xs
xsm
sm
md
lg

“หมอดำรัส” ยันคุณภาพ “Stent บัตรทอง” รักษาหัวใจตีบ ไม่ต่างระบบสุขภาพอื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอดำรัส” ยืนยันคุณภาพ “Stent บัตรทอง” ประสิทธิภาพรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจไม่ต่างสิทธิระบบสุขภาพอื่น เหตุร่วมมือบริษัททำ CSR จัดซื้อราคาถูก ยอมรับผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจสิทธิบัตรทองตายมากกว่าสิทธิ ขรก. จากภาวะอาการแย่กว่า เข้าถึงการรักษาช้า แถมระบบเบิกจ่ายยังไม่รองรับทำ รพ. กังวลค่ารักษา ด้าน สปสช. เผยอยู่ระหว่างทบทวนปัญหา เพื่อปรับปรุงระบบดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงอายุในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และผู้ป่วยระบบรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ ว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วยบัตรทองมากกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นเรื่องจริง โดยในกลุ่มของผู้ป่วยโรคหัวใจที่เข้ารับการผ่าตัดและใส่สายสวนหัวใจ เกิดจากสาเหตุสำคัญ คือ อาการของผู้ป่วยบัตรทองที่เข้ารับการรักษา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมาด้วยสภาพที่หนักมาก การขาดการดูแลจากระบบอย่างต่อเนื่องหลังการรักษา ต่างจากผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการที่มีโอกาสเข้าถึงการรักษามากกว่า โดยเฉพาะการมีสิทธินอกเวลาราชการที่สามารถคัดกรองผู้ป่วยเข้ารักษาได้จำนวนหนึ่ง รวมถึงการติดตามหลังการผ่าตัด และตัวเลขนี้จะเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องเวลา

ทั้งนี้ นอกจากสภาพผู้ป่วยแล้ว ระบบการเบิกจ่ายบัตรทองยังส่งผลต่อการรักษา ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยบัตรทองแม้ว่าจะอ้างอิงกรมบัญชีกลาง แต่ก็ไม่ครอบคลุมเท่า ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการยังต้องดูในเรื่องการเบิกจ่ายจากระบบบัตรทอง ที่ผ่านมาในโรงพยาบาลจึงเกิดศัพท์ใหม่ 3 คำ คือ รายได้พึงหวัง เป็นรายได้ที่ รพ.คาดหวังว่าจะได้ รายได้พึงได้ เป็นรายได้ที่เบิกจ่ายจากดีอาร์จี และรายได้จริง เป็นรายได้ที่ รพ. ได้รับ ซึ่งอาจได้รับน้อยกว่า ตรงนี้อาจเกิดจากการทำเบิกที่ไม่ครบถ้วน

ส่วนกรณีของขดลวดขยายหลอดเลือด (Stent) ซึ่งบัตรทองถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องคุณภาพนั้น รศ.นพ.ดำรัส กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประธานจัดซื้อขดลวดขยายหลอดเลือดให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในครั้งแรก ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นขดลวดขยายหลอดเลือดของบริษัทใด จากประเทศจีน หรือ ประเทศใด คุณภาพในการรักษาผู้ป่วยไม่แตกต่างกันและมีหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดเจน ซึ่งต่อมาในแต่ละปี สปสช. ได้มีการประกวดราคาและจัดซื้อขดลวดขยายหลอดเลือดจากจากบริษัทที่ชนะการประมูล

“การจัดซื้อ Stent ของ สปสช.กับบริษัทที่จำหน่ายเป็นไปในรูปแบบซีเอชอาร์ที่เป็นความร่วมมือเพื่อการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ ซึ่งค่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต Stent แม้ว่าจะมีราคาเพียงแค่ 1 ยูเอสเท่านั้น แต่ที่บริษัทต้องตั้งราคาขายแพง เพราะเป็นเรื่องความรู้ในการผลิต จึงภูมิใจได้ว่า Stent ในระบบบัตรทองไม่ใช่กระจอก ดีแน่นอน” รศ.นพ.ดำรัส กล่าวและว่า ระบบบัตรทองต้องดูแลประชาชน 48 ล้านคน หากให้เบิกจ่าย Stent เท่าระบบสวัสดิการข้าราชการก็คงไม่ไหว ระบบคงเจ๊ง จึงต้องเป็นความร่วมมือ ไม่ใช่การลดราคา เพราะจะเป็นการทำลายกลไกตลาด

“รพ.ศิริราชให้การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นสิทธิข้าราชการ ร้อยละ 43 รองลงมาเป็นบัตรทอง ร้อยละ 30 จ่ายค่ารักษาเอง ร้อยละ 20 และประกันสังคมเพียงร้อยละ 7 โดย รพ.ศิริราช มีการควบคุมอัตราการตายเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.87 โดยในส่วนกลุ่มผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายที่มีข้อจำกัดเวลาในการรักษา พบว่า ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองตายมากกว่า เพราะอาการผู้ป่วยแย่กว่า มาถึงช้ากว่า และระบบเบิกจ่ายยังไม่รองรับทำให้โรงพยาบาลเกิดกังวลต่อรายได้จริงที่จะได้รับ” รศ.นพ.ดำรัส กล่าว

ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ ประธานกลุ่มภารกิจสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการ สปสช. กล่าวว่า การที่ สปสช. จัดซื้อ Stent ในภาพรวม และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่งผลให้ผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ช่วยลดความพิการ และเสียชีวิตลงได้ แต่ทั้งนี้ ยอมรับว่า ในการดำเนินระบบย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นได้ ดังนั้น สปสช. จึงได้เตรียมทบทวนปัญหาต่าง ๆ เพื่อทำการปรับปรุงเพื่อให้เกิดระบบการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น