เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - หน่วยมือปราบในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเปิดเผยรายละเอียดเป็นครั้งแรกถึงวิธีการตามล่าตัวเจ้าหน้าที่ต้องสงสัยทุจริตคอร์รัปชั่น ที่หนีไปกบดานในต่างประเทศ โชว์ฝีมือนำตัวกลับแดนมังกรได้หลายร้อยคน พร้อมกับทรัพย์สิน โดยแม้หนีไปหลบซ่อนในประเทศ ที่ไม่มีการทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน ก็ไม่รอดเงื้อมมือไปได้
ในบทความ ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัยของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อวันอังคาร ( 17 มี.ค.)ระบุว่า กระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร ได้เริ่ม “ปฏิบัติการตามล่าสุนัขจิ้งจอก” ( Operation Fox Hunt) เมื่อปีที่แล้ว เพื่อพลิกแผ่นดินล่าเจ้าหน้าที่ต้องสงสัยทุจริต และสามารถนำตัวกลับมาได้กว่า 500 คน พร้อมทรัพย์สินในต่างแดนกว่า 3,000 ล้านหยวน หรือราว 15,000 ล้านบาท
ปฏิบัติการข้ามชาติครั้งนี้นำโดยสำนักงาน ซึ่งรับผิดชอบนำผู้หลบหนีและทรัพย์สินกลับประเทศ (Fugitive Repatriation and Asset Recovery Office) โดยประสานงานกับคณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัย ฝ่ายตุลาการ อัยการ กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานความมั่นคง และธนาคารกลางจีน
อย่างไรก็ตาม ในบทความระบุว่า การตามล่าผู้ต้องสงสัย ที่หนีไปอยู่ในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และแคนาดา เป็นโจทย์ยากที่สุดข้อหนึ่ง เพราะชาติเหล่านี้ไม่ทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน แต่หน่วยล่าจิ้งจอกก็ไม่จนมุม และคิดหาวิธีการ โดยบางกรณีได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปเกลี้ยกล่อมให้ยอมกลับมา และบางกรณีจะส่งหลักฐานการกระทำผิดกฎหมายให้ชาติเหล่านั้น เพื่อส่งตัวกลับมาในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือส่งต่อไปยังชาติที่ 3 นอกจากนั้น บางกรณียังได้ส่งหลักฐาน เพื่อให้ชาติเหล่านั้นเป็นผู้ฟ้องดำเนินคดีเอง
ด้านหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์รายงานว่า นายหวัง ฉีซาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการประจำกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์ และหัวหน้าคณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัย เตรียมเดินทางไปสหรัฐฯ โดยอาจเป็นไปได้ว่า เพื่อขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในการติดตามตัวเจ้าหน้าที่ต้องสงสัยคดีทุจริต
ทั้งนี้ นอกจากเป็นหัวหน้ามือปราบการทุจริตแล้ว นายหวังยังเคยมีบทบาทสำคัญเป็นหัวหน้าการเจรจาด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้งอีกด้วย
รายงานข่าวชิ้นนี้มีขึ้นในเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ มีการจับกุมนางเจ้า ซือหลิน ซึ่งเคยเป็นภรรยาของอดีตเจ้าหน้าที่จีนผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการหลบหนีในรัฐวอชิงตัน โดยอัยการสหรัฐฯ ระบุในสำนวนฟ้องว่า นางเจ้า กับนายเฉียน เจี้ยวจวินแอบอ้างว่า ได้สมรสกัน และแจ้งเท็จเกี่ยวกับแหล่งเงิน เพื่อให้ได้รับวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ผ่านโครงการนักลงทุนเพื่อการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ ทั้งสองถูกฟ้องดำเนินคดีในข้อหาสมรู้ร่วมคิดเข้าเมืองผิดกฎหมาย และข้อหาฟอกเงิน โดยห้ามการประกันตัว