xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ติง รธน.กำหนดประเภทหนังสือสัญญากว้างไป ค้าน คกก.ตั้ง ขรก.ส่อมีปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กมธ. พลังงาน ค้าน ม.193 กำหนดประเภทหนังสือสัญญากว้างไป ส่อก่อปัญหา เข้าสภาพิจารณาจำนวนมาก ทำล่าช้า กระทบบทบาทชาติ แถมเสี่ยงเผยความลับด้านเขตแดน จี้ ควรแก้ไข ด้าน กมธ. สังคม แนะ แก้ปรับการตั้ง ขรก. โดย คกก. หวั่นมีปัญหาบังคับบัญชา ลดอำนาจรัฐ

วันนี้ (21 เม.ย.) การประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเสร็จแล้วในวันที่สอง ได้เข้าสู่การอภิปรายในภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่และระบบผู้แทนที่ดี โดยเป็นการอภิปรายของตัวแทนประธานคณะ กมธ. ของ สปช.

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองประธานคณะ กมธ. ปฏิรูปพลังงาน สปช. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับหลักการในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 193 ในเรื่องประเภทของหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแม้หลักการเดิมของมาตรานี้จะมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 190 ก็ตาม เนื่องจากมีการกำหนดประเภทของหนังสือสัญญาที่กว้างเกินไป ซึ่งจะทำให้มีปัญหาต่อไปในอนาคต และเป็นอุปสรรคต่อการทำให้ประเทศไทยไปข้างหน้าด้วยความมีเกียรติภูมิและเข้มแข็ง

“มาตรา 193 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ จากเดิมในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจะกำหนดเพียงให้ฝ่ายบริหารต้องนำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเข้าสภาเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเขตแดน หรือข้อตกลงที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติมารองรับ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตลอด แต่มาตรา 193 กำหนดให้หนังสือสัญญาต่างประเทศแทบทุกประเภทเข้าสภา ส่งผลให้หนังสือสัญญาที่จำเป็น และไม่จำเป็นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาจำนวนมาก ก่อให้เกิดความล่าช้าในการเจรจาทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ของประเทศไทย กระทบต่อความสามารถในการแสดงบทนำหรือสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทลดลงในเวทีอาเซียน และประชาคมโลก จากการที่ไม่สามารถตกลงให้ความร่วมมือกับต่างประเทศได้ทันเวลาและทันเหตุการณ์” นายคุรุจิต กล่าว

นายคุรุจิต กล่าวอีกกว่า ขณะเดียวกัน ยิ่งเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการเจรจาด้านเขตแดงก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ความลับเกี่ยวกับความมั่นคง หรือยุทธศาสตร์การเจรจาของไทยจะต้องเปิดเผยและคู่เจรจาสามารถล่วงรู้ท่าทีของไทยได้ ทำให้การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ หรือหาข้อยุติได้ เช่น ในกรณีของความตกลงพหุภาคีในหลายประเทศที่ต้องลงนามกัน แต่ไทยไม่สามารถลงนามได้ทัน ทำให้ต้องไปขอลงนามทีหลังในแบบที่เรียกว่า ภาคยานุวัติ ส่งผลให้ไม่มีโอกาสไปต่อรองตั้งแต่ต้น เป็นต้น ดังนั้น มาตรา 193 ควรได้รับการแก้ไขในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้กระทบต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลในอนาคต

ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธาน กมธ. ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สปช. อภิปรายว่า ควรปรับปรุงหรือตัดถ้อยคำบทบัญญัติมาตรา 207 ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการด้วยคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม เนื่องจากไม่ยึดโยงกับประชาชน โดยรัฐบาล ในสถานะตัวแทนของประชาชน ส่วนข้าราชการเป็นกลไกและเครื่องมือในการบริหารประเทศ ดังนั้นหากการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงมาจากคณะกรรมการดังกล่าวเพียงอย่างเดียวจะเกิดปัญหาการบังคับบัญชาข้าราชการของรัฐบาล เพราะคนที่ถูกแต่งตั้งไม่ได้มาจากผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง และหากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลในฐานะผู้ออกนโยบาย ต้องมีส่วนแต่งตั้ง ย้าย ปลดข้าราชการระดับสูง นอกจากนั้นตนมองว่าแทนที่จะลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชนแต่กลับเป็นการลดอำนาจรัฐบาล เพิ่มอำนาจราชการ ซึ่งกังวลว่าจะกลายเป็นพรรคราชการ







กำลังโหลดความคิดเห็น