อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
ศาสตราจารย์ ดร. นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
ศาสตราจารย์ ดร. นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งได้รับทุนวิจัยจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องได้กล่าวกับผู้เขียนว่า เคยถูกหัวหน้าหน่วยงานราชการผู้ให้ทุนวิจัยลำเลิกบุญคุณ เนื่องจากศาสตราจารย์ท่านดังกล่าวได้รับทำงานวิจัยประเมินผล (Evaluation research) แล้วพบปัญหาด้านมืดด้านไม่ดีของหน่วยงานนั้นๆ มากมาย แต่ท่านก็นำเสนอผลการวิจัยดังกล่าวโดยไม่เกรงกลัวใดๆ อย่างตรงไปตรงมา ศาสตราจารย์ท่านนี้จึงกล่าวตอบไปว่า ก็คุณมาขอร้องให้ผมทำงานวิจัยให้ เอาเงินมาให้ผมเอง ผมไม่ได้เข้ามาขอเงินคุณเสียเมื่อไหร่ ผมก็ทำหน้าที่นักวิชาการของผม คุณและหน่วยงานของคุณไม่มีบุญคุณอะไรกับผม เพราะฉะนั้นผมด่าคุณและหน่วยงานของคุณได้
ได้ยินท่านเล่าให้ฟังแล้วอดนึกถึงบุรุษเหล็กเติ้ง เสี่ยวผิงผู้เอ่ยวาจาอันเป็นอมตะว่า "อันบุญคุณของท่าน ที่ช่วยข้าพเจัาส่วนตัวนั้น ข้าฯก็เห็นแจ้งอยู่ หากท่านตัองการอะไรจากข้าฯ เป็นส่วนตัวแล้วไซร้. ข้าฯ ก็ยินดี ตอบสนองคุณท่าน มิได้ลืม แต่ประเทศชาติ หาได้เป็นหนี้บุญคุณต่อท่านไม่ ข้าฯ มิอาจตอบแทน บุญคุณส่วนตัว ดัวยผลประโยชน์ของชาติได้"
หลังจากที่ผู้เขียนทั้งสองได้นำข้อมูลของ TDRI เรื่องการวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ มาคำนวณและพบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลักๆ บางโรคคือโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคความดันโลหิตสูงของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยสิทธิราชการมากกว่า 70% เมื่อผู้เขียนได้แสดงข้อมูลว่าวิธีการควบคุมการรักษาโรคของ สปสช. แตกต่างจากหลักการแพทย์สากลและแพทย์ลงความเห็นว่าส่งผลต่อการตาย
TDRI โดย “ดร.วรวรรณ” กลับแจงว่างานวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ ศึกษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังในแต่ละสิทธิสุขภาพ พบสิทธิข้าราชการมีอายุยืนยาวกว่า แถมมีค่าใช้จ่ายมากกว่าสิทธิอื่น แต่ไม่อาจเอามาวิเคราะห์ได้ว่าเป็นเพราะสิทธิบัตรทองได้รับการรักษาไม่มีคุณภาพ เพราะยังต้องศึกษาตัวแปรอื่นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาชีพ หรือรายได้ที่สูงกว่า ชี้หากทำแบบนั้นเท่ากับบีบบังคับข้อมูลที่มีเล็กน้อยให้ตอบคำถามมากไป ยันสิ่งที่ได้จากการวิจัยนี้เพื่อการพัฒนาว่าจะทำอย่างไรให้ความเหลื่อมล้ำลดลง” คำชี้แจงนี้เป็นคำชี้แจงที่น่าเป็นห่วงเพราะจะทำให้รัฐบาลไม่แน่ใจที่จะแก้ไขวิธีการควบคุมการรักษาโรคของ สปสช. และจะทำให้ชีวิตของประชาชนคนไทยไม่ได้รับการปกป้อง
อันที่จริงในทางการแพทย์ อัตราการเสียชีวิต (Mortality rate) เป็นผลลัพธ์ด้านสุขภาพ (health outcome) ที่สำคัญยิ่ง ถ้าถามชาวบ้านประชาชนทั่วๆ ไป ว่าระหว่างความเหลื่อมล้ำกับการเสียชีวิตนั้นอะไรสำคัญกว่ากันและมีความเร่งด่วนมากกว่ากันที่จะต้องแก้ไข ก็คงเป็นเรื่องอัตราการเสียชีวิต ในการศึกษาของ TDRI ถึงแม้จะไม่ได้มีการควบคุมตัวแปรอื่นๆ แต่อัตราการเสียชีวิตที่แตกต่างกันมากขนาดนี้คือ 70% ในหลายโรคหลัก และมีกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่เกือบหนึ่งล้านแปดแสนคน มีความหมายอย่างยิ่ง ผลลัพธ์ทางสุขภาพที่แตกต่างกันขนาดนี้ ย่อมเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าประชาชนกำลังมีปัญหา เสี่ยงต่ออัตราการตายสูงมาก การที่ TDRI เน้นว่าต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดโดยการควบคุมปัจจัยอื่นๆ นั้นควรทำ แต่ ไม่ใช่ข้ออ้างว่าจะต้องทำก่อนออกมาตราการแก้ไข การวิเคราะห์อย่างละเอียดโดยการควบคุมปัจจัยอื่นๆ นั้นเป็นการทำเพื่อพิสูจน์หาสาเหตุและกลไกของการตายที่อาจจะคาดไม่ถึงว่ามีอะไรอีกบ้าง ในเรื่องความเป็นตายการรอทำวิจัยในลักษณะนี้จะทำให้มาตรการที่ต้องแก้ไขอยู่แล้วถูกถ่วงเวลาออกไป ดังนั้น TDRI ควรจะบอกให้ประชาชนรู้ว่าถ้าจะรอให้ มีการศึกษา ควบคุมตัวแปรตามวิธีของ TDRI คนไทยจะต้องเสียชีวิตไปในระหว่างรอ TDRI ทำงานวิจัยเสร็จไปอีกเท่าใด อันที่จริงแนวทางนี้ส่งผลเสียต่อ สปสช. ในระยะยาวเพราะสำหรับการตายของผู้ถือบัตรทองความรับผิดชอบก็คงไม่พ้นไปจากสปสช. อยู่ดี ไม่ใช่ความผิดของ TDRI เลยแม้แต่น้อย
เราทั้งสองจึงไม่อาจจะเข้าใจได้เลยว่า เหตุใด TDRI จึงต้องยึดติดกับวัตถุประสงค์งานวิจัยของ สปสช ว่าด้วยเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทั้งๆที่อัตราการตายที่สูงบ่งบอกชัดเจนว่า มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องปกป้องประชาชน TDRI น่าจะตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องอัตราการตาย เพราะ TDRI ก็ได้ไปเสนอผลงานในที่ประชุมกรรมาธิการสาธารณสุข ของ สนช ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากมาย TDRI น่าจะทราบดีว่ากรรมาธิการสาธารณสุข ของ สนช และผู้ทรงคุณวุฒิต่างพากันเห็นความสำคัญของปัญหาอัตราการตายของผู้ใช้บัตรทองและต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดีขึ้น ดังที่นายแพทย์ เจตน์ ศิรธราดลได้ออกมาเขียนใน Facebook ส่วนตัวของท่าน
เรายังสงสัยอีกมากมายว่า
1.TDRI ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของชาติจะให้คำแนะนำแก่ประชาชนคนไทยที่ป่วยด้วยโรค ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด มะเร็ง อุบัติเหตุหลอดเลือดในสมองที่มีอัตราการตายสูงกว่า 70% เบาหวาม 30% และโรคทั่วไป 20%อย่างไร และ TDRI จะให้คำแนะนำแก่พ่อแม่คนไทยที่ลูกมีอัตราการตายสูงจนน่าตกใจอย่างไร และ TDRI จะให้คำแนะนำแก่ประชาชนคนไทยทั้งหมดที่ถือบัตรทองอย่างไร
2.ทำไม TDRI ถึงเน้นจะนำเสนอเฉพาะข้อสรุปที่ สปสช.เชื่อว่าจะส่งเสริมให้เกิดการรวมกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ซึ่งมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแล้วเสียชีวิตมากกว่ากองทุนอื่นๆ (คือสิทธิราชการ) เข้ากับสิทธิประกันสังคมและ สิทธิราชการ ตามคำแนะนำของ TDRI เราจะให้คนที่บริหารกองทุนแล้วมีผลลัพธ์คืออัตราการเสียชีวิตสูงกว่าสิทธิอื่นๆ จะทำให้เมื่อรวมกันแล้วเสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ เรากำลังจะทำสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้เลวลงหรือไม่? TDRI กำลังสนับสนุนให้คนไทยเสียชีวิตมากขึ้นจากการรวมกองทุนหรือไม่ แล้วทำไม TDRI จึงเลือกสนับสนุนแนวความคิดเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ มากกว่าการแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตของประชาชน
3.ทำไม TDRI ทราบถึงอัตราการตายที่สูงตั้งแต่แรก โดย TDRI ให้ข่าวว่า “หลังจากเข้ารับการรักษา 10 วัน พบว่า 82% ผู้ป่วยระบบข้าราชการ ยังคงมีชีวิตอยู่ และ 68% ผู้ป่วยระบบสวัสดิการถ้วนหน้ายังคงมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าหลัง 40 วัน พบว่า 57% ผู้ป่วยระบบข้าราชการ ยังคงมีชีวิตอยู่ และ 29% ผู้ป่วยระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ยังคงมีชีวิตอยู่” (ที่มา : www.hfocus.org/content/2015/06/10108) แต่เมื่อมีการเตือนว่าอัตราการตายสูงน่าจะเกิดจากปัญหาการบริหารงานของ สปสช. TDRI จึงพยายามบอกเพียงแต่ว่าอัตราการตายที่สูงไม่ใช่ข้อสรุปของการศึกษา ราวกับว่า TDRI ทำการศึกษานี้และได้สรุปเฉพาะเรื่องการเหลื่อมล้ำเพราะ สปสช. ต้องการให้ศึกษาความเหลื่อมล้ำเท่านั้น
4.สุดท้ายตกลงถ้าทำตามที่ TDRI แนะนำลดความเหลื่อมล้ำได้ (ซึ่งก็เห็นทุกรัฐบาลทำมากว่า 30-40 ปี แล้ว) ก็ยังไม่เคยทำได้สำเร็จเสียที แล้วจะทำให้คนไทยผู้ใช้สิทธิบัตรทอง มีอัตราการเสียชีวิตลดลงได้หรือไม่ ทั้งๆที่แพทย์ผู้รักษาให้ความเห็นว่าการควบคุมการรักษาของสปสช. มีปัญหา?
ทั้งหมดนี้ก็เป็นคำถามที่คนไทยทุกคนมีสิทธิที่จะคิดและถามได้เช่นกัน หรือคำตอบจะอยู่ที่สองวรรคแรกของบทความนี้?