ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเชียงใหม่ประกาศเจตนารมณ์ 3 ข้อปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพ จัด “สืบชะตาหลักประกันสุขภาพ” พร้อมจัดเสวนาพูดคุยผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ได้ใช้จริง
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า วันนี้ (9 ก.ค.) ที่วัดดอนจั่น ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จ.เชียงใหม่ ได้รวมตัวประกาศเจตนารมณ์เพื่อปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพพร้อมกันทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยที่เชียงใหม่นอกจากมีการจัดพิธีสืบชะตาและประกาศเจตนารมณ์แล้วยังมีการเสวนาหัวข้อ “สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร”
โดยนางผ่องพรรณ แสงคำ ตัวแทนเครือข่ายผู้ประสานงานภาคประชาชน จ.เชียงใหม่ นายยุทธพล ดำเนินสกุล ตัวแทนผู้พิการ และนางสาย ยี่บัว ตัวแทนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เจตนารมณ์ว่าภาคประชาชนในนาม “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จ.เชียงใหม่” ซึ่งทำหน้าที่จับตารัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้มีการดำเนินงานเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยเฉพาะเรื่อง
“สิทธิการรักษาพยาบาลที่ให้เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของทุกคน โดยรัฐต้องมีหน้าที่บริหารจัดการระบบให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประชาชนไม่ว่าจะรวยหรือจนต้องเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังต้องให้ความสำคัญต่อทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของระบบ” ตามช่องทางที่กฎหมายกำหนด
แต่ที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพกลับถูกสั่นคลอนด้วยการถูกตั้งคำถามด้วยการเป็นภาระงบประมาณของประเทศที่รัฐต้องแบกรับ และจะรับไม่ไหวในอนาคต และเป็นระบบที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน รวมถึงการมีมติของคณะรัฐมนตรีในการระงับการสนับสนุนงบประมาณขององค์กรเอกชน และองค์กรประชาชนในการทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการละเลยเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพ
กลุ่มฯ จึงขอประกาศเจตนารมณ์ในการปกป้องหลักประกันสุขภาพ เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความเหลื่อมล้ำให้แก่สังคมดังนี้
1. ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ใช่การรักษาสำหรับคนจน แต่เป็นหลักประกันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ “ทุกคน” สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีมาตรฐานและเท่าเทียมกัน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องลงทุนดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาระบบให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณในรูปแบบการเงินการคลังเพื่อสังคม เพื่อจะได้มีงบประมาณมาพัฒนาสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การบริหารจัดการต้องเป็นแบบกระจายอำนาจ ที่แยกบทบาทการทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพออกจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะผู้ซื้อบริการสุขภาพ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน
3. รัฐต้องให้ความสำคัญการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ทั้งการพัฒนามาตรฐานการให้บริการร่วมกับหน่วยบริการในทุกระดับ และการให้ความสำคัญต่องานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งส่งผลดีต่อระบบหลักประกันสุขภาพในภาพรวม เพราะจะทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของระบบที่พร้อมจะช่วยกันปกป้องและช่วยกันพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในทิศทางที่สร้างสรรค์ร่วมกัน
นางผ่องพรรณ แสงคำ ตัวแทนเครือข่ายผู้ประสานงานภาคประชาชน จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า ทางศูนย์ประสานงานฯ ได้รับหน้าที่ให้เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ความเข้าใจถึงระบบและสิทธิของผู้ที่ใช้บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง
ประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้สิทธิบัตรทองอาจจะยังไม่ทราบถึงสิทธิที่ตนเองควรจะได้ อย่างเช่น กรณีเกิดอุบัติเหตุต่างๆ หากต้องเข้าห้องฉุกเฉิน ผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใดๆ ก็ได้ทั่วประเทศ และหากโรงพยาบาลคิดค่ารักษาที่เกินจากความเป็นจริงผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากโรงพยาบาลที่ไปรักษาได้
“และตามมาตรา 41 ของผู้ใช้หลักประกันสุขภาพ เมื่อมีการรักษาและเกิดการเสียชีวิตขึ้นมาเนื่องจากไม่ทราบสาเหตุและไม่ใช่ความผิดของแพทย์ผู้รักษา ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถไปยื่นคำร้องขอรับเงินค่าเสียหายจากกองทุนสิทธิผู้ใช้บัตรทอง ซึ่งทางกองทุนจะมีเงินช่วยเหลือให้แก่ญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งจากเมื่อก่อนกองทุนจะจ่ายให้ 200,000 บาท แต่ปัจจุบันนี้กองทุนได้พัฒนาและขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทำให้เงินที่จะเข้าไปช่วยเหลือญาติผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเป็น 400,000 บาท”
นายยุทธพล ดำเนินสกุล เครือข่ายผู้พิการ จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า ในฐานะที่เป็นเครือข่ายของผู้พิการ ปัญหาหลักของการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเข้าถึงสถานพยาบาลและระบบการรักษาที่จะล่าช้ากว่าผู้ที่มีสภาวะปกติ
ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้าที่จะมีระบบบัตรทองผู้พิการที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะต้องเดินทางไปติดต่อที่ห้องประชาสงเคราะห์ก่อนเพื่อยืนยันว่าตนเองเป็นผู้พิการและได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่หลังจากที่มีระบบบัตรทองเข้ามาการรักษาของผู้พิการก็ดีขึ้นและมีเครื่องมือที่ทันสมัยทำให้ผู้พิการได้รับการเข้าถึงการรักษาได้ทันเวลาและสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการอย่างเห็นได้ชัด
“สิ่งสำคัญในอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยยังไม่มีการวางแผนการรักษากลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการที่จะเริ่มมีมากขึ้น และระบบบัตรทองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนพิการที่มีฐานะยากจนเข้าถึงระบบการรักษาได้ดีมากยิ่งขึ้น”
ด้านนางสาย ยี่บัว อายุ 78 ปี ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง จากอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วตนได้ป่วยมีอาการมือเท้าชา จึงได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลดอยหล่อ แต่ทางโรงพยาบาลดอยหล่อมีเครื่องมือที่ล้าสมัยทำให้การวินิจฉัยอาจจะเกิดการผิดพลาดจึงได้ส่งตนมารักษายังโรงพยาบาลนครพิงค์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อมาถึงหมอต้องทำการเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยโรคเพื่อทำการรักษา โดยมีค่าใช้จ่ายในการเอกซเรย์ 10,000 บาท ซึ่งขณะนั้นตนได้ยื่นสิทธิบัตรทองในการรักษาทำให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดลดลงจาก 10,000 บาท เหลือเพียง 2,000 บาท ที่เป็นค่าอุปกรณ์ในการรักษาเพียงเท่านั้น
นางสายเล่าต่อว่า ระบบการรักษาของสิทธิบัตรทองไม่ได้ให้เพียงแค่ยาแล้วกลับบ้านเพียงเท่านั้น ระบบการรักษาบัตรทองยังครอบคลุมไปถึงการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกที่ให้การรักษาโดยใช้ยาสมุนไพร, การนวดแผนโบราณ หรือแม้แต่การฝังเข็ม ก็อยู่ในสิทธิของผู้ใช้บัตรทองทั้งหมด
“หากไม่ได้ใช้สิทธิของบัตรทองในการรักษาอาจจะไม่มีอายุมาถึงทุกวันนี้”