xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่อ “ลุงตู่” หยุด “ล้ม” เอาแค่ “รื้อ” 30 บาทจะจบที่ “ร่วมจ่าย” หรือความพ่ายของ “ตระกูล ส.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จากปมเงื่อนที่เริ่มและจำกัดวงแค่ความขัดแย้งในการทำงานระหว่าง “ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกับ “นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทั่งสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชามีคำสั่งย้ายให้พ้นไปจากตำแหน่ง เวลานี้ สามารถกล่าวได้ว่า ความขัดแย้งได้ขยายวงออกไปอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อ “บิ๊กตู่” ใช้อำนาจตาม ม.44 ย้าย นพ.วินัย สวัสดิวร ให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พร้อมประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนถึงปัญหางบประมาณในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อ “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค”

ขณะที่ ศ.นพ.รัชตะก็เด้งรับลูกด้วยการตั้ง “คณะกรรมการจัดทำแนวทางระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ” โดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษา รมว.สธ.เป็นประธาน มี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา ส่วนคณะกรรมการก็มาจากหลายภาคส่วน อาทิ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสงคม สถาบันวิจัยระบบสุขภาพแห่งชาติและมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เป็นต้น

หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือการพิจารณากลไกที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงินของระบบหลักประกันสุขภาพตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์

คำถามมีอยู่ว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีถึงจ้องรื้อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือระบบนี้มีปัญหาจริงๆ จนรัฐบาลไม่อาจจัดสรรงบประมาณจำนวนมหาศาลมาอุดได้

และคำถามมีอยู่ว่า ทำไมหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จึงพุ่งเป้ามาที่ สปสช.เป็นที่แรก

หรือเป็นเพราะอะไร

แต่ที่แน่ๆ คือฉับพลันทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์เอ่ยปากถึงการรื้อและล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สารพัดเท้าก็ร่วมสหบาทารุมสกัมรัฐบาล คสช.โดยพร้อมเพรียงกัน

กลุ่ม ส.ส.เพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงที่ขยายประเด็นทันทีด้วยการปล่อยข่าวว่า รัฐบาลจะล้มโครงการที่ประชาชนได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะถึงมือประชาชนโดยตรงโครงการนี้ ซึ่งความจริงก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่จะมีการการตีความไปในทำนองนั้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์พูดในทำนองนั้นจริงๆ ว่าประเทศไทยมีปัญหาด้านงบประมาณและยังไม่พร้อมสำหรับโครงการประชานิยมโครงการนี้

ด้าน ตระกูล ส. ที่ผูกขาดอำนาจในการบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มาเป็นเวลาก็เคลื่อนไหวไปในท่วงทำนองเดียวกัน เพราะวิเคราะห์สถานการณ์แล้วเชื่อได้ว่า รัฐบาล คสช.ตั้งใจจะล้มจริงๆ

เมื่อ 2 กลุ่มเคลื่อนไหวไปในทิศทางสอดรับกัน รัฐบาลก็ปั่นป่วน และถ้าไม่สามารถคลี่คลาย สถานการณ์จะยิ่งบานปลายกระทบเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการนี้จริงๆ

สุดท้ายนายกฯ ลุงตู่จึงต้องถอย

“นายกฯ ยืนยันชัดเจนว่าไม่มีนโยบายเลิกหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เป็นห่วงในเรื่องงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนายกฯ อยากเห็นประชาชนช่วยกันทำให้ระบบยั่งยืน ซึ่งวิธีหนึ่งคืออาจให้ประชาชนช่วยบริจาคเงินเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”ศ.นพ.รัชตะกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ก็กล่าวด้วยถ้อยความในทำนองเดียวกัน

จากล้มจึงต้องกลายเป็นการรื้อไปโดยปริยาย ซึ่งทุกฝ่ายก็ยอมรับเพราะ ระบบหลักประกันสุขภาพก่อให้เกิดปัญหาทางด้านงบประมาณของประเทศจริงๆ รวมทั้งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนบักโกรกจริงๆ

กระนั้นก็ดี ปัญหาก็ยังไม่หมดไป เพราะเมื่อมีการโยนหินถามทางออกมาเรื่องการให้ประชาชนช่วย “บริจาคเงิน” เข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เสียงคัดค้านก็ดังกระหึ่มมาจากทั่วทุกสารทิศ

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการ สปสช. น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.)ประกาศชัดว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าวเพราะโรงพยาบาลเองก็มีการรับบริจาคอยู่แล้ว ซึ่งวิธีบริจาคนี้ไม่ได้ช่วยให้ระบบยั่งยืน

ทั้งนี้ หลายคนเห็นว่า สิ่งที่ควรทำก็คือการใช้ระบบ “ร่วมจ่าย” ขณะเดียวกันก็ต้องไปดูงบสุขภาพภาพรวมทั้งประเทศ ในแต่ละกองทุนว่ามากน้อยแค่ไหน และจัดสัดส่วนให้เหมาะสม หรือจะเพิ่มงบเข้ากองทุนจะทำอย่างไร เช่น วิธีเก็บภาษีสุขภาพ เป็นต้น

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เสนอให้รัฐบาลควรพิจารณาถึงเรื่องการให้ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทองร่วมจ่ายหรือร่วมสมทบ โดยแนวทางอาจเป็นการร่วมจ่ายขณะเข้ารับการรักษาเหมือนที่จ่าย 30 บาทต่อการเข้ารักษาแต่ละครั้ง ที่อาจเพิ่มเป็น 50 บาท หรือ 100 บาท หรืออาจให้ร่วมจ่ายเหมือนสิทธิข้าราชการ เช่น หากต้องการยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติก็ร่วมจ่ายเอง หรืออาจจะใช้แนวทางร่วมจ่ายแบบคล้ายซื้อประกันของรัฐบาล แต่ทุกแนวทางจะต้องยกเว้นให้กับผู้ที่ถือบัตรทองตามเกณฑ์การยกเว้นที่ สปสช.กำหนดขึ้น เช่น พระภิกษุ สามเณร ผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ และเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี เป็นต้น

ขณะที่ น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กองทุนบัตรทองต้องการเงินเข้ามาในระบบอย่างเหมาะสม เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและคุณภาพ โดยงบที่จะเพิ่มเข้ามาในระบบต้องเป็นเงินที่รัฐบาลจัดหาเข้ามาอย่างเพียงพอ ถ้าจะเพิ่มขึ้นก็ต้องเพิ่มจากระบบภาษี

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการ สปสช. ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การร่วมบริจาคเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยจะเน้นไปในเรื่องโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ที่ไม่ต้องรอคิวรักษาในโรงพยาบาลภาครัฐ แต่ให้ไปรักษาในช่องทางพิเศษที่ รพ.เอกชนแทน

สำหรับการทำให้ระบบบัตรทองยั่งยืน ขณะนี้มี 2 แนวทาง คือ 1.สร้างความยั่งยืนทางการเงิน มาจากงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลต้องจัดสรร เพราะเรื่องสุขภาพถือเป็นการลงทุนเพื่อประชาชน หากประชาชนสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ไม่เสียค่ารักษา ลดภาระทางการเงินได้ และอีกแนวทางที่พูดกันมากคือ การร่วมจ่าย และ 2.การบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

“ข้อถกเถียงว่า หากต้องให้ประชาชนทุกคนร่วมจ่าย ควรเป็นการจ่ายก่อนเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล คล้ายๆ การเก็บค่าประกันสุขภาพ ซึ่งรูปแบบในการเก็บอยู่ระหว่างการพิจารณา แนวทางหนึ่งคือ การร่วมจ่ายในลักษณะภาษี อาจเป็นการเก็บภาษีสุขภาพเฉพาะ แต่กรณีนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องตั้งสำนักงานในการบริหารจัดการ จึงมีแนวทางอื่นๆ เช่น เก็บภาษีหัวจ่ายน้ำมัน โด ยใครที่ไปเติมน้ำมันอาจต้องเสียภาษีจุดนี้เพิ่ม หรือภาษีธุรกรรมทางการเงิน และยังมีผู้เสนอว่าจะเก็บเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม พวกสินค้าทั่วไป ฯลฯ” นพ.ประทีป กล่าว

สำหรับวิวาทะเรื่องอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยบัตรทองมากกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการนั้น ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันไม่จบ แต่ที่น่าสนใจคือข้อมูลที่ออกมาจาก รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล เปิดเผยข้อมูลโดยยอมรับว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วยบัตรทองมากกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นเรื่องจริง โดยในกลุ่มของผู้ปวยโรคหัวใจที่เข้ารับการผ่าตัดและใส่สายสวนหัวใจ เกิดจากสาเหตุสำคัญ คืออาการของผู้ป่วยบัตรทองที่เข้ารับการรักษา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมาด้วยสภาพที่หนักมาก การขาดการดูแลจากระบบอย่างต่อเนื่องหลังการรักษา ต่างจากผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการที่มีโอกาสเข้าถึงการรักษามากกว่า โดยเฉพาะการมีสิทธินอกเวลาราชการที่สามารถคัดกรองผู้ป่วยเข้ารักษาได้จำนวนหนึ่ง รวมถึงการติดตามหลังการผ่าตัด และตัวเลขนี้จะเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องเวลา

ทั้งนี้ นอกจากสภาพผู้ป่วยแล้ว ระบบการเบิกจ่ายบัตรทองยังส่งผลต่อการรักษา ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยบัตรทองแม้ว่าจะอ้างอิงกรมบัญชีกลาง แต่ก็ไม่ครอบคลุมเท่า ขณะเดียวกันผู้ให้บริการยังต้องดูในเรื่องการเบิกจ่ายจากระบบบัตรทอง ที่ผ่านมาในโรงพยาบาลจึงเกิดศัพท์ใหม่ 3 คำ คือ รายได้พึงหวัง เป็นรายได้ที่ รพ.คาดหวังว่าจะได้ รายได้พึงได้ เป็นรายได้ที่เบิกจ่ายจากดีอาร์จี และรายได้จริง เป็นรายได้ที่ รพ.ได้รับ ซึ่งอาจได้รับน้อยกว่า ตรงนี้อาจเกิดจากการทำเบิกที่ไม่ครบถ้วน

ถึงตรงนี้...ก็ได้แต่บอกว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังเรื่องยาว เพราะมีที่มาที่ไปทางประวัติศาสตร์ระหว่าง “กลุ่มตระกูล ส.” และ “กลุ่มแอนตี้ตระกูล ส.”



กำลังโหลดความคิดเห็น