พะเยา/ลำปาง - กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี พร้อมผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมตัวทำพิธีฮ้องขวัญ-สืบชะตาระบบประกันสุขภาพ “บัตรทอง” พร้อมประกาศเจตนารมณ์ปกป้องถึงที่สุด
วันนี้ (9 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มคนรักสุขภาพ พร้อมด้วยตัวแทนมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จ.พะเยา เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้หญิงรักสุขภาพ เครือข่ายผู้พิการ และตัวแทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพหลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมตัวทำพิธีฮ้องขวัญ-สืบชะตาระบบหลักประกันสุขภาพ “บัตรทอง” ตามความเชื่อของชาวบ้านล้านนา เพื่อให้คงระบบนี้ไว้ให้แก่ประชาชนคนไทยต่อไป
โดยองค์กรเครือข่ายในจังหวัดพะเยาได้รวมตัวกันกว่า 150 คน ประกอบพิธีสืบชะตาระบบหลักประกันสุขภาพ ที่พระวิหารหลวงวัดศรีโคมคำ พระอารามหลวง ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา เปิดเวที “ฮ่วมกันมาฮอมกำกึ๊ด ระบบประกันสุขภาพหื้ออะหยั๋งคนผยาว” เพื่อให้ข้อมูลความรู้ ความเข้าใจระบบประกันสุขภาพ รวมถึงสร้างการตื่นตัวในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ
ขณะที่กลุ่มคนรักประกันสุขภาพ จ.ลำปาง พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 30 คน ก็ได้จัดพิธีในลักษณะเดียวกันที่วัดอุทุมพร บ้านท่าเดื่อ หมู่ 12 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง
นางชนากานต์ วงศ์วารินทร์ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.พะเยา กล่าวว่า เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า ครม.จะระงับการสนับสนุนงบประมาณ องค์กรประชาชน เอกชน ในการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งการมีคำสั่งระงับการปฏิบัติงานในตำแหน่งชั่วคราวของเลขาธิการ สปสช. ทางกลุ่มเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการ สปสช.ไม่ได้มีความผิดใดๆ และการบริหารงานก็มีบอร์ดหลักประกันสุขภาพ มีกฎหมายรองรับชัดเจน การมุ่งเน้นทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นโครงการประชานิยม ประชาชนได้รับประโยชน์จริง แต่มีความพร้อมหรือไม่ เพราะเฉลี่ยเงินค่ารักษาพยาบาลคนละ 2,900 บาท ทางโรงพยาบาลรับไม่ไหว
ทั้งหมดนี้สะท้องถึงวิธีคิดการบริหารระบบประกันสุขภาพที่ล้มเหลว สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญคือ การคุ้มครองระบบให้ก้าวหน้า การเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบสุขภาพ 3 ระบบ (บัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ) การจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบภาษีที่เป็นการจัดเก็บแบบก้าวหน้า และให้กระทรวงสาธารณสุขมีแผนเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
ด้านนางมยุเรศ แลวงศ์นิล ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักประกันสุขภาพ จ.ลำปาง กล่าวว่า ที่ผ่านมาระบบประกันสุขภาพถูกสั่นคลอนด้วยการถูกตั้งคำถามเรื่องการเป็นภาระงบประมาณของประเทศ ที่รัฐต้องแบกรับและจะไม่ไหวในอนาคต และอีกทั้งยังเป็นระบบที่ทำให้เกิดปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน ซึ่งทางกลุ่มฯ เห็นว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าเป็นการบิดเบือนข้อมูลความเป็นจริง เป็นการจ้องล้มระบบหลักประกันสุขภาพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กรณีดังกล่าวทำให้ภาคประชาชนเกิดกังวลใจว่าหากไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนต้องล้มละลายจากความเจ็บป่วย เพราะเข้าไม่ถึงการรักษาที่มีมาตรฐาน จึงได้ชักชวนเครือข่ายต่างๆ มาร่วมพิธีฮ้องขวัญดังกล่าวพร้อมกับร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความเหลื่อมล้ำให้แก่สังคม
ในโอกาสนี้เครือข่ายคนรักสุขภาพลำปางยังได้ร่วมอ่านแถลงการณ์ระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ใช่การรักษาสำหรับคนจน แต่เป็นหลักประกันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ “ทุกคน” สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีมาตรฐานและเท่าเทียมกัน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องลงทุนดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาระบบให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณในรูปแบบการเงินการคลังเพื่อสังคม เพื่อจะได้มีงบประมาณมาพัฒนาสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพต้องเป็น “แบบกระจายอำนาจ” ที่แยกบทบาทการทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ออกจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อบริการสุขภาพ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ให้เป็นไปอย่างมาตรฐาน
รัฐต้องให้ความสำคัญต่อการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ทั้งการพัฒนามาตรฐานการให้บริการร่วมกับหน่วยบริการในทุกระดับ และการให้ความสำคัญต่องานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งส่งผลดีต่อระบบหลักประกันสุขภาพในภาพรวม เพราะจะทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของระบบที่พร้อมจะช่วยกันปกป้องและช่วยกันพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในทิศทางที่สร้างสรรค์ร่วมกัน