รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ เผยพิจารณาคำขอแก้ไขร่างแล้วเสร็จ 2 ภาค พอใจพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้น เผยสมัชชาพลเมืองไม่มีค่าตอบแทน หวังเปิดพื้นที่เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้แข็งแรง รองรับกระจายอำนาจ ชูสิทธิคนไทยไร้สัญชาติก้าวหน้ากว่าชาติพัฒนาแล้ว มีกลไกอิสระปกป้องผลประโยชน์ชุมชน ผุดองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ชาวบ้านมีสิทธิตรวจสอบอำนาจรัฐ-นักการเมือง ส่งเสริม ศก.เสรีเป็นธรรม สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ติดตามทวงสาธารณสมบัติคืน หนุนศิลปวัฒนธรรมเอกลักษณ์ชาติ
วันนี้ (4 ก.ค.) นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงกระบวนการพิจารณาคำข้อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจาก 9 กลุ่ม และความเห็นจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะจากประชาชนว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาถึงมาตรา 96 แล้วเป็นไปตามแผนที่วางไว้ พิจารณาเสร็จไปแล้ว 2 ภาค สัปดาห์หน้าเริ่มพิจารณาภาค 3 รัฐสภา ส่วนตัวในภาพรวมแล้ว รู้สึกพอใจต่อพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นในแต่ละหมวด ส่วนหรือรายมาตรา โดยสามารถสรุปให้เห็นภาพรวมคือ
1. สมัชชาพลเมืองได้บัญญัติไว้หนึ่งมาตราเป็นการเฉพาะ เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ไม่ใช่องค์กรใหม่ดังที่เข้าใจกัน ไม่มีเงินเดือน ค่าตอบแทนใดๆ หากแต่เป็นการเปิดพื้นที่ครั้งใหญ่ของชาติบ้านเมือง เป็นพื้นที่สร้างความเป็นพลเมือง วัฒนธรรมประชาธิปไตย ความเข้มแข็งของชุมชน สังคมและประเทศชาติ นี่คือประชาธิปไตยของการมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยท้องถิ่น ประชาธิปไตยจากจากฐานล่าง จะรองรับการกระจายอำนาจจากส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องและเหมาะสม ในอนาคตอันใกล้นี้
2. สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของชนชาวไทย และบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นอาศัยในประเทศไทย ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา และก้าวหน้ากว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว 3. สิทธิชุมชน มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้น มีการประเมินระดับยุทธศาสตร์ ควบคู่กับการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพ มีกลไกและเครื่องมือทางวิชาการ ที่อิสระเป็นกลางมาทำหน้าที่ปกป้องผลกระทบต่อชุมชน ทั้งในด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ 4. องค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมีสิทธิในการฟ้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ class action ได้ จะป้องกันความเสียหายครั้งใหญ่จากสินค้าที่ด้อยคุณภาพและบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
5. ชนชาวไทยมีสิทธิรวมตัวกันในการเฝ้าระวังและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในทุกขั้นตอน ทุกพื้นที่ของประเทศอย่างเป็นระบบ 6. ชนชาวไทยมีสิทธิร้องขอข้อมูล ติดตามและตรวจสอบ ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 7. แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม สร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เน้นการป้องกันการผูกขาดและการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยไม่เป็นธรรม ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ส่งเสริมระบบสหกรณ์ จัดระบบการถือครองที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ตลอดจนยกระดับความสามารถในการแข่งขันในทุกภาคเศรษฐกิจ พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบลอจิสติกส์อย่างบูรณาการ สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกประเภท (พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล น้ำ) ให้เต็มศักยภาพ เนื่องจากสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งพลังงานในอนาคต และช่วยลดปัญหาด้านมลพิษ ที่เกิดจากการใช้พลังงานในปัจจุบัน
8. ให้ความสำคัญกับโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐที่จำเป็นหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ ไม่ให้เอกชนมีอำนาจครอบงำหรือตกเป็นกรรมสิทธ์ของเอกชน อีกทั้งมีสิทธิติดตามสาธารณะสมบัติของแผ่นดินคืนจากผู้ครอบครองโดยมิชอบ เพราะในอดีตที่ผ่านมาแม้มีคำสั่งของศาลให้คืนสมบัติของแผ่นดิน แต่การติดตามคืนเป็นไปด้วยความยากลำบาก 9. ส่งเสริมวัฒนธรมและศิลปะในทุกมิติทุกพื้นที่เพื่อให้เป็นรากฐานเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น พัฒนาคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนส่งเสริมการกีฬาเพื่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตและเพื่อความเป็นเลิศในทุกระดับ นับเป็นครั้งแรกที่ให้ความสำคัญบัญญัติเรื่องวัฒนธรรมและศิลปะ ตลอดจนการกีฬาเป็นการเฉพาะไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จึงอาจกล่าวได้ว่าในภาพรวมมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาอย่างน่าพอใจ