ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงเศรษฐกิจจะออกอาการร่อแร่อย่างที่เห็น แต่อย่าไปคิดฝันว่าจะมีการเปลี่ยนม้าศึกกลางสายน้ำเชี่ยว ปรับครม.เชิญนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน หรือนายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผอ.องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) มารับตำแหน่งในทีมเศรษฐกิจอย่างที่ร่ำลือกัน เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดับกระแสข่าวลือสั้นๆ แต่ชัดเจนแล้วว่า “เลอะเทอะ”
ถ้าอย่างนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะหาทางฝ่าวิกฤตเช่นใด?
เท่าที่เห็นตอนนี้จะมีก็แต่การท่องเที่ยวที่ยังดีอยู่
และอีกหนึ่งคือ การอัดฉีดงบประมาณปี 2559 แบบเร่งด่วนโดยอนุมัติทันทีสำหรับโครงการที่มีวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ดีเดย์วันที่ 17 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป
มาตรการเช่นนี้ เหมือนจะบอกว่าการตรวจตราการใช้จ่ายงบประมาณอย่างละเอียดรอบคอบป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันอย่างที่เคยประกาศไว้ คงต้องเว้นวรรคไปก่อน ให้เร่งอัดฉีดเงินลงไป เอาเศรษฐกิจให้รอดก่อนประมาณนั้น เพราะขืนชักช้ามีหวังจบเห่
อย่าว่าแต่ไทย ประเทศใหญ่น้อยทั่วโลกต่างดิ้นรนเอาตัวรอดกันทั้งสิ้น
ล่าสุด ชาติมหาอำนาจตะวันออกอย่างจีนก็เพิ่งประกาศลดค่าเงินหยวนลงเกือบ 1.9% เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม และในวันถัดมา ธนาคารประชาชนจีน (พีบีโอซี) ออกแถลงผ่านเว็บไซต์ว่า ได้ปรับลด “ค่ากลาง" ของเงินหยวนลง 1.62% มาอยู่ที่ 6.3306 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ จากวันก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 6.2298 หยวนต่อดอลลาร์ ทำให้อัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐลดลง 3.5% นับว่าเป็นการอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบมากกว่า 2 ทศวรรษ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้การส่งออกของจีนดีขึ้น
การลดค่าเงินหยวนของจีนนอกจากจะเขย่าตลาดหุ้นทั่วโลกแล้ว ยังสร้างความกังวลว่าอาจเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับจีน และแน่นอนหนึ่งในนั้นมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่จีนลดค่าเงินหยวนจะสร้างปัญหาในการแข่งขันด้านการส่งออกมากขึ้น แม้ไทยจะสามารถซื้อสินค้าจากจีนในราคาถูกแต่สินค้าของไทยที่ส่งไปขายจีนจะแพงขึ้น และอาจกระทบต่อยอดส่งออกของไทยจากการแข่งขันมากขึ้นกับประเทศต่างๆ ที่ส่งสินค้าเข้าไปขายที่จีน และเชื่อว่าจะสร้างผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยให้แย่ลงไปอีกอย่างน้อย 1 ปี
นายสมหมาย ภาษี รมว.กระทรวงการคลัง ก็ยอมรับว่า กรณีธนาคารกลางจีนประกาศลดค่าเงินหยวนจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยบ้าง เนื่องจากจีนคงจะสั่งสินค้าจากไทยน้อยลง
อย่างไรก็ตาม นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับมองว่า ผลกระทบของค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง แม้จะมีผลกระทบต่อตลาดในระยะสั้น แต่คงต้องประเมินผลในระยะยาวด้วยว่า ค่าเงินหยวนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นน่าจะเป็นผลดีต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินหยวนน่าจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจีนได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการค้าภายในภูมิภาคด้วย
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การค้าระหว่างไทยและจีน มีสัดส่วนสูงเป็นอันดับ 1 ที่ร้อยละ 14.8 ของมูลค่าการค้ารวม และสัดส่วนการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระค่าสินค้า และบริการ ประมาณเกือบร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า การปรับลดค่าเงินหยวนของจีน เป็นผลมาจากความเสี่ยงในการชะลอตัวต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านของจีน กดดันให้ทางการจีนจำเป็นต้องใช้ “ค่าเงินหยวน” มาเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการดูแลภาคการส่งออกและลดแรงกดดันต่อภาคธุรกิจจีน เพิ่มเติมไปจากที่ได้ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ย สัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) และการเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินแบบเฉพาะเจาะจง ตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา
ส่วนผลกระทบต่อไทยนั้น ประเมินว่า เงินหยวนที่ถูกปรับให้อ่อนค่าลง น่าจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะมีผลกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยว และการส่งออกระหว่างไทย-จีน เนื่องจากเงินหยวนและเงินบาทต่างก็อ่อนค่าไปพร้อมกัน
สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-จีนนั้น ศูนย์วิจัยกสิกร มองว่า การหดตัวของการส่งออกสินค้าไทยไปจีน น่าจะมีสาเหตุสำคัญมาจากเรื่องราคาสินค้าส่งออกในหลายๆ หมวดที่ไทยส่งออกไปจีนได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมถึงสต็อกสินค้าของจีนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้ประกอบการจีนยังคงชะลอการนำเข้าจากไทยมากกว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน/เงินบาท
การปรับลดค่าเงินหยวนของจีน สะท้อนว่า ขนาดสินค้าจากจีนมีต้นทุนต่ำราคาถูกยังไม่รอด ดังนั้น ปีนี้ก็อย่าหวังว่าการส่งออกจะช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศไทยให้โงหัวขึ้นได้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน
หากเปรียบเทียบการส่งออกของไทยกับประเทศอื่นๆ สถิติส่งออกนับแต่ต้นปีถึงเดือนพฤษภาคม 2558 จะพบว่าหลายประเทศทั่วโลกมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกติดลบมากกว่าไทย เช่น ออสเตรเลีย ติดลบ 21% ฝรั่งเศส ลบ 16.8 สิงคโปร์ 13.3% มาเลเซีย 13.1% ญี่ปุ่น 7.8% เกาหลีใต้ 5.7% สหรัฐฯ 5.2% ส่วนไทยตัวเลข 6 เดือนของปีนี้ (ม.ค. - มิ.ย.) ติดลบ 4.84% กระทรวงพาณิชย์ บอกว่านี่หดตัวน้อยกว่าใครอื่น
เมื่อพึ่งพาการส่งออกช่วยฟื้นเศรษฐกิจไม่ไหว รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หันไปเน้นด้านการท่องเที่ยว ตามที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาแถลงสถานการณ์การท่องเที่ยวยังสดใส ถือว่ามาถูกทางแล้ว
นับจากเดือนมกราคม ถึง 31 กรกฎาคม 2558 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 17.5 ล้านคน นำเงินตราเข้าประเทศ 818,439 ล้านบาท และมั่นใจว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 29-30 ล้านคน มากกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตั้งไว้ที่ 28.8 ล้านคน จะสร้างรายได้เข้าประเทศราว 1.6-1.8 ล้านล้านบาท สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนตัวเลขการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ 139 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่าด้านการท่องเที่ยว 400,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เป็นตามเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 800,000 ล้านบาท
เห็นได้ชัดเจนว่าการท่องเที่ยวนี่แหละที่จะพยุงเศรษฐกิจ นำเงินตราเข้าประเทศ แต่ก็มีคำถามตามมาว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่แตกต่างไปจากที่เคยทำมาแบบเดิมๆ อย่างไรบ้าง ในด้านการผลิตบุคลากรขึ้นมารองรับ ทำอะไรไปแล้วบ้าง และมีมาตรการจูงใจไทยเที่ยวไทยอะไรที่มากไปกว่าการได้ใช้สิทธินำค่าใช้จ่ายที่พักโรงแรม ทัวร์นำเที่ยว มาหักลดหย่อนภาษี
ยังไม่นับว่า บางโครงการที่หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจกำลังผลักดันให้เกิดขึ้น อย่างเช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดท่องเที่ยวชายทะเลภาคใต้ที่กระบี่ นครศรีธรรมราช ฯลฯ หรือโครงการปากบารา ท่าเรือน้ำลึกสตูล ล้วนแต่นำมาซึ่งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง นี่เป็นการช่วยเสริมสร้างภาคธุรกิจการท่องเที่ยวหรือทำลายการท่องเที่ยว
อย่าลืมว่า จังหวัดชายทะเลฝั่งตะวันออกทั้งระยอง ชลบุรี ถูกทำลายศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติไปแล้ว เหลืออยู่แต่เมืองพัทยาที่ขายเซ็กส์ ขายโชว์ลามก ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจสำหรับประเทศไทยเท่าใดนัก
คงไม่เกินเลยไปหากจะพูดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเพียงภาคธุรกิจหนึ่งเดียวที่เติบโตและทำเงินให้แก่ประเทศชาติในเวลานี้นั้น รัฐบาลยังไม่ได้ทุ่มเทพัฒนาให้รอบด้าน พัฒนาอย่างยั่งยืน และยังไม่มีอะไรใหม่มาขาย ที่เห็นอยู่มีแต่กินบุญเก่าหรือขายของเก่ากินทั้งนั้น
สำหรับนโยบายและมาตรการที่พอเรียกได้ว่าชัดเจนมากขึ้นคงมีแต่การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งจะอัดฉีดงบประมาณประจำปี 2559 ลงสู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างเร่งด่วน
เมื่อวันก่อน นายสมศักดิ์ โชติรัตศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เชิญหน่วยงานรัฐทุกแห่งมาประชุมเพื่อชี้แจงการจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2559 เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพเพื่อให้การลงทุนภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุนเบื้องต้น ได้กำหนดกรอบเวลาเอาไว้ว่า เมื่อร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ จากนั้นอีก 40 วัน คือ ระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม - 1 ตุลาคม 2558 ให้หน่วยงานรัฐดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุ จากนั้นอีก 15 วัน คือ วันที่ 2 - 17 ตุลาคม หน่วยงานต่างๆ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนเซ็นสัญญา และระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม - 17 พฤศจิกายน ให้หน่วยงานรัฐเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และนับจากวันที่ 17 พฤศจิกายน เป็นต้นไปจะเริ่มเบิกจ่ายเงินงบประมาณสำหรับโครงการที่มีวงเงินลงทุนไม่เกิน 50 ล้านบาท
ส่วนโครงการที่มีวงเงินลงทุนเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องส่งให้เสนอให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเห็นชอบ เช่นเดียวกับโครงการขนาดใหญ่ที่จะเบิกจ่ายหลังจากนี้และดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติ
มาตรการดังกล่าวเท่ากับว่าหากมีการซอยย่อยโครงการให้เล็กลงงบไม่เกิน 50 ล้านบาท ก็ดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องมีการตรวจสอบอะไรกันมาก ซึ่งมีข้อดีในแง่ที่ว่าเงินจากการลงทุนภาครัฐจะไหลออกจากท่อไปสู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างรวดเร็ว แต่ข้อเสียคือ หละหลวมหย่อนยานในการตรวจสอบ เปิดช่องให้มีการรั่วไหลของงบประมาณได้ง่ายขึ้น
สำหรับกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 มีวงเงิน 2.72 ล้านบาท ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท เป็นงบรายจ่ายประจำ 2.1 ล้านล้านบาท งบลงทุน 5.4 แสนล้านบาท และงบกลาง 4.02 แสนล้านบาท
แต่ถึงแม้รัฐบาลจะหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างสุดฤทธิ์ก็ตาม ณ เวลานี้ ยังไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งเป็นอีกดัชนีชี้วัดที่ไม่อาจมองข้ามไปได้
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มผู้ลงทุน 4 กลุ่ม ได้แก่ นักลงทุนรายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สถาบันในประเทศ และสถาบันต่างประเทศ เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนสิงหาคมที่มีต่อปัจจัยการลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า พบว่า อยู่ในระดับ 57.27 ปรับตัวลดลงถึง 41.7% จากดัชนีเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 98.28 และนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ซึ่งนักลงทุนทุกกลุ่มมีความคิดเห็นตรงกันว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ในเกณฑ์ซบเซา
ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงมาจากปัจจัยเชิงลบหลักจากเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ธปท. ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเหลือ 3% ในไตรมาส 2/2558 การส่งออกหดตัว 4.9% การลงทุนเอกชนอยู่ในระดับต่ำ การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐต่ำกว่าเป้า หนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น และในช่วงที่เหลือของปีนี้เชื่อว่า ดัชนีหุ้นไทยจะแกว่งตัวในกรอบแคบเพราะไม่มีปัจจัยบวกใหม่ ยกเว้นภาครัฐจะออกมาตรการที่คาดไม่ถึงมากระตุ้นเศรษฐกิจ
เวลานี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาเรียกร้องว่าถึงเวลาที่รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้แล้วเพราะมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหามาก กำลังซื้อประชาชนลดลง เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันซึ่งทางเทคนิคถือว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว รวมทั้งปัญหาส่งออก การกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระตุ้นการบริโภคจึงมีความสำคัญ หากไปดูประเทศที่พัฒนาแล้วบทบาทการใช้เงินของรัฐบาลส่วนใหญ่คือการให้สวัสดิการกับประชาชน อย่ากลัวคำว่าประชานิยม
กำหนดเวลาตีปี๊บผลงานรัฐบาลครบรอบหนึ่งปี 30 สิงหาคมนี้ ใกล้เข้ามาแล้ว ลุ้นกันต่อไปว่าเศรษฐกิจจะโงหัวขึ้นมาทันหรือไม่ .... ให้กำลังใจ ช่วยๆ กันหน่อยนะ