัล ๆ ละ 3 ล้านบาท รวมจํานวนเงิน 24 ล้านบาท

โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัล นําเงินรางวัลที่ได้รับไปใช้จ่ายเพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั้งนี้ ให้พิจารณาดําเนินโครงการที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่นเป็นลําดับแรก

ทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นโบนัส พ.ศ. 2558 ของ“พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่ควรได้

นอกจากโบนัสคนท้องถิ่นแล้ว สิ่งที่คนท้องถิ่นกำลังเฝ้าจับตาดูเห็นจะเป็น “ร่างรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้าย” เพื่อลงมติ 6 กันยายน 2558 ที่พบว่า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิม

ที่มีการแก้ไข ทุกมาตรา (ทั้ง 6 มาตรา) ที่มีการแก้ไขมาก สองมาตรา ก็คือ ตามมาตราใหม่ 201 และมาตรา 204 (ร่างเดิมตามมาตรา 213 และมาตรา 216) ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง (มาตรา 73-204)

มีการแก้ไขมาก ใน หมวด 7 เรื่อง การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น

ในส่วนของ มาตรา 201 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามหมวดนี้ ให้มีประมวลกฎหมายจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นและกฎหมายส่งเสริมการกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น โดยต้องให้มีการกระจายอำนาจที่เพิ่มขึ้น มีคณะกรรมการส่งเสริมการบริหารท้องถิ่นแห่งชาติ มีหน่วยงานรับผิดชอบการกระจายอำนาจที่เป็นเอกภาพและสามารถดำเนินการให้การกระจายอำนาจเป็นผลสำเร็จ และมีการประเมินผลการกระจายอำนาจด้วย

ให้กระจายอำนาจทางการคลังให้แก่องค์กรบริหารท้องถิ่นให้มีอิสระในการจัดหารายได้และใช้จ่ายในการดำเนินงานการกระจายอำนาจในการจัดเก็บภาษีให้กับองค์กรบริหารท้องถิ่น ให้คำนึงถึงการให้ท้องถิ่นโดยรวมมีรายได้จากภาษีท้องถิ่นที่เพียงพอสำหรับความจำเป็นในการใช้จ่ายของท้องถิ่น องค์กรบริหารท้องถิ่นใดที่ความสามารถในการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่นไม่เพียงพอในการใช้จ่าย ให้รัฐจัดสรรเงินรายได้ในรูปของการจัดสรรเงินภาษีและเงินอุดหนุนให้องค์กรบริหารท้องถิ่นนั้น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ให้มีการกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณ การรายงานการเงิน การคลัง และการตรวจสอบ เพื่อให้การบริหารการเงินการคลังขององค์กรบริหารท้องถิ่นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งรักษาวินัยและความยั่งยืนทางการคลังโดยรวมของท้องถิ่นและของประเทศ

และ มาตรา 204 การบริหารงานบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่นต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและความเหมาะสมขององค์กรบริหารท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ โดยต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ให้บุคลากรขององค์กรบริหารท้องถิ่นมีสถานะเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นหรือลูกจ้างส่วนท้องถิ่น และสามารถย้ายหรือสับเปลี่ยนสังกัดระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นและองค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบต่างกันได้

(2) ให้มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่นทุกรูปแบบ ในระดับชาติและระดับจังหวัด ร่วมกันเป็นองค์กรเดียว โดยมีองค์ประกอบสี่ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

(3) ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในการบริหารงานท้องถิ่นและคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

องค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอาจมีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลตาม (2) และคณะกรรมการตาม (3) เป็นการเฉพาะได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ตามร่างเดิมนั้น “หมวด 7 ว่าด้วยการกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น” กมธ.ยกร่างฯ มองว่าการแก้ไขถ้อยคำให้เป็น “การบริหารท้องถิ่น” จากเดิมคือ “การปกครองท้องถิ่น” นั้น ถือเป็นการลดระดับการปกครองท้องถิ่นที่ไม่ตรงกับกลไกและเจตนารมณ์ของการปกครองประเทศไทยที่ต้องการเน้นการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น

กมธ.ยกร่างฯแก้ไขชื่อหมวดให้เป็น “การกระจายอำนาจและการปกครองตนเองของท้องถิ่น” เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ที่ชัดเจน เพิ่มคำว่า “การปกครองส่วนภูมิภาค” เพื่อให้ครอบคลุมกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญที่จะส่งเสริมการปกครองส่วนภูมิภาค หรือ มณฑล

ดังสรุปได้ว่า ร่างฯฉบับนี้มีหลายประเด็นเกิดประโยชน์กับส่วนรวมและความก้าวหน้าสำหรับ “องค์กรบริหารท้องถิ่น (อบท.)” เช่น

- มีการหลักการถ่วงดุลอำนาจในองค์กรระหว่างฝ่ายข้าราชการประจำกับฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง,
- มีการจัดตั้งระบบพิทักษ์คุณธรรมให้ข้าราชการ อบท.
- มีการจัดตั้งกองทุนเงินเดือน และสวัสดิการของข้าราชการท้องถิ่นและลูกจ้าง
- มีการจัดตั้งระบบพิทักษ์คุณธรรมให้ข้าราชการ อบท.
- มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลคณะเดียวสำหรับ อบท.ทุกประเภท
- บุคลากรท้องถิ่นได้รับการยกฐานะเป็นข้าราชการ
- การโอนย้ายระหว่างท้องถิ่นต่างรูปแบบทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
- มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์จากข้าราชการ อบท.ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติหน้าที่
- มีคณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการท้องถิ่นโดยระบบคุณธรรม ซึ่งเดิมอำนาจอยู่ที่ผู้บริหารท้องถิ่น
- มีสถาบันวิจัยและพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถท้องถิ่น

จะเป็นผลดีต่อ “ข้าราชการท้องถิ่น”หรือไม่ ในวันที่ เงินโบนัสประจำปี กำลังจะลงไปถึงมือ



กำลังโหลดความคิดเห็น