xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus:ตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลกปั่นป่วนหนัก ทางการจีนประกาศ “ลดค่าเงินหยวน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนึ่งในข่าวเด่นประเด็นร้อนในต่างแดนที่ส่งแรงกระเพื่อมและสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทุกมุมโลกได้มากที่สุด ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นข่าวที่ทางการจีนประกาศ “ลดค่าเงินหยวน” ของตนเองต่อเนื่อง ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

การขยับตัวของรัฐบาลปักกิ่ง ส่งผลทันตาเห็นด้วยการฉุดรั้งให้สกุลเงินประจำชาติของแดนมังกร อ่อนค่าลงไปถึง 3.5 2เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของจีนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกเป็นรองเพียงอเมริกา ได้ส่งผลอย่างสำคัญทำให้ตลาดการเงิน-ตลาดการลงทุนทั่วโลกปั่นป่วนผันผวนอย่างหนัก

ไม่เพียงเท่านั้น การขยับตัวของรัฐบาลแดนมังกรในสิ่งที่เรียกว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามค่าเงิน” ในคราวนี้ยังโหมกระพือข่าวลือมากมายซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลก โดยเฉพาะกระแสข่าวเม้าท์ที่ว่า รัฐบาลคอมมิวนิสต์ปักกิ่งภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อาจจงใจปล่อยให้ค่าเงินหยวนของอ่อนลงต่อเนื่องไปอีก

เมื่อวันพุธ (12 ส.ค.) ธนาคารกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBoC) ระบุ ในคำแถลงที่มีการนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของตน (www.pbc.gov.cn) โดยระบุถึงมาตรการกำหนดค่ากลางหรืออัตราอ้างอิงใหม่ ของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศระหว่างสกุลเงินหยวนกับดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 6.3306 หยวนต่อ 1ดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดค่าเงินของตัวเองต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 หลังประกาศอัตราอ้างอิงเมื่อวันอังคาร (11) เอาไว้ที่ระดับ 6.2298 หยวนต่อ 1ดอลลาร์ หรือเท่ากับทางการจีนได้ปรับลดค่าเงินหยวนลงมาอีก 1.62 เปอร์เซ็นต์

การปรับลดค่าเงินหยวนลงมาอีก 1.62 เปอร์เซ็นต์ในวันพุธ (12) ส่งผลให้ค่าเงินของแดนมังกรอ่อนยวบลงมาแล้วถึง 3.52 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 48 ชั่วโมง หลังทางการจีนเริ่มทำการปรับลดค่าเงินหยวนครั้งแรกไปแล้ว 1.90 เปอร์เซ็นต์เมื่อวันอังคาร (11) ที่ผ่านมา


และการอ่อนค่าลงต่อเนื่องดังกล่าวส่งผลให้เงินหยวนของจีนต้องประสบภาวะการอ่อนค่าที่รุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่ที่ทางการจีนหันมากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบใหม่เมื่อปี 1994 ที่ในครั้งนั้นมีการปรับลดค่าของเงินหยวนลงมากถึง 33 เปอร์เซ็นต์ในคราวเดียว

ความเคลื่อนไหวล่าสุดส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินหยวนเพื่อการส่งมอบทันทีในตลาดเซี่ยงไฮ้ ปรับร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 6.44 หยวนต่อ 1ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งว่ากันว่า นี่คือระดับที่ต่ำเตี้ยที่สุดของค่าเงินแดนมังกร นับตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2011 เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน ค่าของเงินหยวนในตลาดเงินตราระหว่างประเทศ ได้ร่วงสู่ระดับ 6.57 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ด้วยเช่นกัน

การขยับตัวแรงของทางการปักกิ่งคราวนี้ถูกมองว่า อาจเป็นความพยายามในการกระตุ้นภาคการส่งออกด้วยการทำให้สินค้า “เมด อิน ไชน่า” มีความสามารถในการแข่งขันได้มากยิ่งขึ้นในเวทีโลก ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ภาคการส่งออกทำหน้าที่เป็น “หัวรถจักร” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแดนมังกรที่หลายฝ่ายลงความเห็นว่า “เริ่มชะลอตัว”

หนึ่งในหลักฐานที่บ่งชี้ จีนอาจตัดสินใจปรับลดค่าเงินหยวนเพื่อผลประโยชน์ด้านการส่งออกและกระตุ้นเศรษฐกิจของตน คือ การที่มีการเผยแพร่ตัวเลขทางเศรษฐกิจเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ซึ่งแสดงว่า ยอดการส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ปรับลดลงมาถึง 8.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนก็ขยับเข้าสู่ภาวะฝืดของราคาเป็นปีที่ 4 แล้ว นอกจากนั้น ทางกระทรวงการค้าของจีนเองก็ออกมาแถลงยอมรับว่า การปรับลดลงของค่าเงินหยวน จะช่วยกระตุ้นยอดการส่งออกสินค้าได้อย่างสำคัญ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีการยืนกรานหนักแน่นจากแบงก์ชาติของจีนว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไป เพียงเพื่อต้องการให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนมีการเคลื่อนไหวที่เป็นไปตาม “กลไกตลาด” มากยิ่งขึ้น แต่นั่นก็ทำให้นักวิเคราะห์แนว “Skepticism”จากหลายสำนักเริ่มตั้งคำถามว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “ช่วงขาลงอันยาวนาน” ของค่าเงินหยวน

สิ่งที่ถูกเรียกขานกันว่า “ช่วงขาลงอันยาวนาน” ของค่าเงินหยวนนี้ หมายถึงภาวะที่อาจทำให้เราได้เห็นการดิ่งลงของค่าเงินแดนมังกรถึง 5 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อยในรอบ 12 เดือน หรือ 1 ปีนับจากนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวที่แพร่สะพัดในหมู่นักการทูตต่างประเทศในกรุงปักกิ่งที่ว่า บรรดาผู้มีอำนาจในรัฐบาลจีนหลายราย ปรารถนาแรงกล้าจะเห็นค่าของเงินหยวนอ่อนลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์หากเป็นไปได้

การขยับตัวของรัฐบาลแดนมังกรในการปรับลดค่าเงินหยวนลงไปแล้วถึง3.52 เปอร์เซ็นต์ในคราวนี้ กำลังสร้างความปั่นป่วน ต่อแวดวงเศรษฐกิจแทบทุกแขนงทั่วโลก และทำให้เกิดความกังวลในหมู่นักลงทุนว่า การอ่อนค่าลงอย่างสำคัญของเงินหยวน จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ และอาจบีบให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องยอมชะลอแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป

จนถึงขณะนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การปรับลดค่าเงินหยวนครั้งใหญ่ของจีนในคราวนี้ จะส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมต่อเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจโลกมากน้อยเพียงใด และจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่เรา ๆ ท่าน ๆ ต้องติดตามความเคลื่อนไหวนี้ด้วยความระมัดระวัง เช่นเดียวกับท่าทีล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ระบุว่า “ยังเร็วเกินไป” ที่จะวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจล่าสุดของทางการจีนที่ลดค่าเงินหยวนจนสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลกในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา





กำลังโหลดความคิดเห็น