xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้าย “หมอวินัย” พ้น สปสช.“ลุงตู่” ท้าชน “ตระกูล ส.”รื้อใหญ่ปัญหางบ 30 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

.นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โยกย้ายข้าราชการล็อตใหญ่ถึง 71 ชีวิต ซึ่งหนึ่งในนั้นมีรายชื่อของ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมอยู่ด้วย

ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่า องค์กร 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น แทบจะแตะต้องไม่ได้ เพราะแม้แต่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เดินหน้าชนกับ สปสช.มาช่วงก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะประเด็นการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน เพราะมีการโอนงบล่วงหน้าให้แก่โรงพยาบาล เพื่อจัดการปัญหา “เงินค้างท่อ” แต่เมื่อเข้าสู่ปีงบประมาณใหม่ ก็มีการหักลบทีหลัง โดยไม่โอนงบใหม่ไปให้

จนสุดท้าย นพ.ณรงค์ ก็ถูกคำสั่งย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าน่าจะเป็นเพราะการท้าชนกับ สปสช.

จึงไม่แปลกที่เมื่อบิ๊ก สปสช.ถูกสั่งย้ายเช่นนี้ จึงเกิดกระแสต่อต้านขึ้นมา บางส่วนในบอร์ด สปสช.ถึงขั้นระบุว่า ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการในการสั่งย้าย “หมอวินัย” ในครั้งนี้ โดยเฉพาะเหล่า “เอ็นจีโอ” ที่ออกมาเป็นกระบอกเสียง ถึงขั้นประกาศว่าเป็นการทำลายระบบหลักประกันสุขภาพที่มีประชาชนเป็นส่วนร่วม

สำหรับปฏิกิริยาตอบกลับเช่นนี้ก็ไม่ได้เกินเลยไปจากที่หลายคนคาดคิด เพราะแวดวงสาธารณสุขทราบดีว่า สปสช.ใช้เงินเลี้ยงดูเอ็นจีโอเอาไว้มากมาย สนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งประเด็นนี้เองที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีการตีความว่าเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ จนเอ็นจีโอหลายคนเติบโตขึ้นมาเป็นกรรมการบอร์ด สปสช. ขณะที่ผู้บริหาร สปสช.เองก็เข้าไปเป็นกรรมการ ประธานมูลนิธิเอ็นจีโอต่างๆ ด้วย

กลับมาที่ด้านเจ้าตัวคือ “หมอวินัย” ก็ได้ตั้งโต๊ะแถลงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าไม่เป็นธรรม เพราะไม่ทราบว่าทำอะไรผิด หากเป็นเรื่องการบริหารจัดการงบกองทุนบัตรทองผิดวัตถุประสงค์ ทุกอย่างก็ล้วนเป็นไปตามมติบอร์ด สปสช. และมีการชี้แจงต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาตรวจสอบไปหมดแล้ว ทั้ง คตร. หรือ สตง.

สอดคล้องกับที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน ที่ออกมากล่าวว่า การใช้มาตรา 44 ในการโยกย้าย ส่วนใหญ่เพราะมีปัญหาในเรื่องทุจริต แต่ นพ.วินัย ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้ การทำงานทุกอย่างเป็นไปตามมติบอร์ด สปสช.นพ.วินัยในฐานะเลขาธิการ สปสช.ดำเนินการเองไม่ได้ การย้ายเช่นนี้จึงไม่ชอบธรรม มองว่า คสช.ควรแต่งตั้งกรรมการกลางขึ้นมาตรวจสอบดูว่า นพ.วินัย ดำเนินการผิดจริงหรือไม่ เพราะหากเป็นเรื่องการบริหารงบบัตรทองผิดวัตถุประสงค์ ก็ไม่ได้มีการชี้มูลว่ามีการทุจริต แต่เป็นเรื่องการบริหารที่มีการตีความแตกต่างกัน ก็ต้องมีกรรมการกลางขึ้นมาพิจารณาว่าจริงๆ แล้วเป็นเช่นไร

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวในแวดวงเสื้อกาวน์มีการตั้งคำถามว่า เป็นการเอาคืนทางการเมืองหรือไม่ เพื่อให้เกิดความสมดุล หลังจากที่มีการย้าย นพ.ณรงค์ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งการย้ายจริงๆ ควรเป็น ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.แต่เมื่อไปไม่ถึง “หมอรัชตะ” จึงกลายเป็น “หมอวินัย” ที่กลายเป็นตัวตายตัวแทน

แต่ที่แน่ๆ คือไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใด ช่วงนี้ถือเป็นมรสุมของ สปสช. เพราะไม่เพียงต้องชี้แจงเรื่องการบริหารงบประมาณผิดวัตถุประสงค์ ยังต้องเผชิญกับกรณีการเปิดเผยงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ที่แม้จะมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความเหลื่อมล้ำของสิทธิบัตรทอง และข้าราชการ เพื่อของบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น แต่ผลวิจัยที่ซ่อนอยู่ในนั้นคือ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยบัตรทองอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ในโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคมะเร็ง สูงกว่าผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปในสิทธิข้าราชการถึง 70%

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามชี้แจงว่าเกิดจากการจำกัดการเข้าถึงสิทธิการได้รับยาของผู้ป่วยบัตรทอง ที่ไม่สามารถใช้ยานอกบัญชียาหลักได้ รวมไปถึงการกำหนดวิธีการรักษาให้ผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลจะต้องดำเนินการ มิเช่นนั้นก็ไม่สามารถเบิกเงินจาก สปสช.ได้

ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ สปสช.จะต้องเคลียร์ให้ชัดทุกประเด็น

แต่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ที่ สปสช.กำลังขาดเลขาธิการ สปสช.เช่นนี้ ที่น่าจับตามองก็คือ คนที่จะขึ้นมาเป็นรักษาการเลขาธิการ สปสช. และนำพา สปสช.แก้วิกฤตทั้งหมดที่กำลังเผชิญอยู่

โดยในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ จะมีการประชุมบอร์ด สปสช. ซึ่ง ศ.นพ.รัชตะ ก็มีการแย้มออกมาเล็กน้อยว่า คนที่จะเลือกขึ้นมาเป็นรักษาการเลขาธิการ สปสช.ก็น่าจะพิจารณาจากรองเลขาธิการ สปสช.ที่มีอยู่

สำหรับรายชื่อรองเลขาธิการ สปสช.ขณะนี้มี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช นพ.วีระวัฒน์ พันธุ์ครุฑ และ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ซึ่งคนที่มีภาษีดีที่สุดที่จะน่าจะได้รับการเลือกเป็นรักษาการเลขาธิการ สปสช.คือ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เพราะถือเป็นมันสมองคนสำคัญของ สปสช. แต่ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรักษาการเลขาธิการ สปสช. ทุกอย่างก็คงไม่แตกต่างไปจากเดิม ปัญหางัดข้อระหว่างกระทรวงหมอ และ สปสช.จะยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะความขัดแย้งล้วนเกิดขึ้นจากระบบ หากเปลี่ยนแค่ตัวบุคคล โดยไม่มีการปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น ให้เป็นที่พอใจสำหรับทุกฝ่าย ปัญหาก็จะไม่มีวันจบสิ้น

และเค้าลางการปฏิรูประบบสุขภาพของไทยก็ทำท่าว่าจะเกิดขึ้น โดยเห็นได้จากท่าที พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง เมื่อนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1กรกฎาคม 2558 ถึงปัญหาเรื่องงบประมาณ “ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งนั่นส่งผลทำให้บรรดาองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่เห็นด้วยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักทีเดียว

“ที่ผ่านมารัฐบาลไม่สนใจและไม่ใส่ใจในเรื่องของงบประมาณสาธารณสุข มันมีไม่พอ ที่ไม่พอเพราะไปทำโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นไปได้หรือไม่ความจริงผมไม่อยากจะพูด โครงการรักษาทุกโรคนั้นเป็นโครงการประชานิยม ประชาชนได้รับประโยชน์ ผมไปพูดอะไรไม่ได้ แต่อยากถามว่าเรามีความพร้อมหรือยัง เฉลี่ยแล้วอยู่ที่คนละ 2,900 บาท แล้วรักษาพอหรือไม่ แล้วโรงพยาบาลจะรับไหวหรือไม่ในงบประมาณแค่ 2,900 บาท มันรับไม่ไหวโรงพยาบาลก็จะเจ๊ง พอเจ๊งแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องไปหางบประมาณให้กับ สปสช.เข้ามาเพิ่มให้เท่านั้นเอง จำนวนเงินดูเหมือนมากแต่เมื่อนำไปหารเฉลี่ยเป็นเงินเพียงนิดเดียว

“ผมขอถามว่าประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยัง อีก 190 กว่าประเทศยังไม่เห็นมีใครทำเลยในโครงการแบบนี้ มีทำเพียงกี่ประเทศเชียว อยากถามว่ารัฐบาลไหนทำมาแล้วผมจะไปล้มได้หรือไม่ มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องแต่เป็นเรื่องของการบิดเบือนในเกือบจะทุกเรื่อง จึงทำให้เป็นภาระในวันนี้ แล้วก็ออกมาเรียกร้อง มันจะเอาอะไรจากผมกันเล่า ถ้าผมสามารถทำให้ทุกอย่างชัดเจนขึ้นก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปงบประมาณสปสช.จะต้องทำอย่างไร ส่วนไหนจะให้กับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนไหนจะเป็นเรื่องของโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องนำไปเติมให้ ส่วนตัวเชื่อว่าในวันข้างหน้าอีกไม่กี่ปีโรงพยาบาลจะเจ๊งทั้งหมด แต่ก็ยังมีคนชื่นชมคนที่คิดโครงการนี้ออกมา แล้วจะให้ผมพูดเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ให้ความเห็น

ก็คงต้องมาลุ้นกันตัวเกร็งว่าบอร์ด สปสช.จะถูกล้างบางอย่างที่หลายคนกังวลหรือไม่ เพราะหาก “บิ๊กตู่” จะปฏิรูปทุกอย่างให้หมดจด ก็ต้องปฏิรูป “บัตรทอง” ด้วย แต่ไม่ใช่การล้มล้าง เพราะสิทธินี้เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรได้รับ ถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ท้าทายความสามารถ และวัดใจว่า “บิ๊กตู่” จะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาวงการสาธารณสุขมากน้อยแค่ไหน เพราะขั้วอำนาจในแวดวงนี้ใหญ่คับฟ้าจริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น