xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงรธน.ทำไทยเสียเปรียบเวทีโลก "วิษณุ"รับ7ข้อเสนอศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณา ให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว วันที่สอง ได้เข้าสู่การอภิปรายใน ภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดี และระบบผู้แทนที่ดี โดยเป็นการอภิปรายของตัวแทนประธานคณะกมธ.ของ สปช.

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองประธานคณะกมธ.ปฏิรูปพลังงาน สปช. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับหลักการในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 193 ในเรื่องประเภทของหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แม้หลักการเดิมของมาตรานี้ จะมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา190 ก็ตาม เนื่องจากมีการกำหนดประเภทของหนังสือสัญญาที่กว้างเกินไป ซึ่งจะทำให้มีปัญหาต่อไปในอนาคต และเป็นอุปสรรคต่อการทำให้ประเทศไทยแลไปข้างหน้าด้วยความมีเกียรติภูมิ และเข้มแข็ง
"มาตรา 193 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ จากเดิมในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จะกำหนดเพียงให้ฝ่ายบริหารต้องนำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเข้าสภา เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเขตแดนหรือข้อตกลงที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติมารองรับ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตลอด แต่ มาตรา 193 กำหนดให้หนังสือสัญญาต่างประเทศแทบทุกประเภท เข้าสภา ส่งผลให้หนังสือสัญญาที่จำเป็นและไม่จำเป็น เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาจำนวนมาก ก่อให้เกิดความล่าช้าในการเจรจาทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ของประเทศไทย กระทบต่อความสามารถในการแสดงบทนำ หรือสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทลดลงในเวทีอาเซียน และประชาคมโลก จากการที่ไม่สามารถตกลงให้ความร่วมมือกับต่างประเทศได้ทันเวลา และทันเหตุการณ์" นายคุรุจิต กล่าว
ขณะเดียวกัน ยิ่งเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการเจรจาด้านเขตแดน ก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ความลับเกี่ยวกับความมั่นคง หรือยุทธศาสตร์การเจรจาของไทย จะต้องเปิดเผย และคู่เจรจาสามารถล่วงรู้ท่าทีของไทยได้ ทำให้การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จหรือหาข้อยุติได้ เช่น ในกรณีของความตกลงพหุภาคีในหลายประเทศที่ต้องลงนามกัน แต่ไทยไม่สามารถลงนามได้ทัน ทำให้ต้องไปขอลงนามทีหลังในแบบที่เรียกว่า ภาคยานุวัติ ส่งผลให้ไม่มีโอกาสไปต่อรองตั้งแต่ต้น เป็นต้น
ดังนั้น มาตรา 193 ควรได้รับการแก้ไขในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลในอนาคต
ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธาน กมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส สปช. อภิปรายว่า ควรปรับปรุงหรือตัดถ้อยคำบทบัญญัติ มาตรา 207 ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการด้วยคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการ โดยระบบคุณธรรม เนื่องจากไม่ยึดโยงกับประชาชน โดยรัฐบาลในสถานะตัวแทนของประชาชน ส่วนข้าราชการ เป็นกลไกและเครื่องมือในการบริหารประเทศ ดังนั้นหากการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง มาจากคณะกรรมการดังกล่าวเพียงอย่างเดียว จะเกิดปัญหาการบังคับบัญชาข้าราชการของรัฐบาล เพราะคนที่ถูกแต่งตั้งไม่ได้มาจากผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง และหากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลในฐานะผู้ออกนโยบาย ต้องมีส่วนแต่งตั้ง ย้าย ปลดข้าราชการระดับสูง นอกจากนั้นตนมองว่า แทนที่จะลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน แต่กลับเป็นการลดอำนาจรัฐบาล เพิ่มอำนาจราชการ ซึ่งกังวลว่า จะกลายเป็นพรรคราชการ

**จ้องขจัดทุนสามานย์จนร่างรธน.สุดโต่ง

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช. กล่าวว่า จากผลสำรวจขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการคอร์รัปชันต่ำ แต่มีการกระจายอำนาจสูง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ไม่ได้แก้ไขปัญหาของประเทศ แต่กลับสร้างพรรคการเมืองที่ทุจริต คอร์รัปชันเชิงนโยบายขนาดใหญ่ ชักนำกลุ่มทุนเข้ามาครอบงำการเมือง เรียกว่า "ทุนสามานย์" จนนำไปสู่การรัฐประหาร คณะกมธ.ยกร่างฯ จึงได้ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมทางการเมือง โดยโครงสร้าง และกลไก คือ การจำกัดอำนาจของนักการเมือง โดยนำระบบราชการมาถ่วงดุลนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเกิดคำถามตามมาว่า ข้าราชการจะถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุน หรือไม่ ดังนั้นตัวบ่งชี้การเมืองที่ดีจะต้องมีการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อย ไม่ใช่การนำระบบข้าราชการมาปรับใช้ เพราะจะกลายเป็นอำมาตยาธิปไตย ที่ประชาชนเบื่อหน่าย
"มาตรา 207 การตั้งกรรมการคัดสรรข้าราชการระดับสูงนั้น สุดโต่งเกินไป ควรติดฝ่ายการเมือง อาจบัญญัติให้ รัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆเข้ามามีส่วนร่วม ถ้ายึดระบบคุณธรรม ไม่ใช่อาศัยเพียงอดีตข้าราชการระดับสูง มาคัดสรร แต่ควรฟังเสียงประชาคมในแต่ละกระทรวงด้วย"
นอกจากนี้ ใน มาตรา 172 ระบุให้บุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องอาศัยเสียงสภาฯเกินกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเป็นบุคคลภายนอก จะต้องอาศัยเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 แต่ไม่ได้ระบุว่า บุคคลที่มาจากการเลือกตั้ง ควรได้รับการโหวตเลือกก่อน ทั้งนี้ ในมาตรา 173 ระบุว่า ถ้าเสียงไม่ถึงที่กำหนด ให้ประธานสภาฯ นำชื่อบุคคลที่ได้เสียงมากที่สุด ทูลเกล้าฯ ซึ่งประเด็นนี้อาจไม่แก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น เพราะอดีตบุคคลที่ได้รับการโหวตจาก ส.ส. ในสภาฯเป็นบุคคลที่ประชาชน ไม่ยอมรับ
สำหรับวิธีการเลือกตั้ง ที่คณะกมธ.ยกร่างฯ ออกแบบมาหลากหลาย เพื่อป้องกันการซื้อเสียง โดยเฉพาะที่มาของ ส.ว. เช่น กำหนดโควต้าจากการเลือกกันเอง ของสภาวิชาชีพ ที่มีจำนวนไม่เกิน 30 องค์กร ซึ่งอาจมีการซื้อเสียงได้ แม้แต่ การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังมีการซื้อเสียงเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ปฏิเสธหาก ส.ว. จะมาจากการสรรหาทั้งหมด แต่จะต้องมีอำนาจน้อย เพราะจะเกิดคำถามตามมาว่า ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับสามารถออกกฎหมาย อีกทั้งยังสามารถถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับตัดขาดตัวแทนของประชาชนในสภาฯ และฝ่ายบริหาร
นอกจากนี้ น.ส.รสนา ยังเสนอให้ คณะกมธ.ยกร่างฯ ไปรวบรวมประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไว้ในส่วนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งตนเสนอว่า ควรแยกเรื่องปิโตรเลียม ไว้ในส่วนของสิทธิของประชาชน เพราะมีมูลค่าปีละกว่า 5 แสนล้านบาท จึงควรได้รับการบริหารจัดการอย่างดี โดยรัฐ

** "วิษณุ" พร้อมรับ7ข้อเสนอศาลฯ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีข้อเสนอของศาลยุติธรรม ที่มีความเห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญ 7ข้อ ว่า ตนทราบว่าศาลยุติธรรม เตรียมส่งข้อเสนอดังกล่าวมาให้รัฐบาล เนื่องจากเขาไม่มีสิทธิจะขอแก้ ซึ่งเมื่อส่งมาแล้วรัฐบาลก็จะกลั่นกรองอีกครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลไปสู่ขั้นแปรญัตติ ไม่ใช่ว่าจะเอาตามที่เขาเสนอมาทั้งหมด ซึ่งรวมถึงองค์กรต่างๆ ทั้งคณะกรรมการสิทธิ์มนุษยชน และผู้ตรวจการแผ่นดิน
ทั้งนี้ ในส่วนข้อเสนอ7ข้อ ของศาลยุติธรรมนั้น ตามที่ตนได้อ่านจากหนังสือพิมพ์ บางข้ออาจไม่มีอะไร เป็นการเสนอขึ้นมา แต่บางข้อก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับเขาจริงๆ แต่ยังมีบางเรื่อง ก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แต่ตนก็แปลกใจว่า ทำไมไม่อยู่ใน 7 ข้อเสนอ เช่น การให้เปลี่ยนประธานศาลฎีกาในทุกๆ กี่ปี่ ทำไมเขาไม่ท้วง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของสมบัติผลัดกันชม
กำลังโหลดความคิดเห็น