“อัมมาร” ชี้บริจาคเงินเข้าบัตรทองไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ไม่ควรเป็นนโยบายรัฐบาล ควรทำกรณีฉุกเฉิน ระบุอย่าเพิ่งพูดเรื่องร่วมจ่าย ให้ใช้สติ ทางออกมีเยอะ ด้านคกก. ระดมทุนเข้าบัตรทองเตรียมหารือปลาย ก.ค. รักษาการเลขาฯ สปสช. ชี้ทำระบบยั่งยืนต้องเพิ่มเงินระบบให้เพียงพอ เป็นหน้าที่ รบ. และบริหารกองทุนมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (8 ก.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการบริจาคเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพ เพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันฯ แต่แวดวงสาธารณสุขมีการออกมาคัดค้านแนวคิดดังกล่าว ว่า การให้ประชาชนทุกคนช่วยกันบริจาคเป็นเพียงแนวทางหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นแหล่งเงินหลักเข้ากองทุนฯ โดยขณะนี้คณะกรรมการจัดทำแนวทางระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษา รมว.สธ. เป็นประธาน และมี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา กำลังหารือเรื่องนี้อยู่ ซึ่งเรื่องนี้มีแนวทางมากมาย รวมทั้งร่วมจ่ายก็ต้องพิจารณาอยู่ในนี้ด้วย
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การร่วมบริจาคเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยจะเน้นไปในเรื่องโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ที่ไม่ต้องรอคิวรักษาในโรงพยาบาลภาครัฐ แต่ให้ไปรักษาในช่องทางพิเศษที่ รพ.เอกชน แทน สำหรับการทำให้ระบบบัตรทองยั่งยืน ขณะนี้มีคณะกรรมการจัดทำแนวทางระดมทรัพยากรฯ กำลังพิจารณาร่วมกับนักวิชาการหลายภาคส่วน ซึ่งการทำให้กองทุนยั่งยืนได้ มี 2 แนวทาง คือ 1. สร้างความยั่งยืนทางการเงิน มาจากงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลต้องจัดสรร เพราะเรื่องสุขภาพถือเป็นการลงทุนเพื่อประชาชน หากประชาชนสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ไม่เสียค่ารักษา ลดภาระทางการเงินได้ และอีกแนวทางที่พูดกันมากคือ การร่วมจ่าย และ 2. การบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
“ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิไดรับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กําหนด และยังระบุว่า คณะกรรมการอาจกําหนดใหบุคคลที่เขารับการบริการสาธารณสุขตองรวมจายคาบริการในอัตราที่กําหนด เวนผูยากไรหรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรี สธ. ประกาศยกเว้น ซึ่งจากกฎหมายดังกล่าวมีข้อถกเถียง ว่า หากต้องให้ประชาชนทุกคนร่วมจ่าย ควรเป็นการจ่ายก่อนเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล คล้าย ๆ การเก็บค่าประกันสุขภาพ ซึ่งรูปแบบในการเก็บอยู่ระหว่างการพิจารณา แนวทางหนึ่ง คือ การร่วมจ่ายในลักษณะภาษี อาจเป็นการเก็บภาษีสุขภาพเฉพาะ แต่กรณีนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องตั้งสำนักงานในการบริหารจัดการ จึงมีแนวทางอื่น ๆ เช่น เก็บภาษีหัวจ่ายน้ำมัน โดยใครที่ไปเติมน้ำมันอาจต้องเสียภาษีจุดนี้เพิ่ม หรือภาษีธุรกรรมทางการเงิน และยังมีผู้เสนอว่าจะเก็บเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม พวกสินค้าทั่วไป ฯลฯ” นพ.ประทีป กล่าว
นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯเตรียมจะประชุมอย่างเป็นทางการในช่วงปลาย ก.ค. นี้ โดยจะพิจารณาเน้นเรื่องหลักประกันสุขภาพให้ยั่งยืน ไม่ได้เน้นเรื่องอะไรเป็นการเฉพาะ
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ซึ่งถูกย้ายไปสำนักงานปลัด สธ. กล่าวว่า สิ่งสำคัญต้องคิดว่าระบบหลักประกันฯจะเป็นระบบสิทธิหรือเป็นแบบสงเคราะห์ ตรงนี้อยากบอกว่า การทำให้ระบบยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องมาจากงบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก ส่วนงบเสริมต่าง ๆ ก็ต้องมาพูดคุย ซึ่งในต่างประเทศจะมีการเก็บประกันสุขภาพเพิ่มสำหรับกรณีดูแลผู้ป่วยสูงอายุ แต่ในประเทศไทยการจะเก็บประกันสุขภาพ ไม่ว่ารูปแบบใดคงต้องหารือกันทุกฝ่าย
ศ.อัมมาร กล่าวว่า การบริจาคเงินไม่ใช่เสียหาย แต่ไม่ควรเป็นนโยบายของรัฐบาล การขอรับบริจาคควรทำเฉพาะกรณีฉุกเฉินที่ไม่ได้มีการเตรียมการอะไรล่วงหน้ามาก่อน แต่กรณีกองทุนบัตรทองนั้นเป็นเรื่องของงบประมาณที่ไม่เพียงพอ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องจัดหาเงินมาเติมเข้าไปในระบบ และต้องเป็นงบประมาณที่มากกว่าที่เคยได้รับปีละ 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ อาจจะมาในรูปแบบของการจัดเก็บภาษีสุขภาพ เพราะนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ให้ทุกคนได้รับประโยชน์ ส่วนการร่วมจ่าย ณ จุดบริการที่มีข้อเสนอให้เพิ่มจาก 30 บาท เป็น 100 บาท นั้นก็สามารถทำได้ แต่ไม่มีประโยชน์ เพราะได้เงินไม่มาก และส่วนตัว ไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้เพราะเท่ากับเป็นการตบหน้าผู้ป่วยที่กำลังต้องการรักษาชีวิต
“อย่าเพิ่งไปพูดเรื่องการร่วมจ่าย เวลานี้ใช้สติกันหน่อย ทุกคนมีคำตอบ มีทางออกกันเยอะ รัฐบาลเองก็ดูเหมือนมีธงในใจกึ่ง ๆ ให้ร่วมจ่าย แต่ตอนนี้เราต้องมาดูที่ขนาดของปัญหาก่อน การขาดแคลนอยู่ตรงไหน แนวทางอยู่ที่ไหน การจัดสรรเงินเพียงพอหรือไม่ เรื่องนี้ต้องคุยกันในระยะยาว” นายอัมมาร กล่าว และว่า คณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นมานั้นได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการแล้วเรื่องการทำตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดความมั่นคงในระบบหลักประกันสุขภาพ แล้วและจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ก.ค. นี้ สบายใจได้ เรื่องนี้ นพ.สุวิทย์” ศ.อัมมาร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีข้อกังขาถึงความเหมาะสมในการเข้ามาเป็นคณะกรรมการฯ ศ.อัมมาร กล่าวว่า ในระบบสุขภาพมีคนเพียง 2 กลุ่ม คือ ตระกูล ส. และกลุ่มแอนตี้ตระกูล ส. แต่ที่ผ่านมา ตระกูล ส. เป็นตระกูลวิชาการมาตลอด ที่สำคัญ กรรมการที่ตั้งขึ้นมานี้ไม่ได้มีอำนาจอะไร อย่างดีก็แค่ทำการศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อให้ระบบการเงินของระบบสุขภาพมีความยั่งยืนตามที่รัฐบาลมอบหมายเท่านั้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่